ปัญหาร้ายแรง ! สำหรับน้อง ๆ หนู ๆ นักเรียน-นักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ เมื่องานวิจัยเผยว่า หากเราเบื่อหน่าย “การสอบ” เมื่อใด อาจส่งผลเสียไปถึง “คะแนน” ของตัวเองได้ เพราะฉะนั้นคิดมุมบวกเข้าไว้แล้วตั้งใจอ่านหนังสือสอบนะจ๊ะ
แม้นว่า “ห้องสอบ” จักไม่ใช่สถานที่นัมเบอร์วันที่หลายคนคิดว่าเป็นสภาพแวดล้อมสุดแสนน่าเบื่อ และมีความกดดันในการประสบความสำเร็จ (การสอบ) แต่จากงานวิจัยโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวียนนา (University of Vienna) ประเทศออสเตรีย ซึ่งได้ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Educational Psychology ทำให้เห็นว่าจริง ๆ แล้ว “ห้องสอบ” เป็นสถานที่น่าเบื่อมากสำหรับ “นักเรียน” ซึ่งมากเสียจนสามารถส่งผลกระทบต่อคะแนนของพวกเขาได้เลย
สำหรับการศึกษาครั้งนี้ ได้ทำการสำรวจนักเรียนชาวเยอรมัน 1,820 คน ซึ่งมีอายุระหว่างเกรด 5 ถึงเกรด 10 จากนั้นวิเคราะห์ทางสถิติของผลการสำรวจพบว่า นักเรียนมีความเบื่อหน่ายระหว่างการสอบในระดับที่มีนัยสำคัญ ซึ่งความเบื่อหน่ายในระดับสูงระหว่างการสอบมีแนวโน้มมากขึ้น เมื่อการสอบขาดความเกี่ยวข้องเป็นการส่วนตัวกับนักเรียน โดยเชื่อมโยงกับผลเสียดังกล่าวไปยังคะแนนของนักเรียนด้วย
โดยนักวิจัยได้เสนอสมมติฐานแก้ความเบื่อหน่ายนี้ ว่าอาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากนักเรียนมีความท้าทายมากเกินไป (ข้อสอบยากเกิน) หรือท้าทายน้อยเกินไป (ข้อสอบง่ายเกิน) ซึ่งคำแนะนำของ Thomas Götz นักจิตวิทยาหนึ่งในทีมวิจัย ได้กล่าวว่า เพื่อให้นักเรียนไม่เบื่อในการสอบ ต่อสู้กับความเบื่อหน่ายในการสอบ คุณครูควรเตรียมงานสอบในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับความเป็นจริงของชีวิตนักเรียนมาสอบ เพื่อให้เกิดความสนใจ ทำให้การสอบเข้าไปอยู่ในใจเด็ก นอกจากนี้การสอบไม่ควรท้าทายน้อยหรือท้าทายมากเกินไปด้วย
เนื่องจาก หากนักเรียนมีความท้าทายน้อย (ข้อสอบง่าย) การทำข้อสอบก็จะเป็นเรื่องง่าย นำไปสู่ความเบื่อหน่าย ในทางกลับกัน หากนักเรียนมีความท้าทายมากเกินไป (ข้อสอบยากไป) ความยากนั้นจะกระตุ้นให้เกิดความเบื่อหน่ายเช่นกัน เนื่องจากใช้ความรู้ที่มีจนหมดแต่ยังทำข้อสอบไม่ได้นั่นเอง
ทั้งนี้ งานวิจัยได้นำเสนอทางออกของการเบื่อหน่ายการสอบไว้ว่า นักเรียนต้องรู้จักการควบคุมอารมณ์แห่งความสำเร็จ (ให้อยู่เหนือการเรียน-การสอบ) ที่สำคัญต้องรับรู้ถึงคุณค่า (ความรู้สึกว่าการเรียน-การสอบเป็นสิ่งสำคัญ) เพื่อสร้างแรงจูงใจและหลีกเลี่ยงความเบื่อหน่าย
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : sciencealert