เปิดความขัดแย้ง และสงครามที่โลกต้องจับตาปี 2023


รอบโลก

23 พ.ย. 66

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
เปิดความขัดแย้ง และสงครามที่โลกต้องจับตาปี 2023

“สงคราม” เป็นคำที่ผู้คนบนโลกไม่นิยมนัก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกในวันนี้ เต็มไปด้วย “ความขัดแย้ง” และยังคุกรุ่นไปด้วย “ไฟแห่งสงคราม” 

Thai PBS นำเรื่องราวความขัดแย้งที่โลกต้องจับตา เป็นสงครามที่กินระยะเวลายาวนาน และดูเหมือนว่า ยังมองหาคำว่า “สันติภาพ” ได้อย่างยากเย็น

อาร์เมเนีย – อาเซอร์ไบจาน

หนึ่งใน “ข้อพิพาททางพื้นที่” ที่กินระยะเวลายาวนาน เหตุเกิดหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ทำให้อาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจาน สองประเทศที่เคยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสหภาพโซเวียต ต่างได้รับเอกราชในครั้งนั้น แต่กลับเกิดปัญหาเรื่องดินแดนอันทับซ้อนของทั้งสองประเทศ

พื้นที่ดังกล่าวคือ  รัฐนากอร์โน-คาราบัค ซึ่งปัจจุบัน เป็นดินแดนของอาเซอร์ไบจาน ทว่าผู้คนที่อยู่ในพื้นที่แห่งนี้ กลับเป็นชาวอาร์เมเนียเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นชนวนเหตุให้ทั้งสองประเทศนี้กระทบกระทั่งกันเรื่อยมา 

การต่อสู้แย่งชิงพื้นที่ ส่งผลให้สูญเสียกำลังทหารนับหมื่นราย กระทั่งในปี 1994 รัสเซียได้เข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย แต่ทั้งสองประเทศยังมีเหตุปะทะกันบนพื้นที่อยู่เป็นระยะ

ล่าสุดในปี 2020 อาร์เมเนียและอาร์เซอร์ไบจาน เปิดฉากโจมตีใส่กันกินระยะเวลายาวนานกว่า 44 วัน ก่อนที่จะมีการเจรจาหยุดยิง และเป็นฝ่ายอาร์เมเนียที่ยอมคืนพื้นที่ “รัฐนากอร์โน-คาราบัค” ให้แก่อาร์เซอร์ไบจาน 

ภาพประชาชนอาร์เมเนีย

แต่ผ่านไปสองปี ทั้งสองประเทศก็ละเมิดสัญญาการหยุดยิง กลับมาปะทะกันอีกครั้ง มากไปกว่านั้น คือการปิดพื้นที่ “ระเบียงลาชิน” (Lachin corridor) เส้นทางบกทางเดียวที่เชื่อมต่อจากอาร์เมเนียเข้าไปสู่รัฐนากอร์โน-คาราบัค ส่งผลให้ชาวอาร์เมเนียในพื้นที่ดังกล่าว มีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ขาดแคลนทั้งอาหาร น้ำดื่ม รวมถึงน้ำมัน และข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น จนมีความกังวลว่า ประชากรอาร์เมเนียอาจอดตาย และการกระทำนี้อาจเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

แม้ปัจจุบันจะมีความพยายามในการเจรจาของผู้นำทั้งสองฝ่าย แต่สถานการณ์โดยรวมยังคงมีความตึงเครียด เพราะหากมองอีกมุมหนึ่ง รัฐนากอร์โน-คาราบัคแห่งนี้ ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ โดยเฉพาะการเป็นทางผ่านของท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญทางเศรษฐกิจของอาเซอร์ไบจานนั่นเอง

เซอร์เบีย – คอซอวอ

ปัญหาเรื่อง “พื้นที่” นำไปสู่ความขัดแย้งอีกหลายแห่งในโลก รวมถึงความขัดแย้งระหว่าง “เซอร์เบียและคอซอวอ” โดยต้นตอปัญหาเกิดขึ้นหลังจากที่คอซอวอได้รับเอกราชในปี 2008 แต่ดินแดนของคอซอวอ เคยเป็นส่วนหนึ่งของเซอร์เบียมาก่อน ทำให้มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นชาวเซอร์เบียอาศัยอยู่ในพื้นที่ แถมยังมากกว่าคนเชื้อสายแอลแบเนีย ที่เป็นเชื้อสายหลักของชาวคอซอวออีกด้วย

เมื่อชาวเซิร์บที่อยู่ในคอซอวอไม่ยอมรับในสถานภาพตัวเอง แถมยังขึ้นตรงต่อรัฐบาลเซอร์เบีย จึงเกิดความไม่ลงรอยกัน และนำมาซึ่งเหตุการณ์ปะทะกับเจ้าหน้าที่ในคอซอวอเรื่อยมา 

ภาพการตั้งด่านบริเวณชายแดนเซอร์เบีย-คอซอวอ

ล่าสุดมีเหตุการณ์ประท้วง เนื่องจากทางการคอซอวอต้องการให้ชาวเซอร์เบียที่อยู่ในดินแดน เปลี่ยนป้ายทะเบียนรถยนต์ที่ออกโดยทางการคอซอวอเท่านั้น (ที่ผ่านมา ชาวเซิร์บในคอซอวอใช้ป้ายทะเบียนรถที่ออกโดยทางการเซอร์เบีย) จึงเป็นชนวนเหตุให้เกิดการประท้วงอย่างรุนแรงขึ้น 

แม้จะมีความพยายามเข้ามาไกล่เกลี่ยโดยสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) รวมถึงชาติมหาอำนาจหลายประเทศ แต่ความบาดหมางของทั้งสองดินแดนยังคงคุกรุ่น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลุ่มชาติพันธุ์ในคอซอวอ ยังมีความกังวลเรื่องความมั่นคงในชีวิต รวมถึงการต้องเสียสิทธิประโยชน์หลายอย่างที่เคยได้รับจากรัฐบาลเซอร์เบีย เป็นเหตุให้ความขัดแย้งนี้ยังไม่มีท่าทีจะยุติลง

รัสเซีย – ยูเครน

24 กุมภาพันธ์ 2022 ถือเป็นวันครบรอบ 1 ปี ที่รัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครนอย่างเต็มรูปแบบ เหตุการณ์ยังคงยืดเยื้อ และนำมาซึ่งการสูญเสียมากมาย

ความขัดแย้งนี้ เกิดขึ้นจากการแยกตัวออกเป็นรัฐอิสระของ “โดเนสต์” และ “ลูฮันสก์” สองแคว้นด้านตะวันออกของยูเครน เป็นเหตุให้รัฐบาลยูเครนไม่พอใจ เนื่องจากสองดินแดนนี้ ได้รับการหนุนหลังโดยรัสเซีย

จากความขัดแย้งนี้เอง ส่งผลให้เกิดการปะทะภายในพื้นที่ดังกล่าวเรื่อยมา ขณะเดียวกัน ยูเครนในการนำของ นายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี มีทีท่าจะนำประเทศเข้าเป็นสมาชิกนาโด เป็นเหตุให้รัสเซียไม่พึงพอใจเช่นกัน เนื่องจากรัสเซียยังมองว่า ยูเครน เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียมาโดยตลอด

ภาพนายโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน

กระทั่ง 24 กุมภาพันธ์ 2022 รัสเซียที่นำโดย ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ยูเครนปลอดทหาร และเป็นการปกป้องชาวรัสเซีย รวมถึงขัดขวางการสมัครเข้าเป็นสมาชิกนาโตของยูเครน 

ภาพกองกำลังทหารยูเครน

จากจุดเริ่มต้นของสงคราม นำพามาด้วยความสูญเสียเป็นจำนวนมาก องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ประเมินว่า จนถึงขณะนี้ประชาชนในยูเครนเสียชีวิตมากกว่า 10,000 คน ด้านรัสเซียก็สูญเสียไม่น้อยเช่นกัน มีรายงานการเสียชีวิตของทหาร จำนวนมากกว่า 25,000 นาย ขณะเดียวกัน ยังมีการเพิ่มกำลังพลเข้าสู่สงครามอย่างต่อเนื่อง 

ความขัดแย้งดำเนินมาใกล้ครบ 2 ปี แต่ยังคงไม่มีทีท่าจะคลี่คลายลงแต่อย่างใด

อ่านข่าวความขัดแย้ง “รัสเซีย-ยูเครน” ทั้งหมดที่นี่ คลิก

อิสราเอล – ฮามาส

อีกหนึ่งความขัดแย้งที่กินระยะเวลายาวนานกว่า 70 ปี สำหรับข้อพิพาทบนพื้นที่ทับซ้อนระหว่าง “อิสราเอลและปาเลสไตน์” ที่ทั้งสองฝ่าย ต่างอ้างถึงความเป็นเจ้าของดินแดนเหมือนกัน 

หลังอิสราเอล ประกาศเอกราชเป็นประเทศในปี 1948 ชาวยิวจำนวนมากย้ายกลับมายังถิ่นฐานเดิมของตัวเอง หลังจากที่ต้องระหกระเหินจากเหตุการณ์การฆ่าล้างเผาพันธุ์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะเดียวกัน ปาเลสไตน์ในฐานะผู้ที่อาศัยในดินแดนแห่งนี้ เกิดความไม่พอใจ จนเป็นที่มาของกรณีการแบ่งแยกดินแดน โดยให้องค์การสหประชาติ (UN) เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย 

แต่จนแล้วจนรอด ทั้งสองฝ่ายยังเปิดฉากการโจมตีใส่กันเรื่อยมา โดยเฉพาะบริเวณ “ฉนวนกาซา” ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นพื้นที่กันชน คั่นระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์  

ภาพชาวปาเลสไตน์

ต่อมาปาเลสไตน์มีกองกำลังติดอาวุธ มีชื่อว่า องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) โดยมีความพยายามหาแนวทางเจรจาต่อรองกับอิสราเอล แต่เหตุการณ์กลับเลวร้ายลง เมื่อต่อมาเกิดกองกำลังติดอาวุธขึ้นใหม่ มีชื่อว่า “กลุ่มฮามาส” เป็นกองกำลังที่มีท่าทีที่แข็งกร้าวกว่ากลุ่ม PLO ซึ่งต่อมากลุ่มฮามาสได้ยึดฉนวนกาซาเป็นพื้นที่ปกครอง ทำให้มีเหตุการณ์ปะทะกับอิสราเอลตลอดมา

ภาพการเปิดฉากโจมตีอิสราเอล

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 กลุ่มฮามาสได้เปิดฉากโจมตีอิสราเอล ด้วยจรวดขีปนาวุธจำนวนราว 2,200 ลูก ทำให้พื้นที่หลายแห่งเสียหาย และมีผู้คนล้มตายจำนวนมาก เป็นเหตุให้ทางการอิสราเอล เรียกทหารกองหนุนเข้าประจำการกว่า 465,000 นายทั่วประเทศ รวมทั้งยังเรียกกำลังพลสำรองอีกกว่า 300,000 นาย และส่งทหารกองหนุนราว 100,000 นาย ไปยังชายแดนทางใต้ที่ติดกับฉนวนกาซา เพื่อเปิดฉากการสู้รบกับกลุ่มฮามาสทันที 

การเผชิญหน้ากันยังคงเป็นไปอย่างดุเดือด มีการจับตัวประกันเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะมีความพยายามในการเจรจาปล่อยตัวประกัน และนัดหยุดยิง 

แต่ถึงตอนนี้ ยังไม่มีการการันตีใด ๆ ที่พอจะสรุปได้ว่า ทั้งสองฝ่ายจะยุติความขัดแย้งนี้ ตราบใดที่การอ้างสิทธิ์บนดินแดนทับซ้อนนี้ยังคงดำเนินต่อไป

อ่านข่าวความขัดแย้ง “อิสราเอล-ฮามาส” ทั้งหมดที่นี่ คลิก

ความขัดแย้งยังปูพรมเกิดขึ้นอีกหลายแห่งในโลก

นับถึงเวลานี้ ยังมีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นอีกมากมายในโลก ไม่ว่าจะเป็นชาติในแอฟริกา ที่มีปัญหาการเมืองภายในประเทศ หรือที่เรียกว่า “ลูกโซรัฐประหารแอฟริกา” เช่น ซูดาน มาลี กินี บูร์กินาฟาโซ ชาด ไนเจอร์ และกาบอง ที่นำไปสู่ความรุนแรง ตลอดจนการถูกแทรกแซงจากผู้ไม่หวังดี 

ภาพความขัดแย้งในซูดาน

นอกจากนี้ ปัญหา “ข้อพิพาททะเลจีนใต้” ที่ว่ากันด้วยการแบ่งกรรมสิทธิ์ เขตแดนบนน่านน้ำทางทะเลระหว่างจีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไต้หวัน ยังเป็นปัญหาที่ต่อเนื่อง 

เหลียวมามองย่านอาเซียน ปัญหาความขัดแย้งของกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมากับกองทัพทหารรัฐบาล ก็ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล ด้าน อัฟกานิสถาน ที่อยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบันมากว่า 2 ปี ก็ต้องจับตาดูสถานการณ์ความไม่สงบกันต่อไป

ดูภาพรวมความขัดแย้งในโลกได้ที่ Global Conflict Tracker 

แม้โลกจะวิวัฒนาการไปไกลสักแค่ไหน แต่ดูเหมือนว่า มนุษย์ยังคง “ห้ำหั่น” ไม่ต่างจากเมื่อหลายร้อยปีก่อน สันติภาพและความสงบสุข อาจเป็นแค่ภาพลวงตา หากผู้คนยังรู้จักเพียงแค่การ “เดินหน้าเข้าหากัน” โดยไม่พยายามเรียนรู้และเตือนสติตัวเองว่า “สุดท้ายเราทุกคนล้วนต้องไปจากโลกนี้” 

ไม่มีชีวิตใดอยู่ยงค้ำฟ้า เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่าง “สันติวิธี” เป็นทางออกที่ดีที่สุด

แหล่งข้อมูล
-Countries Currently at War 2023 
-ฮามาสคือใคร เกี่ยวข้องกับอิสราเอล-ปาเลสไตน์อย่างไร และสารพัดคำถามที่เกี่ยวข้อง 
-จุดเริ่มต้นความขัดแย้งรัสเซีย – ยูเครน 
-ใครเป็นใคร? ในศึก ”ฮามาสโจมตีอิสราเอล” 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สงครามความขัดแย้งสงครามรัสเซียยูเครน สงครามอิสราเอล-ฮามาส
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ