ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ลึกสุด-ใหญ่สุดในโลก ! จีนเปิดใช้ “ห้องแล็บใต้ดิน” เพื่อตรวจจับสสารมืด


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

8 ธ.ค. 66

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

ลึกสุด-ใหญ่สุดในโลก ! จีนเปิดใช้ “ห้องแล็บใต้ดิน” เพื่อตรวจจับสสารมืด

https://www.thaipbs.or.th/now/content/564

ลึกสุด-ใหญ่สุดในโลก ! จีนเปิดใช้ “ห้องแล็บใต้ดิน” เพื่อตรวจจับสสารมืด
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

จีนเปิดใช้งานห้องปฏิบัติการทางฟิสิกส์ ซึ่งตั้งอยู่ลึกลงไปใต้ดิน 2,400 เมตร ในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ เมื่อวานนี้ (7 ธ.ค. 66) โดยห้องปฏิบัติการแห่งนี้ถือเป็นห้องปฏิบัติการใต้ดินขนาดใหญ่ที่สุดและตั้งอยู่ลึกมากที่สุดในโลก

อุโมงค์ทางเข้าของห้องปฏิบัติการใต้ดินจิ่นผิง

คณะนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าห้องปฏิบัติการใต้ดินแห่งนี้จะเป็นพื้นที่ “สะอาด” สำหรับการแสวงหาสสารที่มองไม่เห็นหรือ “สสารมืด” (dark matter) โดยการตั้งอยู่ลึกลงไปใต้ดินอย่างมากจะช่วยสกัดกั้นรังสีคอสมิกส่วนใหญ่ที่เป็นอุปสรรคต่อการสังเกตการณ์

รายงานระบุว่าห้องปฏิบัติการใต้ดินลึกและรังสีพื้นหลังต่ำพิเศษสำหรับการทดลองทางฟิสิกส์แนวหน้า (DURF) ตั้งอยู่ข้างใต้ภูเขาจิ่นผิง แคว้นปกครองตนเองเหลียงซาน กลุ่มชาติพันธุ์อี๋ ของซื่อชวน มีความจุของห้องรวม 330,000 ลูกบาศก์เมตร

ระยะที่ 1 ของห้องปฏิบัติการใต้ดินจิ่นผิง

ห้องปฏิบัติการฯ จัดเป็นระยะที่ 2 ของห้องปฏิบัติการใต้ดินจิ่นผิงแห่งประเทศจีน เริ่มต้นก่อสร้างเดือน ธ.ค. 2020 และร่วมสร้างโดยมหาวิทยาลัยชิงหัว และบริษัท ยาหลง ริเวอร์ ไฮโดรพาวเวอร์ เดเวลอปเมนต์ จำกัด

ตำแหน่งที่ตั้งอยู่ลึกลงไปใต้ดินช่วยให้ห้องปฏิบัติการฯ สัมผัสกับรังสีคอสมิกในปริมาณเล็กน้อยมาก คิดเป็นหนึ่งร้อยในหนึ่งล้านของปริมาณการสัมผัสรังสีคอสมิกบนพื้นผิวโลก

เย่ว์เฉียน อาจารย์มหาวิทยาลัยฯ ระบุว่าห้องปฏิบัติการฯ มีจุดเด่นหลายประการ ทั้งปริมาณรังสีคอสมิกต่ำพิเศษ รังสีในสิ่งแวดล้อมต่ำมาก ความเข้มข้นของเรดอนต่ำมาก และพื้นที่สะอาดพิเศษ ซึ่งเกื้อหนุนการตรวจจับสสารมืด

ทั้งนี้ คณะนักวิทยาศาสตร์อนุมานว่าสสารที่มองเห็นได้คิดเป็นเพียงราวร้อยละ 5 ของจักรวาล ขณะสสารมืดและพลังงานมืดคิดเป็นราวร้อยละ 95 ของจักรวาล

ด้านในห้องปฏิบัติการใต้ดินจิ่นผิง.jpg

ปัจจุบันคณะนักวิจัยทีมแรกจาก 10 ทีม ซึ่งมาจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของจีน เช่น มหาวิทยาลัยชิงหัว และมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ เจียวทง ได้ประจำการอยู่ในห้องปฏิบัติการฯ เพื่อดำเนินการทดลองทางวิทยาศาสตร์แล้ว

เย่ว์กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการฯ จะเป็นศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์ใต้ดินลึกสหวิทยาการระดับโลก ซึ่งบูรณาการสาขาวิชาต่าง ๆ ทั้งฟิสิกส์อนุภาค ฟิสิกส์ดาราศาสตร์นิวเคลียร์ และชีววิทยาศาสตร์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การพัฒนาการวิจัยในสาขาแนวหน้าที่เกี่ยวข้องของจีน

อนึ่ง ระยะที่ 1 ของห้องปฏิบัติการใต้ดินจิ่นผิงแห่งประเทศจีนก่อสร้างเสร็จสิ้นและเปิดใช้งานเมื่อสิ้นปี 2010 มีความจุห้องราว 4,000 ลูกบาศก์เมตร และประสบผลสำเร็จทางวิทยาศาสตร์หลายรายการ ซึ่งยกระดับการทดลองตรวจจับสสารมืดของจีนสู่ระดับสูงบนเวทีโลก

🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ภาพซินหัว : อุโมงค์ทางเข้าของห้องปฏิบัติการใต้ดินจิ่นผิงแห่งประเทศจีน แคว้นปกครองตนเองเหลียงซาน กลุ่มชาติพันธุ์อี๋ มณฑลซื่อชวนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน วันที่ 8 พ.ย. 2023

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : Xinhua

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ห้องแล็บใต้ดินสสารมืดdark matterห้องปฏิบัติการทางฟิสิกส์วิทยาศาสตร์Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech ScienceSpace - Astronomy
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphobT@thaipbs.or.th หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด