ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ฝีมือคนไทย ! ชวนยลภาพ “ซากซูเปอร์โนวาเวลา”


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

6 ธ.ค. 66

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

ฝีมือคนไทย ! ชวนยลภาพ “ซากซูเปอร์โนวาเวลา”

https://www.thaipbs.or.th/now/content/556

ฝีมือคนไทย ! ชวนยลภาพ “ซากซูเปอร์โนวาเวลา”
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ภาพ “ซากซูเปอร์โนวา” สุดลึกลับอลังการฝีมือคนไทย ! ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2566 ประเภทวัตถุในห้วงอวกาศลึก (Deep Sky Objects)

“ซากซูเปอร์โนวาเวลา” (The Vela Supernova Remnant) ถ่ายโดย ผศ.ทพ.ดร.วีระพันธ์ อุ่นเมืองทอง เป็นซากซูเปอร์โนวาขนาดใหญ่ในกลุ่มดาวใบเรือ (Vela) กินพื้นที่กว้างประมาณ 100 ปีแสง อยู่ห่างออกไปจากโลกประมาณ 800 ปีแสง ถือเป็นหนึ่งในซากซูเปอร์โนวาที่อยู่ใกล้โลกของเราที่สุด เกิดการระเบิดขึ้นเมื่อประมาณ 11,000 - 12,300 ปีก่อน ส่งผลให้มีสสารกระจัดกระจายออกไปทุกทิศทาง และทิ้งใจกลางที่อัดแน่นเอาไว้เป็นดาวนิวตรอน (Neutron star)

“ซูเปอร์โนวา” คือการระเบิดของดาวฤกษ์มวลมากในช่วงสุดท้ายของชีวิต สสารที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของดาวฤกษ์จะพุ่งกระจายออกไปทุกทิศทางด้วยความเร็วสูง เกิดแสงสว่างวาบที่อาจสว่างเป็นพันล้านเท่าของดวงอาทิตย์ ก่อนจะค่อย ๆ จางหายไป ขณะที่ส่วนแก่นของดาวฤกษ์จะถูกอัดแน่นจนมีขนาดเล็กเพียง 20 กิโลเมตร แต่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 1.4 เท่า มีองค์ประกอบเป็นนิวตรอนเกือบทั้งหมด จึงเรียกดาวดังกล่าวว่า “ดาวนิวตรอน”

ปกติแล้วดาวนิวตรอนจะมีสนามแม่เหล็กที่รุนแรงมาก เมื่ออนุภาคที่มีประจุหลุดเข้าไปในสนามแม่เหล็กนี้ จะเกิดการเปล่งแสงในช่วงคลื่นวิทยุออกมาบริเวณขั้วของสนามแม่เหล็ก และหากขั้วของสนามแม่เหล็กไม่ตรงกันกับแกนการหมุนรอบตัวเองของดาวนิวตรอน จะทำให้แนวการเปล่งแสงส่ายไปเรื่อย ๆ คล้ายกับแสงที่เปล่งออกจากประภาคาร คนบนโลกจึงตรวจจับสัญญาณคลื่นวิทยุจากวัตถุประเภทนี้ได้เป็นห้วงจังหวะสั้น ๆ คล้ายกับชีพจร จึงเรียกดาวนิวตรอนประเภทนี้ว่า “พัลซาร์” (Pulsar)โดยพัลซาร์ที่อยู่ใจกลางเนบิวลาแห่งนี้มีชื่อว่า “Vela Pulsar” หมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วสูงถึง 11 รอบต่อวินาที นับเป็นหนึ่งในพัลซาร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในวงการนักดาราศาสตร์ เนื่องจากสามารถตรวจจับได้ง่าย และอยู่ท่ามกลางกลุ่มแก๊สเนบิวลาอันสวยงาม

ภาพนี้ใช้เวลาถ่ายภาพรวมกว่า 53 ชั่วโมง ผ่านฟิลเตอร์ SII Ha OIII เป็นจำนวน 4 Panel ดังนี้


- Panel ที่ 1 ผ่านฟิลเตอร์ Ha เป็นเวลา 6 ชั่วโมง, SII เป็นเวลา 5 ชั่วโมง และ OIII เป็นเวลา 5 ชั่วโมง
- Panel ที่ 2 ผ่านฟิลเตอร์ Ha เป็นเวลา 4 ชั่วโมง SII เป็นเวลา 4 ชั่วโมง และ OIII เป็นเวลา 4 ชั่วโมง
- Panel ที่ 3 ผ่านฟิลเตอร์ Ha เป็นเวลา 4 ชั่วโมง SII เป็นเวลา 5 ชั่วโมง และ OIII เป็นเวลา 4 ชั่วโมง
- Panel ที่ 4 ผ่านฟิลเตอร์ Ha เป็นเวลา 5 ชั่วโมง SII เป็นเวลา 3 ชั่วโมง และ OIII เป็นเวลา 4 ชั่วโมง

จากนั้นนำภาพที่ได้มาลดสัญญาณรบกวน และรวมภาพด้วยการ Stack ซึ่งจะใช้เทคนิคผสมสีแบบ Hubble Palette (SII: Red channel, Ha: Green channel, OIII: Blue channel)

รายละเอียดการถ่ายภาพ


วัน / เดือน / ปี ที่ถ่ายภาพ : วันที่ 21 ธ.ค. 65
เวลาที่ถ่ายภาพ : 00:09 น.
สถานที่ถ่ายภาพ : จ. สระแก้ว
อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ : กล้อง ASIZWO 6400MM, เลนส์ RedCat 71 350 mm f/4.9, ขาตั้งตามดาว iOptron CEM40EC
ขนาดรูรับแสง (Aperture) : 4.9
เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพ (Exposure Time / Shutter speed) : 53 hours
ความยาวโฟกัส (Focal Length): 350
อัตราส่วนทางยาวโฟกัส (Focal Ratio) : 4.9
ความไวแสง (ISO) : 100
ฟิลเตอร์ (Filter) : Ha SII OIII

🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS 

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ภาพ : ผศ.ทพ.ดร.วีระพันธ์ อุ่นเมืองทอง ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ประจำปี 2566 ประเภทวัตถุในห้วงอวกาศลึก (Deep Sky Objects)

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ซากซูเปอร์โนวาเวลาVelaThe Vela Supernova Remnantซากซูเปอร์โนวาซูเปอร์โนวาดาราศาสตร์Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphobT@thaipbs.or.th หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด