กำลังเป็นที่สนใจของผู้คน สำหรับการเคลื่อนตัวของพายุหมุนเขตร้อน “พายุวิภา” ที่เริ่มต้นมีศูนย์กลางอยู่บริเวณชายฝั่งเมืองเจียงเหมิน มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ก่อนจะเคลื่อนตัวทางตะวันตก เข้าสู่อ่าวตังเกี๋ย และขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามเมื่อช่วงวันที่ 21-22 ก.ค.68 ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะอ่อนกำลังลงเมื่อเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย
พายุวิภา ถือเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่มีความรุนแรง Thai PBS ชวนทำความรู้จักลักษณะของพายุหมุนเขตร้อน ตลอดจนที่มาชื่อของ “พายุวิภา” หลักการตั้งชื่อพายุหมุนเขตร้อนนั้นเป็นอย่างไร
พายุวิภา รู้จัก “พายุ” เป็นอย่างไร
“พายุ” เกิดจากการเคลื่อนที่ของอากาศอย่างรวดเร็วและรุนแรง ซึ่งมักเกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิและแรงดันอากาศระหว่างบริเวณต่างๆ ในชั้นบรรยากาศ ทั้งนี้พายุแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
- พายุฝนฟ้าคะนอง เป็นพายุที่เกิดจากเมฆฝนฟ้าคะนอง สามารถเกิดได้ในทุกบริเวณที่มีอากาศร้อน และมีความชื้นมากพอสมควร
- พายุหมุนเขตร้อน เป็นพายุหมุนขนาดใหญ่ที่ก่อตัวเหนือทะเลหรือมหาสมุทรในเขตร้อน มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 100 กิโลเมตรขึ้นไป
- พายุทอร์นาโด เป็นพายุหมุนที่มีความรุนแรงที่สุด ลมที่พัดรอบศูนย์กลาง อาจมีความเร็วถึง 800 กม./ชม.
“พายุวิภา” หนึ่งในลักษณะพายุหมุนเขตร้อน
พายุวิภา เป็นหนึ่งใน พายุหมุนเขตร้อน หรือ Tropical storm ก่อตัวเหนือทะเลหรือมหาสมุทรในเขตร้อน โดยมีชื่อเรียกต่างกันไปตามแหล่งกำเนิด
- หากพายุก่อตัวในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลแคริบเบียน และอ่าวเม็กซิโก จะเรียกว่า "เฮอร์ริเคน" (Hurricane)
- หากพายุเกิดในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ จะเรียกว่า "ไต้ฝุ่น" (Typhoon)
- หากพายุเกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดีย จะเรียกว่า "ไซโคลน" (Cyclone) ทว่าบางครั้ง
ทั้งนี้ พายุหมุนเขตร้อนยังมีเกณฑ์ในการพิจารณาความรุนแรง โดยในย่านมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ (ด้านตะวันตก) และทะเลจีนใต้ ได้มีการแบ่งลักษณะของพายุหมุนเขตร้อน ไว้ดังนี้
- พายุดีเปรสชันเขตร้อน ลักษณะเป็นพายุที่มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 34 นอต (63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
- พายุโซนร้อน ลักษณะเป็นพายุที่มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลาง 34 นอต (63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 64 นอต (118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
- พายุไต้ฝุ่น ลักษณะเป็นพายุที่มีความเร็วลมสูงสุด ใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 64 นอต (118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ขึ้นไป
พายุหมุนเขตร้อน เมื่ออยู่ในสภาวะที่ก่อตัวเต็มที่ ถือเป็นพายุที่มีความรุนแรงที่สุดชนิดหนึ่งในบรรดาพายุที่เกิดขึ้นในโลก การหมุนเวียนของลม พัดเวียนในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาเข้าสู่ศูนย์กลางของพายุในซีกโลกเหนือ ส่วนในซีกโลกใต้ พัดเวียนตามเข็มนาฬิกา หากยิ่งใกล้ศูนย์กลางมากเท่าไร ลมจะหมุนเกือบเป็นวงกลมและมีความเร็วสูงที่สุด
พายุวิภา และหลักการตั้งชื่อพายุหมุนเขตร้อน
ในอดีต สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรก ๆ ที่เป็นผู้ตั้งชื่อพายุทั่วโลก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความพร้อมทางเทคโนโลยีทางดาวเทียมตรวจสภาพอากาศ
อีกเทคนิคหนึ่งที่ใช้ตั้งชื่อพายุในยุคก่อน นั่นคือ การใช้สุภาพสตรีในการตั้งชื่อพายุ เพื่อให้ได้ชื่อที่ดูอ่อนโยน ไม่รุนแรงจนเกินไป ภายหลังมีการปรับเปลี่ยนให้สุภาพบุรุษเป็นผู้ตั้งชื่อด้วยเช่นกัน เพื่อให้ได้ชื่อที่มีความหลากหลายยิ่งขึ้น
กระทั่งปี ค.ศ.2000 ได้มีการเปิดโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ จากทุกโซนของโลก เสนอชื่อพายุได้ประเทศละ 10 ชื่อ โดยกำหนดให้ใช้ภาษาท้องถิ่นในแต่ละประเทศในการตั้งชื่อพายุ
ทั้งนี้ในส่วนของประเทศไทย จัดอยู่โซนมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนบน และทะเลจีนใต้ โดยมีชาติสมาชิกร่วมกัน 14 พื้นที่ ได้แก่ กัมพูชา, จีน, เกาหลีเหนือ, เกาหลีใต้, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, ลาว, มาเก๊า, มาเลเซีย, ไมโครนีเซีย (รัฐอิสระอยู่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือหมู่เกาะอินโดนีเซีย), ฟิลิปปินส์,ไทย, สหรัฐฯ และเวียดนาม
ทุกครั้งที่เกิดพายุ ที่มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางของพายุมากกว่า 34 นอต หรือ 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุลูกนั้น จะถูกตั้งชื่อตามที่สมาชิกแต่ละโซนได้เสนอมา โดยรายชื่อพายุจะถูกจัดแบ่งเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 28 ชื่อ
ทั้งนี้ ชื่อพายุแต่ละชื่อ จะเรียงตามลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษ เริ่มจากกัมพูชา, จีน, เกาหลีเหนือ, เกาหลีใต้, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, ลาว, มาเก๊า, มาเลเซีย ไมโครนีเซีย (รัฐอิสระอยู่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือหมู่เกาะอินโดนีเซีย) ฟิลิปปินส์, ไทย, สหรัฐฯ และเวียดนาม
โดยประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 12 กรณีเมื่อใช้ชื่อหมด 1 กลุ่ม จะขึ้นชื่อแรกในกลุ่มที่ 2 เรียงกันเรื่อยไปจนครบทุกกลุ่ม แล้วจึงกลับมาใช้ชื่อแรกของกลุ่มที่ 1 ใหม่อีกครั้ง (ดูรายชื่อพายุทั้ง 5 กลุ่ม)
พายุวิภา และลักษณะการตั้งชื่อพายุของแต่ละประเทศ
สำหรับ 14 ประเทศ ที่อยู่ในโซนมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนบน และทะเลจีนใต้ แต่ละประเทศมีลักษณะในการตั้งชื่อพายุที่แตกต่างกันไป ดังนี้
- นำสัตว์มาตั้งชื่อพายุ อาทิ ทกชูรี (นกอินทรีในเกาหลีใต้), ยามาเนโกะ (แมวป่าในญี่ปุ่น), กรอซา (นกกระเรียนในกัมพูชา), หวู่ติบ (ผีเสื้อในมาเก๊า), ปาบึก (ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขงของลาว), ยุนยาง (เป็ดแมนดารินในฮ่องกง)
- นำดอกไม้มาตั้งชื่อพายุ อาทิ ไห่ขุย (ชื่อดอกไม้ทะเลในจีน), จ่ามี (ชื่อดอกไมชนิดหนึ่ในเวียดนาม), โทราจี (ชื่อต้นไม้ในเกาหลีเหนือ), นากรี (ชื่อดอกไม้ในกัมพูชา) , ชังมี (ชื่อกุหลาบในกาหลีใต้)
- นำผลไม้มาตั้งชื่อพายุ อาทิ ปูลาซัน (ผลไม้ในมาเลเซีย), กระท้อน (ผลไม้ในประเทศไทย) , ฮีโกส (ผลมะเดื่อในสหรัฐอเมริกา),
- นำสถานที่มาตั้งชื่อพายุ อาทิ บอละเวน (ที่ราบสูงในลาว), หม่านหยี่ (อ่างเก็บน้ำในฮ่องกง), หะลอง (ชื่ออ่าวในเวียดนาม), ไลออนร็อก (ชื่อยอดเขาในฮ่องกง), อามูเยา (ชื่อภูเขาในฟิลิปปินส์)
- นำชื่อคนมาตั้งเป็นชื่อพายุ อาทิ นิดา (ชื่อคนในประเทศไทย), พายุวิภา (ชื่อคนในประเทศไทย), โซเดล (ชื่อทหารองครักษ์ในสาธารณรัฐสหพันธ์ไมโครนีเซีย), ฟรานซิสโก (ชื่อผู้ชายในสหรัฐอเมริกา), ชานชาน (ชื่อเด็กผู้หญิงในฮ่องกง), กองเร็ย (ชื่อสาวงามในตำนานกัมพูชา)
- นำชื่อเทพมาตั้งเป็นชื่อพายุ อาทิ เอวิเนียร์ (ชื่อเทพเจ้าแห่งพายุในสาธารณรัฐสหพันธ์ไมโครนีเซีย), พระพิรุณ (ชื่อเทพแห่งฝนในไทย), เฟิงเฉิน (ชื่อเทพเจ้าแห่งลมในจีน), เตี้ยนหมู (ชื่อเจ้าแม่แห่งสายฟ้าในจีน), เซินติญ (ชื่อเทพเจ้าในเวียดนาม)
นอกจากนี้ยังมีลักษณะการตั้งชื่อแบบอื่น ๆ อาทิ ใช้ชื่อกลุ่มดาว, ชื่อนักรบ, ชื่อต้นไม้, ชื่อโบสถ์ ฯลฯ ที่นำมาใช้เป็นของพายุอีกด้วย
พายุวิภา และรายชื่อพายุที่ตั้งโดยประเทศไทย
นอกจากชื่อพายุวิภา สำหรับรายชื่อพายุที่ตั้งโดยประเทศไทย เกิดขึ้นจากกรมอุตุนิยมวิทยา ตั้งคณะกรรมการพิจารณารายชื่อและความหมาย โดยนำชื่อต่าง ๆ ไปเสนอในที่ประชุมของศูนย์เตือนภัยพายุไต้ฝุ่นร่วม หรือ JTWC (Joint Typhoon Warning Center) ซึ่งตั้งอยู่ที่เกาะกวม ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก จนได้ข้อสรุปออกมาเป็น 10 ชื่อพายุของไทย เรียงตามลำดับ ดังนี้
- พระพิรุณ
- กระท้อน
- วิภา
- บัวลอย
- เมขลา
- อัสนี
- นิดา
- ชบา
- กุหลาบ
- ขนุน
จากการตั้งข้อสังเกต ชื่อพายุของประเทศไทย แบ่งลักษณะออกเป็น 4 แบบ คือ
- ชื่อของดอกไม้, ผลไม้ เช่น กระท้อน, กุหลาบ, ชบา, ขนุน,
- ชื่อเทพ หรือปรากฎการณ์บนท้องฟ้า เช่น พระพิรุณ, อัสนี, เมขลา
- ชื่อของคน เช่น พายุวิภา, นิดา
- ชื่อขนม เช่น บัวลอย
พายุวิภา และเกร็ดน่ารู้พายุไทย
- พายุวิภา เป็นชื่อที่มีความหมายถึง หญิงสาว
- เมื่อใช้ชื่อพายุวิภาของประเทศไทยไปแล้ว ให้นับพายุที่จะเกิดขึ้นต่อไปอีก 13 ลูก ถึงจะวนกลับมาใช้ชื่อพายุของประเทศไทยอีกครั้ง
- ผ่านจากพายุวิภาไป หากเกิดพายุหมุนเขตร้อนขึ้นอีก จะใช้ชื่อพายุว่า “ฟรานซิสโก” ที่เป็นชื่อพายุจากสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ตั้ง
- ชื่อพายุที่ตั้งโดยประเทศไทยที่จะถูกใช้ต่อไป นั่นคือ บัวลอย โดยต้องเกิดพายุขึ้นอีก 13 ลูก จึงจะวนกลับมาถึงคิวชื่อของประเทศไทยอีกครั้ง
พายุวิภา และการรับมือน้ำท่วมจากพายุ
พายุวิภา มีความรุนแรง อาจนำมาซึ่งความสูญเสีย มีแนวทางการปฏิบัติตัวเพื่อรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ ดังนี้
- ติดตามข่าวสารและสถานการณ์ ตรวจสอบข่าวพยากรณ์อากาศรวมถึงเหตุน้ำท่วมเพื่อประเมินสถานการณ์ และพร้อมปฏิบัติตามประกาศเตือนภัย รวมถึงคำแนะนำจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากมีการเตือนภัยให้ออกจากพื้นที่ ควรรีบออกจากพื้นที่ตามเส้นทางที่ปลอดภัย
- หมั่นสังเกตสัญญาณผิดปกติทางธรรมชาติ ช่วยให้สามารถคาดการณ์ความผิดปกติด้วยตัวเองได้
กรณี อุทกภัยหรือเหตุน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก สามารถสังเกตได้จากปริมาณฝนที่ตกหนัก และระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นสูง
กรณี ดินถล่ม สังเกตได้จากปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องนานกว่า 6 ชั่วโมง บนที่ลาดเชิงเขา ระดับน้ำในลำห้วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีสีขุ่นข้นหรือสีเดียวกับดินภูเขา มีเสียงดังผิดปกติ รวมถึงสัตว์ป่าแตกตื่น หากพบความเสี่ยงควรเตรียมการอพยพให้พร้อม และหนีตามเส้นทางให้พ้นจากแนวดินถล่ม - จดชื่อ-นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์สมาชิกในครอบครัวติดตัวไว้ กรณีเด็กและผู้สูงอายุให้เขียนชื่อ - นามสกุลผู้ดูแล ญาติ ติดกระเป๋า กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน พลัดหลงขณะอพยพ ได้รับบาดเจ็บหรืออาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราว สามารถติดต่อกันได้
- จัดเตรียมสิ่งของจำเป็นสำหรับใส่ในถุงยังชีพ เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ได้แก่ น้ำดื่มสะอาด ยารักษาโรค ข้าวสาร อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง
- เก็บเอกสารสำคัญไว้ในถุงพลาสติกกันน้ำ ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน สูติบัตร บัตรประกันสังคม กรมธรรม์ประกันชีวิต โดยเอกสารสำคัญเหล่านี้ควรใส่ถุงพลาสติกกันน้ำและจัดเก็บไว้กับถุงยังชีพที่สามารถพกพาไปด้วยได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น
- ขนย้ายทรัพย์สินของมีค่าขึ้นที่สูง โดยเฉพาะสิ่งของในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ารวมถึงปลั๊กไฟให้สูงพ้นจากระดับน้ำท่วมถึง พร้อมตัดกระแสไฟภายในบ้าน ขณะที่ประชาชนในกลุ่มเกษตรกรอาจเร่งเก็บผลผลิตหรือเตรียมผูกยึดสิ่งของ เช่น กระชังเลี้ยงสัตว์น้ำให้แน่นหนา เพื่อป้องกันความเสียหายต่อพื้นที่เกษตร
- เดินทางในพื้นที่ประสบภัยอย่างระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการสัญจรในเส้นทางที่มีน้ำไหลเชี่ยวกราก หากต้องเดินทางผ่านพื้นที่น้ำท่วมควรใช้ไม้สำรวจเส้นทาง หลีกเลี่ยงการลุยน้ำตอนกลางคืน หากจำเป็นให้ใช้ไฟฉายเพื่อป้องกันการพลัดตกท่อระบายน้ำ
พายุวิภา แม้จะเป็นเหตุการณ์ทางธรรมชาติ แต่อันตรายที่เกิดจากพายุ นำมาซึ่งความสูญเสียหลายประการ ดังนั้น เมื่อต้องประสบกับอุบัติภัยที่ไม่คาดคิด การมีสติ และยึดถือเรื่องความปลอดภัย ถือเป็นสิ่งที่ต้องตะหนักเป็นลำดับแรก
อ้างอิง
- รายชื่อพายุหมุนเขตร้อน ความหมายและที่มา (ล่าสุด พ.ศ. 2567) / กรมอุตุนิยมวิทยา
- ชื่อเรียกของพายุแต่ละแห่ง มีที่มาจากอะไรกันนะ? / คลังความรู้ Scimatch