กล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทราพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะขนาดเท่าดาวพฤหัสบดี กำลังถูกดาวฤกษ์ของมันพัดชั้นบรรยากาศของมันจนตัวดาวหดเล็กลงและกำลังกลายเป็นดาวเคราะห์ที่แห้งแล้ง
ดาวเคราะห์ดวงนี้มีชื่อว่า TOI 1227 b โคจรรอบดาวแคระแดงที่อยู่ห่างจากโลกประมาณ 330 ปีแสง มีวงโคจรรอบดาวฤกษ์แม่ที่ใกล้มาก ๆ ไม่ถึง 1 ใน 5 ของระยะห่างจากดาวพุธถึงดวงอาทิตย์ การศึกษาล่าสุดระบุว่าดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงนี้มีอายุเพียงแค่เพียงแค่ 8 ล้านปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับโลกที่มีอายุราว 5 พันล้านปี ถือว่าอ่อนกว่าโลกถึงพันเท่า นับเป็นดาวเคราะห์ที่อายุน้อยที่สุดเป็นอันดับสองที่นักดาราศาสตร์เคยสังเกตเห็นในระหว่างที่มันเคลื่อนผ่านหน้าดาวแม่ (Transit Method) ซึ่งก่อนหน้านี้มีการประเมินว่า TOI 1227 b ดวงนี้น่าจะมีอายุราว 11 ล้านปี
จากการศึกษาล่าสุดที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์จันทรา รังสีเอกซ์จากดาวฤกษ์แม่กำลังระเบิดเข้าใส่ TOI 1227 b และฉีกชั้นบรรยากาศของมันในอัตราที่รุนแรงมาก จนคาดการณ์ว่าในอีกประมาณหนึ่งพันล้านปี ชั้นบรรยากาศจะหายไปจนหมด มวลของชั้นบรรยากาศประมาณ 2 เท่าของมวลโลกจะสูญหายไปตลอดกาล จากที่เคยมีประมาณ 17 เท่าของมวลโลก
นอกจากนี้ ดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่ใกล้ดาวแม่เกินไปจนไม่สามารถเข้าข่ายคำจำกัดความของ “เขตเอื้อต่อการอยู่อาศัย” (Habitable Zone) ได้ ซึ่งเป็นเขตที่นักดาราศาสตร์ใช้กำหนดว่าดาวเคราะห์จะสามารถมีน้ำในสถานะของเหลวบนพื้นผิวได้หรือไม่ กล่าวคือไม่มีโอกาสที่ชีวิตจะดำรงอยู่บน TOI 1227 b ทั้งในปัจจุบันหรืออนาคต
ดาวแม่ของ TOI 1227 b มีชื่อว่า TOI 1227 มีมวลเพียงหนึ่งในสิบของดวงอาทิตย์ และเย็นกว่า สว่างน้อยกว่าในแสงที่ตามองเห็น แต่ในย่านรังสีเอกซ์ TOI 1227 กลับสว่างกว่าดวงอาทิตย์ และแผ่รังสีอันทรงพลังนี้ใส่ดาวดวงนี้ มวลของ TOI 1227 b แม้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่น่าจะใกล้เคียงกับดาวเนปจูน แต่มีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าสามเท่า และมีขนาดพอ ๆ กับดาวพฤหัสบดี
นักดาราศาสตร์คาดว่าสาเหตุที่มวลของดาวดวงนี้เทียบเท่ากับดาวเนปจูนแต่กลับมีขนาดที่ใหญ่พอ ๆ กับดาวพฤหัสบดีอาจเพราะการขยายตัวจากรังสีเอกซ์ของดาวฤกษ์แม่ของมันเอง และจากข้อมูลปริมาณรังสีเอกซ์ของดาวแม่ที่พุ่งกระทบดาวเคราะห์จากกล้องจันทราร่วมกับแบบจำลองคอมพิวเตอร์ พบว่ารังสีเอกซ์จะทำให้ดาวสูญเสียชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็ว นักดาราศาสตร์คำนวณว่า ทุก ๆ 200 ปี ดาวเคราะห์จะสูญเสียมวลเทียบเท่ากับชั้นบรรยากาศของโลกไปทั้งชั้น
สำหรับอนาคตของดาวดวงนี้ไม่ได้สดใส เพราะยังไงมันก็จะจบลงด้วยการที่สูญเสียมวลจนไม่เหลืออะไรอีกเลย แต่สำหรับข้อมูลที่น่าสนใจของกลุ่มดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีอายุน้อยกว่า 50 ล้านปีคือดาวเคราะห์ดวงนี้ใช้ระยะเวลาในการโคจรนานที่สุดและโคจรรอบดาวฤกษ์ที่มีมวลต่ำที่สุดในบรรดาดาวทั้งหมดในกลุ่มนี้
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech