จบลงแล้วสำหรับกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “พายเรือเก็บขยะจากต้นน้ำบางปะกงถึงปากอ่าวไทย” นำโดย ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล และทีมพายเรือธรรมศาสตร์ ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ เริ่มพายเรือจากต้นแม่น้ำบางปะกงในเขต อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ผ่านจังหวัดฉะเชิงเทรา และสิ้นสุดที่ปากอ่าวไทยในเขต จ.ชลบุรี รวมระยะทาง 240 กิโลเมตร โดยสามารถเก็บขยะได้มากถึง 2,428 กิโลกรัม
ซึ่งแม้โจทย์หลักของกิจกรรมนี้จะเน้นที่ปัญหาขยะในแม่น้ำบางปะกง แต่สำหรับ “กัญจน์ ทัตติยกุล” ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำบางปะกง ในฐานะหนึ่งในองค์กรร่วมจัดกิจกรรมนี้ บอกว่า จริงๆ แล้วยังมีอีกโจทย์ที่ฝังลึกอยู่ในชุมชนตลอดสองฝั่งน้ำ ซึ่งก็เป็นปัญหาที่ซับซ้อนและสำคัญเหมือนกัน
หลายปัญหาคุกคามแม่น้ำบางปะกง
กัญจน์ กล่าวว่า เรื่องแรกคือปัญหาคุณภาพน้ำ จากการใช้ประโยชน์ของมนุษย์มากขึ้น มีชุมชนมากขึ้น มีขยะมากขึ้น ภาคเกษตรก็มีการใช้สารเคมีมากขึ้น โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งก็ตั้งอยู่ริมน้ำ ก็ทำให้คุณภาพน้ำบางปะกงเสื่อมโทรมลง
“อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่อาจจะมองไม่เห็นเหมือนขยะที่ลอยน้ำ
เพราะเป็นเรื่องคุณภาพน้ำที่เราดูว่าเหมือนน้ำจะดีๆ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่”
เรื่องที่สอง ปัญหาการบริหารจัดการน้ำ ปัญหาตลิ่งพังบริเวณต้นแม่น้ำ ที่หลายคนเข้าใจว่า สาเหตุเกิดจากกระแสน้ำที่แรงและเชี่ยว แต่ความจริงแล้วมาจากการที่น้ำถูกกักไว้ด้วยอ่างเก็บน้ำ ประตูกั้นน้ำ หรือคันกั้นน้ำ ทำให้เวลาฝนตกแล้วมีน้ำเยอะ น้ำก็ไหลมารวมที่แม่น้ำสายหลัก ทำให้น้ำในแม่น้ำขึ้นสูงมาก
แต่พอมีการระบายน้ำออกไป น้ำก็ลดระดับเร็วแบบที่ชาวบ้านไม่เคยพบเจอมาก่อน สัปดาห์เดียวลด 7 เมตร ลักษณะแบบนี้ไม่มีตลิ่งไหนธรรมชาติไหนที่จะอยู่ได้ เพราะน้ำที่อุ้มไว้เต็มอยู่ในตลิ่งที่เป็นทราย พอน้ำลดฮวบ ทรายที่อุ้มน้ำไว้ก็ร่วง และเป็นสาเหตุที่ทำให้ตลิ่งพัง ไม่ใช่เพราะกระแสน้ำพุ่งชนจนพัง
ปัญหาการบริหารจัดการน้ำยังคาบเกี่ยวกับเรื่องของน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม ในอดีตช่วงเวลาของทั้งสามน้ำจะไม่แตกต่างกันมากในแต่ละปี อาจจะมีบางปีที่ฝนน้อย ก็จะทำให้ช่วงน้ำเค็มมีเวลานานมากกว่า แต่ปัจจุบันมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อย่างบริเวณจังหวัดฉะเชิงเทรา มีบางปีที่น้ำไม่เค็มเลย จนชาวบ้านบอกว่าในช่วงชีวิตไม่เคยเจอที่ไหนที่มีน้ำจืดทั้งปี
“น้ำทั้งหมดที่ใช้ในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมาจากแม่น้ำบางปะกง แต่ปีไหนที่น้ำเค็มรุกขึ้นไปถึงเมืองปราจีน โรงพยาบาลก็จะมีปัญหา และปัญหาก็เริ่มจะเกิดบ่อยขึ้น และรู้สึกว่าจะมีโอกาสที่เกิดความรุนแรงของปัญหามาก”
เรื่องที่สามที่ กัญจน์ คิดว่าอาจจะเป็นต้นทางปัญหา แต่กลับไม่ค่อยถูกพูดถึงคือ การใช้ประโยชน์ที่ดินในลุ่มน้ำบางปะกง ที่ควรจะมีการจัดโซนนิ่ง และแนวทางการใช้ประโยชน์ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ แทนที่จะใช้ประโยชน์ด้วยการทำคันกั้นน้ำ หรือถมป่าชายน้ำ ป่าชายเลน
ปัญหานี้จะเห็นชัดเมื่อเข้าเขตเมืองปราจีนบุรี กัญจน์ พบว่าช่วงที่พายเรือเข้าเขตนี้ กระแสน้ำจะไหลแรงกว่าปกติ สาเหตุสำคัญอาจมาจากเขื่อนปูนริมตลิ่งทำให้แม่น้ำแคบลงเหมือนคอขวด ทำให้น้ำไหลเชี่ยวมากขึ้น
“มันอาจจะช่วยคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง อย่างคันกั้นน้ำสำหรับเมือง แต่มันส่งผลกระทบมากมายกับคนส่วนใหญ่ในลุ่มน้ำบางปะกง เพราะฉะนั้นเราควรจะหาวิธีการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่คำนึงถึงทุกคน และดูเฉลี่ยให้ไม่มีใครต้องรับผลกระทบมากนัก”
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำบางปะกง เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ กัญจน์ คาดหวังว่าจะถูกนำไปพูดคุยมากขึ้นหลังจากนี้ เขาพบว่าขณะนี้สภาพอากาศที่แปรปรวนได้ส่งผลกระทบที่เป็นรูปธรรมต่อลุ่มน้ำบางปะกงแล้ว และต้องเร่งหามาตรการรับมือ โดยเฉพาะผลจากการคาดคะเนหรือพยากรณ์สถานการณ์ได้ยากขึ้น
“ยกตัวอย่างปี 54 และ 56 ที่มีน้ำท่วมใหญ่ ก็เป็นปีที่เราเองก็อยากจะเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำให้ได้เยอะที่สุด เพื่อเอาไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง แต่ปรากฏว่ากลับมีฝนเดือนพฤศจิกายน น้ำที่อยู่ในอ่างแล้วที่เตรียมไว้ใช้หน้าแล้ง มันเกินระดับที่อ่างเก็บน้ำจะรับได้ ก็ต้องระบาย พอระบายหนักมันกลายเป็นท่วม”
ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มีผลกระทบเฉพาะชาวนาเท่านั้น แต่ภาคเกษตรผลไม้ที่ภาคตะวันออกเป็นแหล่งผลิตสำคัญก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน สวนผลไม้ซึ่งเป็นพืชยืนต้น และใช้เวลาฟื้นฟูนาน 4 – 5 ปี ล้มตายจำนวนมากในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554
กัญจน์ ยืนยันว่า ต้องคำนึงถึงกลุ่มนี้ด้วย เพราะไม่ได้เป็นพืชระยะสั้นที่ปลูก 3-4 เดือนแล้วก็เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ชาวสวนผลไม้หลายคนบอกกับเขาว่า ไม่อยากได้ค่าชดเชยเยียวยา แต่เขาอยากได้ธรรมชาติที่มันไม่ผันผวนที่เกินกว่าที่เขาจะรับมือได้
ฟื้นต้นน้ำ ทางแก้ยั่งยืน
แม้จะเป็นโจทย์ยาก แต่ กัญจน์ มองว่ายังมีทางแก้ วิธีที่ง่ายที่สุดและอาจจะใช้ทุนน้อย คือจัดการที่ต้นทาง เช่น การรักษาพื้นที่ต้นน้ำ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่า หรือเป็นพื้นที่ๆ เคยมีสภาพเป็นป่า แต่ยังสามารถฟื้นฟูกลับมาได้และบางพื้นที่อาจจะสามารถผนวกเรื่องเศรษฐกิจ เช่น แนวคิดป่าครอบครัว ที่ขณะนี้ก็พบว่าหลายคนในลุ่มน้ำบางปะกงเริ่มให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมระบบเกษตรยั่งยืนก็เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้
“ถ้าเรามีแหล่งซับน้ำที่ถาวรอย่างป่ามากขึ้น
ก็จะลดผลกระทบทั้งหลาย
รวมถึงไปจัดการที่ต้นเหตุเรื่องวิกฤตโลกร้อนได้ด้วย”
แต่สิ่งสำคัญที่ กัญจน์ ยืนยันว่า หากทำได้ก็จะสามารถรับมือได้ทุกวิกฤตที่กำลังประสบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นภัยจากมนุษย์ หรือภัยจากธรรมชาติ สิ่งนั้นคือ “ความร่วมมือ” เพราะไม่สามารถทำได้แค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ภาคใดภาคหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องมาปรึกษาหารือ วิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง และช่วยกันคิดว่า เราจะมีทางออกจากปัญหาเหล่านี้อย่างไร ที่ทำให้เป็นพลังสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง
“บางปะกงก็มีความคิดที่จะทำเวทีสุดยอดบางปะกง ชวนทั้งภาครัฐ ประชาชน ทุกภาคส่วน มาปรึกษาหารือกัน คิดว่าหลังจากนี้ก็อาจจะมีสุดยอดบางปะกงครั้งแรกที่เราจะได้รองริเริ่มต่อจากงานนี้ ซึ่งก็จะคุยในทุกปัญหา”
หลังจากนี้จะมีการหยิบยกเอาปัญหาของบางปะกงมาหาทางออกอย่างเป็นรูปธรรม และทำให้เกิดการดำเนินการได้จริง อาจจะเริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อน ทำให้เห็นผล และค่อยๆ ขยายผลในระยะเวลาต่อๆ ไป กัญจน์ คาดหวังว่า เสียงของบางปะกงน่าจะดังมากขึ้นหลังจากงานนี้ และเป็นเสียงที่ดังอย่างมีความหวังและมีเป้าหมายในท้ายที่สุด