นอกจากเป็นวันสำคัญในพุทธศาสนา “วันเข้าพรรษา” ยังมีหนึ่งกิจกรรมที่เริ่มต้นปฏิบัติมาหลายสิบปี กระทั่งปัจจุบันนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งแคมเปญที่เชิญชวนให้ประชาชนคนไทยได้ปฏิบัติกัน นั่นคือ “การงดเหล้าเข้าพรรษา”
การละเว้นจากการดื่มสุราและของมึนเมา เป็นหนึ่งในศีล 5 ที่พุทธศาสนิกชนยึดเป็นหลักปฏิบัติเรื่อยมา Thai PBS ชวนหาคำตอบว่า แล้วการไม่ดื่มสุรา ไม่ว่าจะงดช่วงเข้าพรรษา หรืองดแบบถาวร สามารถช่วยคืนประโยชน์อะไรให้กับชีวิตได้บ้าง
ทำไมต้อง “งดเหล้าเข้าพรรษา” ที่มาคืออะไร ?
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2546 มีการจัดโครการรณรงค์สาธารณะ เพื่อแก้ปัญหาการบริโภคแอลกอฮอล์ของประชาชน นำโดย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันดำเนินการโครงการที่ชื่อว่า “งดเหล้าเข้าพรรษา” ขึ้นมา
โดยมีเจตนารมณ์ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชน ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญทางพระพุทธศาสนา โครงการดังกล่าวจัดต่อเนื่องมาทุกปี จากผู้คนที่เข้าร่วมโครงการไม่มากมาย กระทั่งกลายเป็นแคมเปญใหญ่ระดับชาติ ที่เข้าถึงประชาชนในวงกว้าง
โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ยังสร้างคุณูปการต่อเนื่อง โดยเมื่อเข้าสู่ปี 2551 ทีมงานผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของโครงการ ได้ยื่นหนังสือเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ให้พิจารณาให้ “วันเข้าพรรษา” เป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ จึงทำให้ วันเข้าพรรษา ของทุกปี เป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
จากจุดเริ่มต้นเมื่อ 22 ปีก่อน ที่ปรารถนาให้คนไทย ลด ละ เลิกการดื่มสุรา จนกลายมาเป็นวลีฮิตติดปาก “งดเหล้าเข้าพรรษา” กระทั่งสร้างการรับรู้ จนส่งผลให้เกิด “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ที่ตรงกับวันเข้าพรรษา และมีกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาเป็นประจำทุกปีในที่สุด
งดเหล้าเข้าพรรษา “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ทำอะไร ?
วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ตรงกับวันเข้าพรรษาของทุกปี มีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีและลดความเสี่ยงจากอันตรายที่เกิดจากการดื่มสุรา
วันงดดื่มสุราแห่งชาติมีกิจกรรมหลัก ๆ ที่เกิดขึ้น อาทิ การรณรงค์ให้ประชาชนลด ละ เลิกดื่มสุรา การจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ การให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของสุรา และการเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันปฏิญาณตนงดเหล้าเข้าพรรษา
เป้าหมายของการจัดวันงดดื่มสุราแห่งชาติ รวมทั้งการงดเหล้าเข้าพรรษา เพื่อลดจำนวนผู้ดื่มสุราและลดความเสี่ยงจากอันตรายที่เกิดจากการดื่มสุรา รวมทั้งยังส่งเสริมสุขภาพที่ดีของประชาชนและสร้างสังคมให้น่าอยู่ มากไปกว่านั้น ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดื่มสุรา และลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับอีกด้วย
งดเหล้าเข้าพรรษา การดื่มสุรา ทำร้ายร่างกายอย่างไร
การดื่มสุรา ไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย แถมยังมีผลกระทบต่อการทำงานในอวัยวะต่าง ๆ หลายประการ อาทิ
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ใจสั่น อาจทำให้หัวใจหยุดเต้น หากดื่มต่อเนื่องนานหลายปี เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม เสี่ยงเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ
- เซลล์สมองถูกทำลาย การทำงานของระบบประสาททั้งระบบลดลง เสี่ยงเส้นเลือดในสมองแตก
- เกิดภาวะไขมันพอกตับ ทำให้ตับโต และเกิดภาวะตับอักเสบ หากรุนแรง ส่งผลให้ตับแข็งได้
- กระเพาะอาหารระคายเคือง หากอักเสบรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด
- ไตทำงานหนัก ส่งผลให้ไตวาย
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และเสี่ยงเป็นมะเร็ง
การงดเหล้าเข้าพรรษา ยังมีสถิติของผู้ที่ดื่มสุราที่พึงระวัง โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา เคยมีผลวิจัยว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็ง
- การดื่มเบียร์วันละ 5 กระป๋อง เสี่ยงเกิดโรคมะเร็งช่องปาก และมะเร็งหลอดอาหาร 5 เท่า มะเร็งกล่องเสียง 2.6 เท่า มะเร็งตับ 2 เท่า มะเร็งเต้านม 1.6 เท่า และมะเร็งล้าไส้ใหญ่ 1.5 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ไม่ดื่ม
- กลุ่มผู้ดื่มปานกลาง ดื่มเบียร์วันละ 2 กระป๋อง เสี่ยงเกิดโรคมะเร็งช่องปาก 1.8 เท่า มะเร็งเต้านม 1.23 เท่า และมะเร็งลำไส้ใหญ่ 1.2 เท่า ของผู้ที่ไม่ดื่ม
- ผู้หญิงที่ดื่มสุราเป็นประจำ มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งเต้านมสูงกว่าผู้หญิงที่ไม่ดื่มเลยถึงร้อยละ 5
- ผู้หญิงมีผลกระทบจากการดื่มสุราที่มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากสรีระทางร่างกายมีขนาดเล็กกว่า ทำให้ขนาดของตับ ซึ่งมีหน้าที่กำจัดแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย ทำงานได้น้อยกว่าตับของผู้ชาย หากดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณเท่ากัน ผู้หญิงมีแนวโน้มในการเป็นโรคตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ โรคหัวใจ โรคทางสมอง ได้มากกว่าผู้ชาย
งดเหล้าเข้าพรรษา ได้อะไรกลับคืนมาบ้าง ?
ตลอด 3 เดือนของการงดเหล้าเข้าพรรษา หาก “ละเว้น” การดื่มสุราหรือของมึนเมาได้ สามารถสังเกต 15 สัญญาณที่ “ดีขึ้น” ได้ดังนี้
- นอนหลับดีขึ้น
- การตัดสินใจดีขึ้น
- ความคิดสร้างสรรค์ดีขึ้น
- การตัดสินใจแก้ปัญหาดีขึ้น
- ร่างกายไม่ขาดน้ำ
- ปวดศีรษะน้อยลง
- ไม่รู้สึกเหนื่อยล้า
- อาการกรดไหลย้อนน้อยลง
- เยื่อบุอาหารได้รับการฟื้นฟู
- การผลิตกรดในกระเพาะอาหารเริ่มสมดุลมากขึ้น
- ความดันโลหิตกลับมาเป็นปกติ
- วิสัยทัศน์ดีขึ้น
- การทำงานของไตดีขึ้น
- ผิวดูดี มีความชุ่มชื้นขึ้น
- การทำงานของตับจะฟื้นตัว
อาจกล่าวได้ว่า ตลอดการงดเหล้าเข้าพรรษา ย่อมส่งผลทั้งทางร่างกาย จิตใจ และรวมทั้งสภาพเศรษฐกิจ ที่ทำให้มีเงินเหลือมากขึ้น ประโยชน์เหล่านี้ เกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วเวลา 3 เดือน ตลอดการเข้าพรรษา ยิ่งหากเป็นการเลิกดื่มสุราได้แบบถาวร ประโยชน์ที่ได้รับย่อมมีมากกว่าอย่างแน่นอน
งดเหล้าเข้าพรรษา แนะวิธีเลิกดื่มสุรา
การงดเหล้าเข้าพรรษา การเว้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องอาศัย 3 คำสำคัญ นั่นคือ ลด ละ เลิก สามารถเลือกเอา 3 คำนี้ไปเริ่มปฏิบัติ เช่น หากยังเลิกไม่ได้ ให้ใช้วิธีลด หรือหากอยากลดให้ให้ผล ต้องใช้วิธีละหรือเลี่ยง ไม่พบ ไม่เห็น ไม่อยู่ใกล้สุราของมึนเมา สามารถช่วยให้หยุดการดื่มลงได้
ส่วนวิธีการแนะนำโดยหลักการ มีหลักที่ใชปฏิบัติ ดังนี้
1.การหยุดดื่มทันที (เลิกแบบหักดิบ) เหมาะสำหรับผู้มีปัญหาการดื่มสุราที่ไม่ติดขั้นรุนแรง และไม่เคยมีอาการถอนพิษสุราที่รุนแรงหลังหยุดดื่มสุราในอดีต เช่น มีอาการชัก กระสับกระส่ายรุนแรง สับสน หูแว่ว
โดยผู้ที่เลิกดื่มในช่วงเริ่มแรก ควรปฏิบัติตนดังนี้
- รับประทานอาหารให้เพียงพอ
- จิบน้ำหวานบ่อย ๆ เพื่อเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกาย
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ พยายามทำกิจกรรมที่สร้างความสุขใจ ไม่ปล่อยให้ตนเองว่าง
- หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เสี่ยงหรือตัวกระตุ้น เช่น ร้านขายสุรา เพื่อนที่ดื่ม
2.การลดปริมาณ การลดปริมาณสุราลดลง ถือเป็นการลดปริมาณแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย ช่วยทำให้สุขภาพดีขึ้น และความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ลดลง แต่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ และค่อย ๆ ลดลงจนกระทั่งสามารถหยุดดื่มได้ถาวร
วิธีการลดปริมาณการดื่ม มีแนวทางคือ
- กำหนด และจำกัดปริมาณที่จะดื่ม
- เลือกเครื่องดื่มที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ เช่น ดื่มเบียร์ หรือไวน์
- ลดความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ ดื่มน้ำเปล่าสลับบ้างระหว่างที่ดื่มสุรา
- หลีกเลี่ยงกลุ่มเพื่อนที่เคยดื่มด้วยกัน รวมทั้งพบปะหรือเข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อนที่ไม่ดื่มแทน
- หากไม่ประสบความสำเร็จในการลดปริมาณการดื่ม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับความช่วยเหลือ
3.การพบแพทย์ เป็นวิธีการเลิกแบบบำบัด โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยดูแล และให้คำปรึกษา ทั้งนี้ แพทย์จะมีขั้นตอนในการบำบัดการเลิกสุรา อาทิ ขึ้นตอนการเตรียมตัว ขั้นตอนการถอนพิษสุรา ขั้นตอนการฟื้นฟูสมรรถภาพ และขั้นตอนการติดตามผล เพื่อให้ผู้มาบำบัด สามารถเลิกสุราได้อย่างถาวร
อีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้การเลิกสุรา หรือการงดเหล้าเข้าพรรษา เกิดขึ้นอย่างแท้จริง นั่นคือ การให้กำลังใจจากครอบครัว และคนรอบข้าง มีหลัก 3 ประการที่คนรอบข้าง สามารถช่วยเหลือได้ คือ
- เพิ่มการแสดงความรู้สึก เช่น กังวล เป็นห่วง เสียใจ ไม่สบายใจ ดีใจ เป็นกำลังใจ ทำให้ผู้ดื่มทราบในเจตนาความหวังดี
- เพิ่มการฟัง เพราะคนที่มีปัญหา ส่วนหนึ่งอยากให้มีคนฟังและเข้าใจ ทำให้ผู้ดื่มสบายใจและเปิดใจ
- เพิ่มการสัมผัส การกอด หากิจกรรมภายในครอบครัว ใช้เวลาอยู่ด้วยกันให้มากขึ้น
กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ และการหยุดดื่ม ไม่ใช่เรื่องยากที่เกินความสามารถของมนุษย์ ขอให้วันเข้าพรรษานี้ เป็นช่วงวลาที่ดีแก่ผู้ที่งดเหล้าเข้าพรรษา และผู้ที่ตั้งใจจะงดดื่มสุราตลอดไป
อ้างอิง
- วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” วันดีๆ แห่งการพิทักษ์สังคม / สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
- งดเหล้าเข้าพรรษา ได้อะไร / สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ