นักวิทย์จีนสร้าง "ผึ้งไซบอร์ก" ตัวแรกของโลก ควบคุมด้วยสมองกลจิ๋ว ใช้สอดแนมทางการทหาร และช่วยเหลือผู้ติดใต้ซากอาคารในพื้นที่แผ่นดินไหว
ทีมนักวิทยาศาสตร์จีนประสบความสำเร็จครั้งสำคัญในการสร้าง "ผึ้งไซบอร์ก" ตัวแรกของโลก โดยใช้อุปกรณ์ควบคุมสมองที่เล็กและเบาที่สุดเท่าที่เคยมีมา เปิดศักยภาพใหม่ในการใช้งานแมลงเพื่อภารกิจที่ซับซ้อน ตั้งแต่การสอดแนมทางการทหารไปจนถึงการค้นหาผู้รอดชีวิตในพื้นที่ภัยพิบัติ
โดยธรรมชาติแล้ว ผึ้งถือเป็นสุดยอดนักบินแห่งโลกของแมลง พวกมันสามารถบรรทุกกระเพาะน้ำหวานหนักถึง 80% ของน้ำหนักตัว และบินได้ไกลถึง 5 กิโลเมตรโดยไม่ต้องพัก ความสามารถอันน่าทึ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ทีมวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีปักกิ่ง นำโดยศาสตราจารย์ Zhao Jieliang พัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไปอีกขั้น
ทีมวิจัยได้สร้าง "อุปกรณ์ควบคุมสมอง" ที่มีน้ำหนักเพียง 74 มิลลิกรัมเท่านั้น เบากว่าน้ำหวานที่ผึ้งหามาได้อีก ด้วยการพิมพ์วงจรลงบนแผ่นฟิล์มโพลีเมอร์ที่เบาและยืดหยุ่นเหมือนปีกของแมลง

อุปกรณ์นี้จะถูกติดตั้งบนหลังของผึ้ง พร้อมกับเข็มขนาดจิ๋ว 3 เข็มที่เชื่อมต่อกับสมองโดยตรง ทำให้สามารถส่งสัญญาณไฟฟ้าเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของผึ้งให้เป็นไปตามคำสั่ง ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยวซ้าย-ขวา หรือบินไปข้างหน้า-ถอยหลัง โดยผลการทดสอบพบว่าผึ้งไซบอร์กเชื่อฟังคำสั่ง 9 ใน 10 ครั้ง
ก่อนหน้านี้ อุปกรณ์ควบคุมไซบอร์กที่เบาที่สุดถูกพัฒนาที่สิงคโปร์ แต่มีน้ำหนักมากกว่าถึง 3 เท่า และเคยใช้ควบคุมได้เพียงด้วงหรือแมลงสาบที่เคลื่อนที่ได้ช้าในระยะทางสั้น ๆ และเหนื่อยล้าอย่างรวดเร็ว

บทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Chinese Journal of Mechanical Engineering นักวิจัยชี้ว่า ข้อดีของแมลงไซบอร์กได้เปรียบกว่าหุ่นยนต์ทั่วไปหลายประการ ทั้งความคล่องตัว การพรางตัว และความทนทานในการปฏิบัติงานที่ยาวนานกว่า ทำให้เหมาะสำหรับภารกิจที่ต้องการความลับสูงสุด
เช่น การลาดตระเวนในเขตสู้รบ การต่อต้านการก่อการร้าย การสกัดกั้นยาเสพติด และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การค้นหาผู้รอดชีวิตในซากปรักหักพังจากเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งหุ่นยนต์ขนาดใหญ่อาจเข้าไม่ถึง

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นและมีข้อจำกัดที่ต้องพัฒนาต่อไป ปัญหาหลักคือแหล่งพลังงาน เนื่องจากปัจจุบันยังต้องใช้สายไฟเชื่อมต่อ เพราะแบตเตอรี่ที่มีอายุการใช้งานยาวนานนั้นมีน้ำหนักถึง 600 มิลลิกรัม ซึ่งหนักเกินกว่าที่ผึ้งจะแบกไหว นอกจากนี้ การควบคุมยังไม่แม่นยำสมบูรณ์ และผึ้งบางตัวก็เกิดอาการเหนื่อยล้าหลังถูกกระตุ้นหลายครั้ง
ทีมวิจัยตั้งเป้าหมายในอนาคตที่จะปรับปรุงความแม่นยำของสัญญาณควบคุม พร้อมทั้งเพิ่มเซนเซอร์ต่าง ๆ ลงในอุปกรณ์ เพื่อให้ "ผึ้งไซบอร์ก" สามารถรับรู้และตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น

ความสำเร็จของจีนในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันที่ดุเดือดในเวทีเทคโนโลยีไซบอร์กระดับโลก ซึ่งจีนกำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอย่างรวดเร็ว แซงหน้าสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น โดยได้รับแรงหนุนจากเงินทุนวิจัยของรัฐบาลและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่แข็งแกร่งของประเทศ
ที่มา : South China Morning Post
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech