ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เส้นขนานที่ 38 ที่ยากจะบรรจบกัน ของสงครามเกาหลีเหนือ-ใต้


ประวัติศาสตร์

คมสัน ประมูลมาก

แชร์

เส้นขนานที่ 38 ที่ยากจะบรรจบกัน ของสงครามเกาหลีเหนือ-ใต้

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2950

เส้นขนานที่ 38 ที่ยากจะบรรจบกัน ของสงครามเกาหลีเหนือ-ใต้

ย้อนกลับไปเมื่อ 72 ปี ที่ผ่านมา วันที่ 27 กรกฎาคม 2496 เป็นวันที่มีการลงนามในสัญญาสงบศึกการสู้รบระหว่างเกาหลีเหนือ - เกาหลีใต้ อย่างเป็นทางการ สิ้นสุดการบาดหมางระหว่างคนในชาติเดียวกันที่ดำเนินการสู้รบมายาวนานกว่า 3 ปี ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตจากสงครามประมาณ 3 - 4 ล้านคน มีพลเรือนเสียชีวิตในสัดส่วนที่ใหญ่กว่าสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นหนึ่งในความขัดแย้งที่มีการทำลายล้างมากที่สุด

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการลงนามในสัญญาสงบศึกกันแล้ว แต่สงครามระหว่างทั้งสองฝ่ายนั้น ไม่ได้ยุติลงอย่างเป็นทางการ เนื่องจากไม่ได้มีสนธิสัญญาสันติภาพยุติสงครามระหว่างกันแต่อย่างใด ดังนั้นสถานการณ์ระหว่าง 2 ประเทศในตอนนี้ ยังคงเป็นการตรึงกำลังบนเส้นแบ่งเขตแดน เส้นขนานที่ 38 และกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็น "เขตปลอดอาวุธ" (Demilitarized Zone) ที่มีทหารประจำการอย่างตึงเครียด 

Thai PBS ขอนำพาทุกท่านย้อนเวลากลับไปค้นหาต้นตอของสงคราม สำรวจบาดแผลทางประวัติศาสตร์และสงครามความขัดแย้งที่ยาวนาน เพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมเส้นขนานที่ 38 ถึงยากที่จะบรรจบกันได้

ชาวเกาหลีใต้แสดงความเคารพต่อผู้ที่จากไป (Photo by ANTHONY WALLACE/AFP)

ชาติที่ถูกแบ่งแยก จุดเริ่มต้นของสงคราม

ย้อนกลับไปในเดือนกันยายน ปี 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ยุติลงอย่างเป็นทางการ จักรวรรดิญี่ปุ่นยอมรับความพ่ายแพ้ เกาหลีซึ่งในขณะนั้นยังไม่ได้ถูกแบ่งออกเป็นเหนือใต้ได้รับเอกราชจากการปกครองของญี่ปุ่น แต่ประเทศตกอยู่ในภาวะสูญญากาศ ทำให้สองมหาอำนาจผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต ได้ตกลงกันที่จะเข้ามาดูแลเกาหลี ซึ่งการเข้ามาในครั้งที่ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่จะเปลี่ยนเกาหลีไปตลอดกาล 

สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต ทั้ง 2 ประเทศ ถือเป็นประเทศมหาอำนาจทั้งคู่ และมีรูปแบบการปกครองที่แตกต่างกัน เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ พวกเขาจึงได้ใช้"เส้นขนานที่ 38" เป็นเส้นแบ่งเขตการดูแล โดยสหภาพโซเวียตจะดูแลพื้นที่ทางตอนเหนือ และสหรัฐอเมริกาจะดูแลพื้นที่ทางตอนใต้ แม้จะฟังดูแล้วเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่เมื่อโลกเข้าสู่ยุคสงครามเย็นระหว่างสองมหาอำนาจ เส้นขนานที่ 38 กลับแปรสภาพกลายเป็นพรมแดนระหว่างสองอุดมการณ์ทางการเมือง ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

สองเกาหลี สองอุดมการณ์ สองรูปแบบการปกครอง

หลังจากการแบ่งพื้นที่เข้าปกครองเกาหลีของสองมหาอำนาจ ด้วยระบอบการปกครองที่แตกต่างกัน ทำให้สหรัฐอเมริกามีความกังวลว่าโซเวียตจะให้เกาหลีปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ส่วนทางฝั่งโซเวียตก็ถ่วงเวลาไม่ยอมคืนอำนาจให้เกาหลีรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ทำให้ความพยายามที่จะจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศเพื่อความเป็นเป็นเอกภาพในเกาหลีเกิดความล้มเหลว ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือการกำเนิดของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ในปี พ.ศ. 2491

  • สาธารณรัฐเกาหลี (Republic of Korea - ROK) หรือเกาหลีใต้ ก่อตั้งขึ้นในเดือนสิงหาคม โดยมี นายอี ซึง-มัน เป็นประธานาธิบดีคนแรก ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต่อต้านคอมมิวนิสต์
  • สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (Democratic People's Republic of Korea - DPRK) หรือเกาหลีเหนือ ก่อตั้งขึ้นในเดือนกันยายน โดยมี นายคิม อิล-ซอง เป็นผู้นำสูงสุดภายใต้การสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต ปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์

ผู้นำของทั้งสองคนเกาหลีต่างมองว่าตนคือผู้ปกครองที่ชอบธรรม และต่างฝ่ายต่างก็มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะรวมชาติให้อยู่ภายใต้ระบอบการปกครองของตนเอง จึงมักจะมีการปะทะกันตามแนวชายแดนอยู่บ่อยครั้ง สร้างบรรยากาศแห่งความตึงเครียดที่พร้อมจะระเบิดได้ทุกเมื่อ

สงครามปะทุ การก้าวข้ามเส้นขนานที่ 38  

ในเช้ามืดของ วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2493 ความตึงเครียดได้มาถึงจุดแตกหัก กองทัพของเกาหลีเหนือได้เคลื่อนทัพข้ามเส้นขนานที่ 38 บุกเข้าโจมตีเกาหลีใต้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งการบุกในครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ทำให้กองทัพเกาหลีใต้ไม่ทันตั้งตัว อีกทั้งยังมีกำลังพลและอาวุธที่ด้อยกว่า ทำให้ไม่สามารถต้านทานเกาหลีเหนือได้ ส่งผลให้กรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ ถูกยึดครองภายในเวลาเพียง 3 วัน

การรุกรานของเกาหลีเหนือถูกมองว่าเป็นการขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์โดยตรง สหรัฐอเมริกา จึงได้นำเรื่องนี้เข้าสู่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) จึงได้มีมติประณามการรุกรานและให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่เกาหลีใต้ ผ่านกองกำลังสหประชาชาติ ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาและทหารจาก 16 ประเทศ จนสามารถผลักดันกองทัพเกาหลีเหนือกลับไปในพื้นที่ของตนเองได้

การร่วมลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกสงครามเกาหลี (Photo by AFP)

เขตปลอดทหาร สงบศึกแต่เพียงแค่ในนาม 

สงครามดำเนินไปอย่างดุเดือด พลัดกันรุกพลัดกันรับเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2496 จากความพยายามของสหประชาชาติ ทำให้เกิดการลงนามในข้อตกลงสงบศึกเกิดขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามคำว่าสงบศึกเป็นเพียงแค่คำพูดลอย ๆ สันติภาพยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะทั้ง 2 ประเทศ ยังไม่สามารถหาทางออกด้านสันติภาพร่วมกันได้  เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับความเป็นประเทศของซึ่งกันและกัน 

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการสร้างเขตกันชน (Buffer Zone) เพื่อป้องกันการปะทะกันโดยตรงระหว่างกองทัพเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ โดยให้ทั้งสองฝ่ายถอยร่นจากเส้นแบ่งเขตแดนที่แท้จริง ออกไปฝ่ายละ 2 กิโลเมตร จนได้พื้นที่ที่มีความกว้างรวม 4 กิโลเมตร และเรียกพื้นที่ที่เกิดขึ้นระหว่างแนวถอยร่นทั้งสองฝั่งนี้ว่า เขตปลอดทหาร Demilitarized Zone หรือ DMZ ภายในเขตนี้ ห้ามมีการติดตั้งอาวุธหนักหรือมีกำลังทหารขนาดใหญ่ประจำการอยู่ เพื่อลดความตึงเครียดและป้องกันการเกิดสงครามขึ้นอีก

เขตปลอดทหาร หรือ DMZ เส้นแบ่งระหว่าง 2 ประเทศ (Photo by JUNG YEON-JE/POOL/AFP)

ความพยายามหลังสงคราม ลากเส้นขนานให้มาบรรจบกัน

ในช่วงเวลา 72 ปีที่ผ่านมาหลังจากการลงนามในสัญญาสงบศึก มีความพยายามในสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในคาบสมุทรเกาหลีนับครั้งไม่ถ้วน แต่ทุกความพยามก็ไม่ได้ประสบผลสำเร็จเป็นไปตามเป้าประสงค์ สืบเนื่องมาจากรูปแบบการปกครองที่แตกต่างกัน จนไม่สามารถยอมรับระบอบของอีกฝ่ายได้ การควบรวมจำเป็นที่จะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยินยอมให้อีกฝ่ายเข้าปกครอง ผู้นำต้องยอมสละอำนาจ มหาอำนาจต้องยุติการแทรกแซง ไหนจะทัศนคติของคนเกาหลีรุ่นใหม่ ที่อาจไม่ได้มีความรู้สึกผูกพันกับการรวมชาติเหมือนคนรุ่นก่อน ๆ และมองว่าการควบรวมกันจะสร้างปัญหามากกว่าการสร้างสันติภาพ เพราะที่ผ่านมาก็มีปัญหาประปรายเกิดขึ้นมาตลอด 

โดยล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมา ก็มีรายงานเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของเกาหลีเหนือ ที่ได้มีการกำหนดชื่อเรียกเกาหลีใต้ให้เป็นรัฐศัตรูอย่างเป็นทางการ เป็นการตอกย้ำว่าเส้นทางสู่การรวมชาตินั้นอาจได้ปิดฉากไปลงแล้ว ทั้งสองชาติกำลังเดินไปในเส้นทางที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เส้นขนานที่ 38 ก็ยังคงเป็นเส้นขนานตลอดไป

ติดตามบทความที่เกี่ยวข้องกับเกาหลีจากเครือ Thai PBS

อ้างอิง

  • ทำไมแยกเกาหลีเหนือ-ใต้ กำเนิดเส้นขนานที่ 38 จากราชวงศ์โชซอน ถึงคิมอิลซองคุมโสมแดง, ศิลปวัฒนธรรม

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สงครามสงครามเกาหลีเกาหลีใต้เกาหลีเหนือ
คมสัน ประมูลมาก

ผู้เขียน: คมสัน ประมูลมาก

นักดื่มกาแฟที่เขียนบทความได้นิดหน่อย

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด