ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ข้อควรรู้ "บริจาคเลือด" อย่างไร ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้ประโยชน์สูงสุด


Lifestyle

สันทัด โพธิสา

แชร์

ข้อควรรู้ "บริจาคเลือด" อย่างไร ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้ประโยชน์สูงสุด

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2949

ข้อควรรู้ "บริจาคเลือด" อย่างไร  ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้ประโยชน์สูงสุด

 

เอ่ยคำว่า “บริจาคเลือด” ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมดี ๆ ที่ผู้คนในสังคมนิยมกระทำกัน ทว่าในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน อาทิ ในยามสงคราม การรับบริจาคเลือด ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อผู้คนได้รับบาดเจ็บ 

Thai PBS นำข้อควรรู้ บริจาคเลือดอย่างไร ให้ได้ประโยชน์ทั้งผู้บริจาคและผูได้รับบริจาค มาบอกกัน

คุณสมบัติที่เหมาะสมของผู้บริจาคเลือด ควรเป็นอย่างไร ?

  • สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์
  • มีน้ำหนักตั้งแต่ 45 กิโลกรัมขึ้นไป
  • นอนหลับอย่างเพียงพอในคืนก่อนมาบริจาคเลือด
  • ไม่มีอาการท้องเสียหรือเป็นไข้หวัด ในช่วง 7 วันก่อนการบริจาคเลือด
  • ไม่มีภาวะน้ำหนักลดลงผิดปกติในช่วง 3 เดือนก่อนการบริจาคเลือด
  • ไม่มีประวัติการเสพยาเสพติด 
  • ไม่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ ไม่มีการคลอดบุตรหรือแท้งบุตรในช่วง 6 เดือนก่อนการบริจาคเลือด
  • หากมีการทำทันตกรรม เช่น ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน หรือรักษารากฟัน ควรทิ้งระยะห่างก่อนการบริจาคเลือดอย่างน้อย 3 วัน
  • หากมีการเจาะหู สัก ลบรอยสัก หรือฝังเข็ม ควรทิ้งระยะก่อนการบริจาคเลือดอย่างน้อย 4 เดือน
  • หากมีการผ่าตัดใหญ่ ควรทิ้งระยะก่อนการบริจาคเลือดอย่างน้อย 6 เดือน ส่วนการผ่าตัดเล็ก ควรทิ้งระยะห่างก่อนการบริจาคเลือดอย่างน้อย 7 วัน
  • หากเคยเจ็บป่วยและเคยได้รับการให้เลือดจากผูู้อื่น ควรทิ้งระยะห่างก่อนการบริจาคเลือดอย่างน้อย 1 ปี
  • หากเป็นผู้ที่เพิ่งพ้นโทษ ควรทิ้งระยะห่างก่อนการบริจาคเลือดอย่างน้อย 3 ปี

อายุของผู้บริจาคเลือด ควรเป็นอย่างไร ?

ลักษณะของผู้ที่สามารถบริจาคเลือด มีข้อพึงทราบดังนี้

  • ผู้บริจาคเลือดต้องมีอายุตั้งแต่ 17 – 70 ปี กรณีผู้บริจาคเลือดอายุ 17 ปี ต้องมีเอกสารยินยอมจากผู้ปกครอง ส่วนผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึนไป ไม่ต้องมีเอกสารรับรอง 
  • ผู้บริจาคเลือดที่มีอายุมากกว่า 60 - 65 ปี และบริจาคต่อเนื่องมาตลอด ให้บริจาคได้ทุก 3 เดือน 
  • ผู้บริจาคเลือดที่มีอายุมากกว่า 65 -70 ปี และบริจาคต่อเนื่องมาตลอด ให้บริจาคได้ทุก 6 เดือน  และต้องมีการตรวจนับจำนวนของเม็ดเลือดทุกชนิดทุกครั้ง

มีข้อห้ามใดบ้างในการบริจาคเลือด ?

การมีปัญหาด้านสุขภาพบางอย่าง ส่งผลให้ไม่สามารถบริจาคเลือดได้ เนื่องจากไม่สามารถนำเลือดไปใช้ และอาจส่งผลเสียต่อร่างกายของผู้บริจาคเอง ลักษณะต้องห้ามของผู้ที่ไม่สามารถบริจาคเลือดได้ มีข้อพึงสังเกตเหล่านี้ 

  • มีปริมาณของฮีโมโกลบินไม่เพียงพอ
  • อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์
  • เพิ่งกลับมาจากการเดินทางไปต่างประเทศ
  • มีความดันโลหิตสูงหรือต่ำผิดปกติ
  • อยู่ในระหว่างการรับประทานยารักษาอาการ
  • ติดเชื้อเอชไอวี, โรคไวรัสตับอักเสบบี, โรคไวรัสตับอักเสบซี หรือโรคมะเร็ง

สิ่งที่ควรงดก่อนมาบริจาคเลือด

  • ควรงดอาหารที่มีไขมันสูง เพราะอาหารที่มีไขมันสูง ทำให้พลาสมา ซึ่งเป็นของเหลวในเลือด มีมีสีขาวขุ่น 
  • ควรงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนบริจาคเลือด
  • ควรงดสูบบุหรี่ ทั้งก่อนและหลังบริจาคเลือดอย่างน้อย 1 ชั่วโมง 
  • ควรงดรับประทานยาแอสไพริน ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาแก้ปวดอื่น ๆ อย่างน้อย 3 วันก่อนบริจาคเลือด
  • ควรงดรับประทานยาแก้อักเสบหรือยาอื่น ๆ อย่างน้อย 7 วันก่อนบริจาคเลือด

ข้อปฏิบัติที่ควรทำหลังบริจาคเลือด

หลังการบริจาคเลือดเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่เป็นข้อควรปฏิบัติ หรือตระหนักเพื่อความปลอดภัยของร่างกาย มีดังนี้

  • หลังบริจาคเลือดเสร็จ ให้นอนพักบนเตียงก่อน การลุกขึ้นโดยทันที อาจทำให้เกิดอาการหน้ามืด เป็นลมได้
  • หลังการบริจาคเลือด ควรดื่มน้ำในปริมาณมากกว่าปกติ 1 วัน
  • สำหรับผู้ที่ทำงานบนที่สูง หลังการบริจาคเลือด แนะนำให้หยุดทำงาน 1 วัน เพื่อให้ร่างกายกลับมาแข็งแรง และป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
  • หลังการบริจาคเลือด ควรงดการซาวน่า หรือออกกำลังกายหนัก ๆ ที่ทำให้เสียเหงื่อมาก

เกร็ดน่ารู้การบริจาคเลือด

  1. การบริจาคโลหิตไม่ทำให้อ้วน เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้อ้วน เกิดได้หลายปัจจัย เช่น รับประทานอาหารมากเกินไป ความบกพร่องของการเผาผลาญพลังงาน ฮอร์โมน พันธุกรรม รวมทั้งการขาดการออกกำลังกาย 
  2. ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการใช้เลือดในแต่ละวันเฉลี่ย 5,000 ยูนิตต่อวัน โดยส่วนใหญ่เลือดที่บริจาค จะถูกใช้ไปในกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดใหญ่ และผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ
  3. กรุ๊ปเลือดที่มีความต้องการมากที่สุด คือ กรุ๊ป AB ตามมาด้วยกรุ๊ป A, B และ O ตามสัดส่วนของประชากรในประเทศ
  4. หากร่างกายอยู่ในสภาวะปกติ ใน 1 ปี สามารถบริจาคเลือดได้สูงสุด 4 ครั้ง และเฉลี่ยทั้งชีวิตของคน สามารถบริจาคเลือดได้ราว 212 ครั้ง
  5. การบริจาคเลือดบ่อย ๆ ไม่ทำให้ร่างกายอ่อนแอหรือภูมิคุ้มกันลดลง ในทางกลับกัน ยังเป็นการกระตุ้นให้ไขกระดูกผลิตเม็ดเลือดใหม่ขึ้นมาแทนที่ ช่วยให้ระบบการไหลเวียนเลือดดีขึ้น
  6. สำหรับผู้ที่มีธาตุเหล็กในร่างกายมากเกินไป ซึ่งอาจมีผลต่อการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตันหรือมะเร็งบางชนิด การบริจาคเลือดจะช่วยลดปริมาณธาตุเหล็กส่วนเกินออกไป และลดโอกาสการเกิดโรคดังกล่าวลงได้

การบริจาคเลือด เป็นกิจกรรมที่ช่วยเหลือสังคม และยังเป็นการได้ดูแลตรวจเช็กสุขภาพร่างกายไปในคราวเดียวกัน

อ้างอิง

  • คุณสมบัติผู้บริจาคโลหิต / คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
  • บริจาคเลือด ขั้นตอนการเตรียมตัวและข้อควรรู้ในการบริจาค / PobPad

แท็กที่เกี่ยวข้อง

บริจาคเลือดเลือดผู้บริจาคเลือดบริจาค
สันทัด โพธิสา

ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด