ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ค้นพบครั้งแรก! “ดาวคู่” ของดาวบีเทลจุส โดยนักดาราศาสตร์ NASA


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

จิราภพ ทวีสูงส่ง

แชร์

ค้นพบครั้งแรก! “ดาวคู่” ของดาวบีเทลจุส โดยนักดาราศาสตร์ NASA

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2944

ค้นพบครั้งแรก! “ดาวคู่” ของดาวบีเทลจุส โดยนักดาราศาสตร์ NASA

นักดาราศาสตร์ค้นพบ “ดาวคู่” (Companion) ของ “ดาวบีเทลจุส” (Betelguese) ดาวคู่ดวงนี้โคจรรอบดาวบีเทลจุสในวงโคจรที่แคบอย่างเหลือเชื่อ ซึ่งอาจช่วยไขปริศนาเรื่องการแปรแสงของดาวบีเทลจุสที่มีคาบประมาณ 6 ปี อย่างไรก็ตาม ดาวคู่ดวงนี้กำลังนับถอยหลังสู่จุดจบ และทีมนักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าดาวบีเทลจุสจะกลืนกินดาวคู่ของมันในระยะเวลาอีก 10,000 ปีข้างหน้า

ในเรื่องนี้ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ให้ความรู้ว่า ดาวบีเทลจุสเป็นดาวฤกษ์มวลมากสีส้มแดง สว่างเป็นอันดับ 10 บนท้องฟ้า และสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ปรากฏอยู่บริเวณหัวไหล่ข้างขวาของกลุ่มดาวนายพราน (Orion) มีมวลประมาณ 14-19 เท่าของดวงอาทิตย์ และมีขนาดใหญ่กว่าถึง 700 เท่า นักดาราศาสตร์คาดว่าดาวบีเทลจุสอาจอยู่ในช่วงสุดท้ายของวิวัฒนาการ และอาจระเบิดเป็นซูเปอร์โนวา (Supernova) ได้ทุกเมื่อภายใน 100,000 ปีที่จะถึงนี้ หากเกิดการระเบิดจริง บีเทลจุสจะกลายเป็นดาวที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้ายามค่ำคืน มีความสว่างใกล้เคียงกับดวงจันทร์เต็มดวง

ในช่วงปี ค.ศ. 2019-2020 ดาวบีเทลจุสเกิดเหตุการณ์ “การหรี่แสงครั้งใหญ่” (Great dimming) สร้างความตื่นตะลึงและจุดกระแสความสนใจไปทั่วโลก ต่อมาผลการศึกษาในปี ค.ศ. 2023 ชี้ว่า “การหรี่แสงครั้งใหญ่” นี้เป็นผลจากแก๊สร้อนขนาดมหึมาที่ปะทุออกมาจากดาวบีเทลจุส เกิดเย็นตัวลง และกลายเป็น “ฝุ่น” มาบดบังดาว ทำให้ดาวบีเทลจุสมีความสว่างลดลงอย่างเฉียบพลัน

อีกปริศนาหนึ่งของดาวบีเทลจุสที่นักดาราศาสตร์พยายามไขมาตลอดกว่า 1,000 ปี คือการแปรแสงของดาวบีเทลจุสที่มีคาบประมาณ 6 ปี ในช่วงปี ค.ศ. 1985 เริ่มมีการตั้งสมมติฐานว่า ดาวบีเทลจุสนั้นอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบ “ดาวคู่” และยังมีดาวคู่ของมันอีกดวงหนึ่งที่ยังไม่เคยมีใครสังเกตเห็น นักดาราศาสตร์พยายามค้นหาคำตอบด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล และกล้องโทรทรรศน์อวกาศรังสีเอกซ์จันทรา แต่ก็ยังไม่สามารถค้นพบดาวคู่ของมันได้

นักดาราศาสตร์ NASA ค้นพบ “ดาวคู่” (Companion) ของ “ดาวบีเทลจุส” (Betelguese) ดาวคู่ดวงนี้โคจรรอบดาวบีเทลจุสในวงโคจรที่แคบอย่างเหลือเชื่อ ภาพจาก International Gemini Observatory, NOIRLab, NSF, AURA

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 2025 ทีมนักดาราศาสตร์จาก NASA Ames Research Center ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาลงในวารสาร The Astrophysical Journal โดยใช้กล้องโทรทรรศน์เจมินี นอร์ท (Gemini North Telescope) ที่ตั้งอยู่ในฮาวาย ร่วมกับอุปกรณ์ถ่ายภาพ “อาโลเปเก” (Alopeke) ซึ่งใช้เทคนิคที่เรียกว่า “Speckle Imaging” อาศัยการเปิดหน้ากล้องในช่วงเวลาสั้น ๆ เพื่อชดเชยการรบกวนแสงดาวจากชั้นบรรยากาศโลก ทำให้สามารถถ่ายภาพที่มีความละเอียดสูงกว่ากล้องโทรทรรศน์อื่น ๆ ที่เคยใช้สังเกตดาวบีเทลจุสมาก่อน

ผลการสังเกตการณ์ในครั้งนี้เปิดเผยให้เห็นถึง “ภาพดาวคู่ของดาวบีเทลจุส” เป็นครั้งแรก โดยพบว่าเป็นดาวสีฟ้าขาว มีมวลประมาณ 1.5 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ โคจรอยู่ในระยะใกล้มากจนอยู่ภายในส่วนหนึ่งของชั้นบรรยากาศชั้นนอกของดาวบีเทลจุสเอง และถือเป็นครั้งแรกที่มีการตรวจพบดาวคู่ในระยะใกล้กับดาวยักษ์แดงมากขนาดนี้ ส่งผลให้ดาวคู่นี้ถูกแรงโน้มถ่วงหน่วงรั้งอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะถูกกลืนกินโดยดาวบีเทลจุสภายในเวลาไม่เกิน 10,000 ปีข้างหน้า

ระหว่างนี้ นักดาราศาสตร์ยังคงติดตามดาวคู่ของดาวบีเทลจุสอย่างใกล้ชิด และคาดว่าจะสามารถสังเกตการณ์ดาวคู่ดวงนี้ได้อีกครั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2027 ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวทั้งสองจะอยู่ในตำแหน่งห่างกันมากที่สุดบนวงโคจร

การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นกุญแจสำคัญในการไขความลับเกี่ยวกับการแปรแสงของดาวยักษ์แดงอย่างบีเทลจุส นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ ที่สามารถเผยให้เห็นดาวคู่ของดาวฤกษ์ซึ่งเป็นปริศนาที่นักดาราศาสตร์ค้นหามานานกว่าพันปี ความก้าวหน้านี้ย่อมเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยขยายขอบเขตความรู้ของมนุษยชาติ และนำไปสู่การค้นพบใหม่ ๆ ในเอกภพต่อไปในอนาคต


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : space, มติพล ตั้งมติธรรม นักวิชาการ, พิสิฏฐ นิธิยานันท์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดาวคู่CompanionดาวบีเทลจุสBetelgueseนักดาราศาสตร์วงโคจรนาซาองค์การนาซาNASAThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomyสำรวจอวกาศอวกาศ
จิราภพ ทวีสูงส่ง

ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

"เซบา บาสตี้" เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส คนทำงานด้านการเขียน : Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphobT@thaipbs.or.th)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด