อัปเดต 5 เรื่องต้องรู้ “ฝีดาษลิง mpox” ในไทยกลับมาระบาดห้ามมองข้าม


Thai PBS Care

8 ก.ย. 66

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
อัปเดต 5 เรื่องต้องรู้ “ฝีดาษลิง mpox” ในไทยกลับมาระบาดห้ามมองข้าม

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox หรือ mpox) มีการระบาดเป็นโรคประจำถิ่นอยู่ทั่วไปในทวีปแอฟริกา เคยมีการระบาดและสงบไปในช่วงปี 2546 และกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งไปในหลายประเทศทั่วโลกในปี 2565 โดยเริ่มจากประเทศในแถบยุโรป ในส่วนของประเทศไทยนั้นพบผู้ป่วยรายแรกในช่วงกลางปี 2565 ที่ผ่านมา
โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อผ่านการสัมผัส มีการระบาดในกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชายเป็นหลัก ที่ผ่านมาสถานการณ์โรคดูเหมือนสงบลงแล้ว ทว่าล่าสุดในช่วงเดือนสิงหาคม 2566 กลับพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงพุ่งขึ้นถึง 145 คน ในประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ป่วยอายุน้อยที่สุดเพียง 16 ปี เท่านั้น
ไทยพีบีเอส รวบรวม 5 เรื่องควรรู้ในสถานการณ์ล่าสุดของโรคฝีดาษลิงในประเทศไทย มาบอกกัน

1. เปิดสถิติ “ฝีดาษลิง” ในไทยตอนนี้เป็นอย่างไร ?

เดิมทีการระบาดของโรคฝีดาษลิงในประเทศไทย เริ่มต้นพบผู้ป่วยรายแรกในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 โดยพบในกลุ่มชายวัยทำงาน จุดเริ่มการระบาดมาจากชาวต่างชาติ มีการแพร่ระบาดตามสถานบันเทิงเนื่องจากโรคนี้จะการติดต่อผ่านสัมผัสถูกตัวกัน หลังจากสถานการณ์ผู้ป่วยเริ่มลดลง ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2566 องค์การอนามัยประกาศให้โรคฝีดาษลิงพ้นจากสถานะภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ทว่าไม่นานก็กลับพบการระบาดอีกครั้งในประเทศไทยโดยมีการระบาดในกลุ่มเยาวชนเพิ่มขึ้น

ในปี 2566 นับจากเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนพฤษภาคมพบผู้ป่วยเพิ่ม 22 คน พอเข้าสู่เดือนมิถุนายน พบผู้ป่วย 48 คน เพิ่มขึ้นถึง 2.3 เท่า และเพิ่มขึ้นอีกในเดือนกรกฎาคมที่ 80 คน กระทั่งเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 145 คน และพบผู้เสียชีวิตรายแรกของประเทศไทยแล้ว

การระบาดของโรคฝีดาษลิงในไทย ข้อมูลจนถึงวันที่  31 สิงหาคม 2566 มีผู้ป่วยทั้งหมดรวมแล้ว 316 คน โดยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 198 คน ชลบุรี 22 คน นนทบุรี 17 คน และสมุทรปราการ 12 คน ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุ 30-39 ปี 152 คน รองลงมาคือช่วงอายุ 20-29 ปี 85 คน และเริ่มพบในกลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ปี 28 คน

2. “ฝีดาษลิง” อาการเป็นอย่างไร ? ควรพบแพทย์เมื่อไหร่ ?

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2566 ระบุว่า บุคคลทั่วไปสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง ดังนี้ 

  • มีผื่นหรือตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ปาก หรือตามร่างกาย โดยหากมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด สัมผัสแนบชิด หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้สงสัยเป็นฝีดาษลิง ให้สังเกตตัวเองภายหลังสัมผัสผู้ป่วยภายใน 21 วัน
  • สังเกตอาการ หากภายใน 21 วันนั้น หากพบว่าตัวเองมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย มีอาการต่อมน้ำเหลืองโต (อาการบวมแดงบริเวณคอ รักแร้ และขาหนีบ) มีผื่นหรือตุ่มกลายเป็นตุ่มน้ำหรือตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือทวารหนัก หรือบริเวณรอบ ๆ ตามมือ เท้า หน้าอก ใบหน้า หรือบริเวณปาก ให้รีบเข้ารับการตรวจที่สถานบริการสุขภาพ หรือโรงพยาบาลทันที โดยแจ้งอาการและประวัติเสี่ยงเพื่อประกอบการวินิจฉัย

3. กลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำต้องระวัง

กลุ่มเสี่ยงที่หากติดเชื้อฝีดาษลิงแล้วมีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการรุนแรง ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือด ผู้ป่วยมะเร็งอวัยวะต่าง ๆ ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ เด็กอายุน้อยกว่า 8 ปี และผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำอื่น ๆ เช่น กลุ่มที่ได้รับยาที่กดภูมิต้านทาน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มหญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ระหว่างให้นมบุตร

โดยผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรายแรกที่เสียชีวิตในไทย เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย ซึ่งมีผลทำให้เกิดการแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นได้

4. “ฝีดาษลิง” ติดต่ออย่างไร ? ป้องกันอย่างไร ? และหากพบว่าตัวเองมีภาวะเสี่ยงต้องทำอย่างไรบ้าง ?

ฝีดาษลิงสามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่ง ข้อแนะนำในการป้องกันโรคฝีดาษลิงยังคงเป็นการหลีกเลี่ยงการสัมผัสแบบแนบชิดกับผู้อื่น คนแปลกหน้า โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งหรือตุ่มหนอง รวมถึงงดการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า แม้จะสวมถุงยางอนามัยก็สามารถติดเชื้อจากการสัมผัสตุ่มหนองได้ การล้างมือบ่อย ๆ รวมทั้งไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ก็ยังมีส่วนช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการสัมผัสทางอ้อมได้อีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม หากคุณพบว่าตัวเองเริ่มมีอาการป่วยหรือมีความเสี่ยงที่น่าสงสัย คุณควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องใกล้ชิดกับบุคคลอื่น ใส่เสื้อผ้าที่ปกคลุมรอยโรค หรือตุ่มต่าง ๆ ด้วยเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว เพื่อป้องกันการติดต่อถึงผู้อื่น หรือหากมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำในการปฏิบัติตนเพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

5. “ฝีดาษลิง” ป่วยแล้วมีการรักษาอย่างไร ?

เมื่อสำรวจตัวเองแล้วพบอาการป่วยข้างต้น ได้แก่ มีไข้ ปวดเมื่อย มีตุ่มแดง ตุ่มหนองต่าง ๆ สามารถเข้ารับการคัดกรองที่หน่วยบริการสุขภาพในพื้นที่ ซึ่งหากตรวจแล้วเข้าเกณฑ์ “ผู้ป่วยสงสัย” จะได้รับการตรวจไวรัสเพื่อยืนยันและได้รับการรักษาตามอาการต่อไป 
ตามแนวทางของกรมการแพทย์ปัจจุบันนี้ (31 ก.ค. 65) หากมีการตรวจพบเชื้อไวรัส จะให้ผู้ป่วยเข้าแอดมิททุกรายและแยกรักษาตัวในห้องผู้ป่วยติดเชื้อ โดยระยะเวลาที่มีอาการของโรคจะอยู่ที่ประมาณ 2-4 สัปดาห์ แต่กรณีผู้ติดเชื้อจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง จะมีการให้ยาต้านไวรัสร่วมด้วย เพื่อลดความเสี่ยงอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ จนเมื่ออาการดีขึ้น รอยโรค แผล ผื่น ตุ่มตามผิวหนัง หายกลับมาเป็นปกติแล้ว จึงจะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
น่าห่วง! "ฝีดาษลิง" ส.ค.นี้เพิ่มอีก 145 คนต่ำสุดชายอายุ 16 ปี
"ฝีดาษลิง" พ้นสถานะ "ภาวะฉุกเฉิน" ด้านสาธารณสุขโลก
"หมอยง" เผยไทยป่วย "ฝีดาษวานร" 120 คน สูงสุดในอาเซียน
ปรับก่อนป่วย : เตรียมความพร้อม เฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง

ข้อมูลจาก
แนวทางปฏิบัติการวินิจฉัย การดูแลรักษาและการป้องกันการติดเชื้อ กรณีโรคฝีดาษวานร (Monkeypox) ฉบับ วันที่ 31 กรกฎาคม 2565 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
กรมควบคุมโรคเผยไทยมี 'ยารักษาฝีดาษวานร' ใช้กรณีผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีร่วม
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ฝีดาษลิงอัปเดตmpox
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ