ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักวิทย์พบ “ดาวยูเรนัส” แผ่ความร้อนออกมาเองได้ จุดประกายการกลับไปสำรวจ


แชร์

นักวิทย์พบ “ดาวยูเรนัส” แผ่ความร้อนออกมาเองได้ จุดประกายการกลับไปสำรวจ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2931

นักวิทย์พบ “ดาวยูเรนัส” แผ่ความร้อนออกมาเองได้ จุดประกายการกลับไปสำรวจ

หลังจากการสำรวจดาวยูเรนัสในปี 1986 ของยานวอยเอเจอร์ 2 ก็ไม่เคยมียานอวกาศลำไหนเดินทางไปยังดาวยูเรนัสอีกเลย ซึ่งทั้งจากข้อมูลเก่าและการสำรวจใหม่ ๆ ได้ทำให้พบว่าการคำนวณพลังงานความร้อนที่เราเคยคาดไว้นั้นผิดไป เพราะภายในดาวยูเรนัสเองสามารถสร้างความร้อนได้มากกว่าที่ได้รับจากดวงอาทิตย์

การศึกษาครั้งใหม่นี้นำโดยศาสตราจารย์ซินเยว่ หยาง (Xinyue Yang) จากมหาวิทยาลัยฮูสตัน โดยอ้างอิงจากข้อมูลการสังเกตการณ์ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาร่วมกับแบบจำลองคอมพิวเตอร์ พบว่ายูเรนัสแผ่ความร้อนจากภายในออกมามากกว่าความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่มันได้รับอยู่ราว 12.5% แม้ว่าปริมาณความร้อนที่มันแพร่ออกมาจะน้อยกว่าดาวเคราะห์ยักษ์ดวงอื่น เช่น ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ และดาวเนปจูน ที่สามารถแผ่ความร้อนออกมามากกว่าที่รับจากดวงอาทิตย์ถึง 100% แต่ค่าดังกล่าวถือว่าสำคัญมากในเชิงวิวัฒนาการของดาวเคราะห์

ภาพถ่ายของดาวยูเรนัสจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ผ่าน NIRCAM เพื่อทำการสังเกตการแผ่ความร้อนและวงแหวนของดาวยูเรนัส ภาพจาก NASA

ทีมวิจัยได้กล่าวว่าความร้อนภายในของดาวยูเรนัสอาจเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยอธิบายต้นกำเนิดและวิวัฒนาการที่ทำให้แกนของดาวเอียงมากถึง 98 องศา โดยหนึ่งในนักวิจัยได้กล่าวว่า “นี่แสดงให้เห็นว่าดาวยูเรนัสยังคงค่อย ๆ สูญเสียพลังงานความร้อนตกค้างจากยุคต้นกำเนิด ซึ่งถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญของจิ๊กซอว์ในการเข้าใจประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการของมัน รวมถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา”

หากย้อนกลับไปในปี 1986 ยานวอยเอเจอร์ 2 ได้บินเฉียดดาวยูเรนัสและเก็บข้อมูลสำคัญจำนวนมากซึ่งกลายเป็นข้อมูลชิ้นสำคัญของการทำความเข้าใจดาวเคราะห์ดวงนี้ แต่ข้อมูลที่ได้จากยานวอยเอเจอร์ในเวลานั้นกลับตีความได้ว่าดาวยูเรนัสไม่ได้แผ่พลังงานความร้อนจากภายในของดาวเหมือนกับดาวเคราะห์ยักษ์ดวงอื่น ๆ

นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์กันว่าสาเหตุตีความข้อมูลออกมาผิดพลาดเนื่องมาจากช่วงนั้นมีการปะทุและปลดปล่อยมวลสารโคโรนาของดวงอาทิตย์จากช่วงที่ดวงอาทิตย์มีกิจกรรมทางพื้นผิวสูง (Solar Maximum) เมื่อนำข้อมูลเก่ามาทบทวนและตีความใหม่พร้อมกับแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ ทีมนักวิจัยได้สร้างความเข้าใจใหม่ว่า ความร้อนภายในของยูเรนัสอาจบ่งบอกถึงโครงสร้างภายในที่แตกต่างจากที่เคยเข้าใจ รวมถึงวิวัฒนาการของดาวยูเรนัสนั้น อาจไม่เหมือนกับที่เราเคยคาดการณ์ไว้ว่าตัวดาวยูเรนัสก่อตัวขึ้นเมื่อราว 4.5 พันล้านปีก่อนพร้อมกับระบบสุริยะ และในตอนแรกอาจเกิดใกล้ดวงอาทิตย์ ก่อนจะเคลื่อนย้ายออกไปยังระยะห่างปัจจุบันหลังจาก 500 ล้านปีของการก่อกำเนิด

ภาพถ่ายของดาวยูเรนัสจากยานวอยเอเจอร์ 2 เมื่อปี 1986 เป็นครั้งแรกที่โลกได้เห็นดาวเคราะห์ดวงนี้ในระยะที่ใกล้ ภาพจาก NASA

องค์ความรู้ใหม่นี้เป็นหนึ่งในแรงสนับสนุนในการส่งยานอวกาศกลับไปสำรวจดาวยูเรนัสอีกครั้งหนึ่งเพราะมันไม่ใช่ดาวเคราะห์น้ำแข็งยักษ์สีน้ำเงินอมเขียวทั่วไป แต่ยังเต็มไปด้วยปริศนาอีกมากมายที่รอเราค้นพบอยู่ ซึ่งหากย้อนกลับไปในปี 2022 องค์กรวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Academy of Sciences) ได้เคยจัดลำดับความสำคัญของภารกิจแห่งทศวรรษใหม่ และระบุภารกิจ Uranus Orbiter and Probe (UOP) เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักในการศึกษาวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ แต่จากสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่มั่นคงทำให้โครงการกลับไปสำรวจดาวยูเรนัสนั้นเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมายและยังคงเป็นได้แค่โครงการที่อยู่ได้แค่บนกระดาษ

การกลับไปสำรวจดาวยูเรนัสในอนาคตเป็นภารกิจที่สำคัญ เพราะอาจพามนุษย์เข้าไปใกล้ความเข้าใจถึงกระบวนการกักเก็บและสูญเสียความร้อนของดาวเคราะห์น้ำแข็ง ซึ่งจะนำกลับมาทำความเข้าใจกระบวนการสูญเสียความร้อนของโลกและอาจจะช่วยแก้ไขปัญหาภาวะโลกเดือดที่กำลังดำเนินอยู่ในตอนนี้ได้อีกด้วย

เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : space

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดาวยูเรนัสสำรวจดาวยูเรนัสนักวิทยาศาสตร์ยานอวกาศยานวอยเอเจอร์ 2สำรวจอวกาศอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech

ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด