ระหว่างที่ New Horizons ล่องลอยอยู่ในห้วงอวกาศที่ไกลจากโลกกว่า 8.9 พันล้านกิโลเมตร ทีมวิจัยได้สั่งให้กล้องของตัวยานหันไปมองดาวฤกษ์ใกล้โลกสองดวง ได้แก่ Proxima Centauri และ Wolf 359 แล้วจับภาพตำแหน่งของดาวเหล่านี้จากมุมมองของยาน เปรียบเทียบกับตำแหน่งที่เห็นจากโลก ผลที่เกิดขึ้นคือดาวทั้งสองดูเหมือน “ขยับ” ไปเล็กน้อยบนฉากหลังของกลุ่มดาว ซึ่งเป็นผลจากปรากฏการณ์พารัลแล็กซ์ (Parallax Effect)
พารัลแล็กซ์เป็นหลักการพื้นฐานทางดาราศาสตร์ที่มนุษย์รู้จักมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แต่เราทุกคนก็เคยใช้มันในชีวิตประจำวันโดยไม่รู้ตัว เช่น เวลาที่เราหลับตาข้างหนึ่งแล้วสังเกตว่าของใกล้ตัวดู “เปลี่ยนตำแหน่ง” ไปเล็กน้อยเมื่อเปลี่ยนมุมมอง การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งที่ดูเหมือนเล็กน้อย คือแกนหลักของการวัดระยะในอวกาศ ถ้าเรารู้ว่าผู้สังเกตสองคนยืนห่างกันเท่าไร และรู้ว่าดาวเปลี่ยนมุมไปแค่ไหน เราก็สามารถย้อนคำนวณได้ว่าดาวนั้นอยู่ไกลแค่ไหนจากทั้งสองจุด
แต่สิ่งที่พิเศษในครั้งนี้คือ “ฐานของการสังเกต” หรือ Baseline ที่ใช้วัด พารัลแล็กซ์นั้นไม่ได้อยู่ห่างกันแค่ไม่กี่พันกิโลเมตรเหมือนที่เคยใช้ระหว่างหอดูดาวบนโลก หรือแม้แต่ระยะทางของโลกที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งเรามักใช้วัดพารัลแล็กซ์แบบคลาสสิก (ที่เรียกว่า Annual Parallax) ด้วยการวัดสองครั้งในหนึ่งปี เพราะในกรณีของ New Horizons ระยะห่างระหว่างผู้สังเกตทั้งสองจุด โลกและยาน มีขนาดถึงหลายพันล้านกิโลเมตร หรือมากกว่าระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์หลายสิบเท่า นั่นทำให้ดาวฤกษ์ที่เคยดูเหมือน “ไม่ขยับ” เลยเมื่อเรามองจากโลกกลับดูเคลื่อนได้ชัดเจนขึ้นในภาพจากยาน
จากข้อมูลภาพถ่ายของ Proxima Centauri และ Wolf 359 ทีมวิจัยนำไปเทียบกับแบบจำลองสามมิติของละแวกใกล้ดวงอาทิตย์ และสามารถคำนวณหาตำแหน่งของยาน New Horizons ได้แม่นยำถึงประมาณ 6.6 ล้านกิโลเมตร แสดงให้เห็นว่าการใช้พารัลแล็กซ์จากอวกาศลึกสามารถเป็นเครื่องมือในการระบุตำแหน่งในระบบสุริยะได้จริง
ปัจจุบัน ยาน New Horizons อยู่ในภารกิจขยายผล (Extended Mission) โดยยังคงทำงานอย่างเงียบ ๆ สำรวจสภาพแวดล้อมของ Heliosphere หรือขอบเขตที่อิทธิพลของดวงอาทิตย์ และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า New Horizons จะเดินทางเข้าสู่ “Termination Shock” ซึ่งเป็นแนวแบ่งระหว่างอวกาศที่ได้รับผลจากดวงอาทิตย์กับอวกาศระหว่างดาว (Interstellar Space)
New Horizons กลายเป็นยานสำรวจลำที่ห้าในประวัติศาสตร์ที่เดินทางออกจากระบบสุริยะชั้นใน และการที่มันสามารถใช้ดาวฤกษ์ใกล้โลกนำทางตัวเองได้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการนำทางแบบใหม่ที่ไม่ต้องพึ่งพาคำสั่งจากโลกทุกครั้ง อาจเป็นกุญแจสำคัญของยานอวกาศในยุคที่มนุษย์ต้องปล่อยให้ยานตัดสินใจเองเมื่อสัญญาณจากโลกมาถึงไม่ทันเวลา
เรียบเรียงโดย Chottiwatt Jittprasong
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech