ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ดีเวลลอป “ดิจิทัล” รังสรรค์ “ระบบพิทักษ์ไพร” ตัวช่วยแก้ “บุกรุกป่า” ปัญหากัดกร่อนพื้นที่สีเขียวเมืองไทยอย่างมีประสิทธิภาพ


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

3 มี.ค. 66

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

ดีเวลลอป “ดิจิทัล” รังสรรค์ “ระบบพิทักษ์ไพร” ตัวช่วยแก้ “บุกรุกป่า” ปัญหากัดกร่อนพื้นที่สีเขียวเมืองไทยอย่างมีประสิทธิภาพ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/76

ดีเวลลอป “ดิจิทัล” รังสรรค์ “ระบบพิทักษ์ไพร” ตัวช่วยแก้ “บุกรุกป่า” ปัญหากัดกร่อนพื้นที่สีเขียวเมืองไทยอย่างมีประสิทธิภาพ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

     ปัญหาป่าทับที่คน..คนทับที่ป่า รวมถึงการแผ้วถางป่าเพื่อครอบครอง สร้างที่ทำกินของประชาชนและการเข้าไปยึดครองเพื่อหาประโยชน์ของนายทุน ได้ส่งผลกระทบทำให้ผืนป่าของประเทศไทยพื้นที่ลดน้อยลงเรื่อย ๆ จากการสำรวจของกรมป่าไม้ ปี 2564 มีพื้นที่ 102.35 ล้านไร่ หรือ 31.64% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ลดลงจากปี 2563 ซึ่งมีพื้นที่ป่าไม้ 31.68% ที่ 0.04% โดยมีการคาดการณ์ว่าปัจจุบันอาจมีการบุกรุกป่าหลายพันแห่งทั่วประเทศ และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น

     เมื่อจำนวนป่าไม้ลดลงเรื่อย ๆ เราจะสังเกตได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change), ภาวะโลกร้อน (Global Warming) ทุกฝ่ายจึงต้องเร่งคืนความสมดุลให้กับโลกโดยด่วน

     สำหรับประเทศไทย ได้มีการประกาศ “นโยบายป่าไม้แห่งชาติ” เพื่อให้มีการจัดการและพัฒนาทรัพยากรป่าไม้สามารถกระทำโดยต่อเนื่องในระยะยาวและประสานสอดคล้องกับการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติชนิดอื่น เพื่อให้ส่วนราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้มีความเข้าใจร่วมกันและถือเป็นแนวทางปฏิบัติ ในการทำให้มีป่าไม้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีการออกกฎหมาย พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 อีกด้วย แต่ถึงอย่างนั้นในทางปฏิบัติกลับยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร จึงต้องคิดหาแนวทางใหม่ ๆ ป้องกันบุกรุกป่าอย่างมีประสิทธิภาพ


โลกอยู่ในยุคดิจิทัล “บุกรุกป่า” ตรวจสอบได้ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ  
     ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน จึงมีการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น กลายเป็นไอเดียล้ำเลิศให้กับ กรมป่าไม้ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ในการพัฒนาระบบปฏิบัติการค้นหาพื้นที่บุกรุกด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือ “ระบบพิทักษ์ไพร” https://change.forest.go.th เพื่อค้นหาพื้นที่บุกรุกในลักษณะพร้อมใช้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์เคลื่อนที่ สนับสนุนการบริหารจัดการพื้นที่บุกรุกป่าไม้ รวมถึงการติดตามเฝ้าระวังรักษาป่าไม้ของประเทศ ประกอบด้วย การวิเคราะห์จุดต้องสงสัยบุกรุกป่าจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมในช่วงเวลาใกล้เคียงปัจจุบัน การคัดกรองข้อมูลจากชั้นข้อมูลภูมิสารสนเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง การแจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้เข้าปฏิบัติการ และการรายงานผลการตรวจสอบ

     ซึ่งกรมป่าไม้เองได้นำระบบฯ ไปใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศ ทวงคืนผืนป่าจากการบุกรุกทำลายป่าในพื้นที่รับผิดชอบ และประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการแจ้งชี้เป้าเมื่อพบการบุกรุกพื้นที่ป่าได้จากทางระบบเช่นเดียวกัน

     โดย “ระบบพิทักษ์ไพร” จะใช้ติดตามและค้นหาพื้นที่บุกรุกป่าจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดใหม่ ประมาณไม่เกิน 1 เดือน หรือมีการแจ้งเบาะแสมาจากประชาชน ในบริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484

สำหรับขั้นตอนการทำงาน จะใช้ข้อมูลจากข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม Landsat-8 และ Sentinel-2A/2B นำมาจำลองแบบพื้นที่ เช่น ค่าดัชนีพืชพรรณและพื้นดิน สู่การวิเคราะห์ข้อมูลหลายช่วงเวลา และชั้นคัดกรองข้อมูล จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ และรายงานผล
.

9 ข้อมูล ประกอบการวิเคราะห์จุดต้องสงสัย “บุกรุกป่า”
     1. ภาพถ่ายดาวเทียม 2 ช่วงเวลา
     2. พื้นที่ป่าไม้ ปี 2561
     3. ป่าสงวนแห่งชาติ
     4. อุทยานแห่งชาติ
     5. วนอุทยาน
     6. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
     7. เขตห้ามล่าสัตว์ป่า
     8. ป่าชายเลน
     9. พื้นที่รับผิดชอบของหน่วยป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า

15 ข้อมูล ประกอบการคัดกรองจุดต้องสงสัย “บุกรุกป่า”
     1. ภาพถ่ายทางอากาศ 5 ชั้นปี
     1.1 WWS ปี 2495 - 2499
     1.2 VAP-61 ปี 2509 - 2513
     1.3 NS3 ปี 2515 - 2522
     1.4 DOL ปี 2529 - 2544
     1.5 NIMA ปี 2539 – 2543

     2. ภาพถ่ายทางอากาศ (MOAC) ปี 2545
     3. ภาพถ่ายดาวเทียมจาก Google Earth
     4. จุดดำเนินคดี (กรมป่าไม้)
     5. ไร่หมุนเวียน ปี 2545 และ 2555 (กรมพัฒนาที่ดิน)
     6. การใช้ประโยชน์ที่ดิน (กรมพัฒนาที่ดิน)
     7. แปลงที่ดิน (กรมที่ดิน)
     8. พื้นที่ สปก. (สปก.)
     9. นิคมสหกรณ์ (กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ)
     10. นิคมสร้างตนเอง (กรมธนารักษ์)
     11. ที่ราชพัสดุ (กรมธนารักษ์)
     12. สวนป่า (องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ : ออป.)
     13. จุดคัดกรองจากระบบฯ (กรมป่าไม้)
     14. จุดบุกรุกเดิม ในรัศมี 500 เมตร
     15. พื้นที่ขออนุญาตใช้ประโยชน์ (ยังไม่มี)

     นอกจากจะมีกฎหมายและเทคโนโลยีเพื่อป้องกันห้ามปรามการบุกรุกป่าแล้ว พวกเราควรเป็นส่วนหนึ่งร่วมด้วยช่วยกันอนุรักษ์ป่าไม้ให้อยู่คู่กับมนุษย์ไปนาน ๆ เช่นกัน อาทิ  

     - ช่วยกันปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว
     - ช่วยป้องกันไฟไหม้ป่า เพราะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ป่าไม้ในประเทศไทย ลดลง โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อน
     - ไม่บุกรุกทำลายป่าไม้
     - ใช้วัสดุต่าง ๆ ทดแทนไม้ 
     - ใช้ไม้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุด

     อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ ปัจจัยที่จะช่วยแก้ปัญหา “บุกรุกป่า” อย่างยั่งยืนก็คือ การทำให้ “คนอยู่กับป่า” อย่างถูกต้อง เพราะคดีบุกรุกป่าส่วนใหญ่ในประเทศไทย แม้บางกรณีจะเป็นการบุกรุกใหม่แต่หลายกรณีชาวบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อนมีการประกาศเป็นเขตป่า ดังนั้นภาครัฐต้องสร้างความเข้าใจให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ พร้อมจัดสรรพื้นที่ทำกินเพื่อไม่ให้ชาวบ้านบุกรุกป่า อันจะส่งผลให้ “คนกับป่า” อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข


     ข้อมูลอ้างอิง : กรมป่าไม้, สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ระบบพิทักษ์ไพรบุกรุกป่า
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphobT@thaipbs.or.th หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด