ปกติเรามักได้ยินข่าวปล่อยจรวดบนพื้นดิน แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา “จีน” ได้ทำการปล่อยจรวดแบบ Sea Launch โดยการใช้พื้นที่ส่งจรวดจากฐานทางทะเล เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับระบบขนส่งอวกาศ ซึ่งจะมีอะไรน่าสนใจบ้าง Thai PBS Sci & Tech คัดสรรเรื่องราวมาให้แล้ว
เมื่อวันที่ 2-3 ก.พ. 67 China Great Wall Industry Corporation (CGWIC) และ China Academy of Launch Vehicle Technology (CALT) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ China Aerospace Science and Technology Corporation (CASC) รัฐวิสาหกิจด้านอวกาศขนาดใหญ่ของจีน ได้เชิญคณะผู้เชี่ยวชาญของ GISTDA ร่วมพิธีการปล่อยจรวดในรูปแบบ Sea Launch ณ เมือง Yangjian มณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
การปล่อยจรวดแบบ Sea Launch เป็นรูปแบบการขนส่งจรวดโดยใช้พื้นที่ส่งจรวดจากฐานทางทะเล ซึ่งสามารถเคลื่อนย้ายไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อหาตำแหน่งส่งจรวดที่เหมาะสมได้ยืดหยุ่นกว่าการส่งจรวดจากแผ่นดิน นับว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับระบบขนส่งอวกาศ ฝ่ายจีนแจ้งว่าการส่งจรวดครั้งนี้ ได้ติดตั้งดาวเทียมภายในจรวดเรียบร้อยแล้วและใช้ฐานส่งนี้ขนส่งจรวดมาจากศูนย์ประกอบ จุดเด่นของฐานส่งจรวดทางทะเลคือ มีเสถียรภาพสูง สามารถเคลื่อนย้ายออกไปส่งจรวดนอกฝั่งได้ไกล (ครั้งนี้อยู่ที่ระยะประมาณ 6-8 กิโลเมตรจากแผ่นดินใหญ่) โดยในอนาคตจีนจะขยายการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรค้างฟ้า (Geostationary Transfer Orbit, GTO) จากฐานส่งจรวดทางทะเลด้วยเช่นกัน
ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจีนให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันจีนยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายจรวดออกไปส่งนอกประเทศได้ ด้วยข้อจำกัดจากระบอบควบคุมเทคโนโลยีขีปนาวุธ (Missile Technology Control Regime, MTCR) ที่ควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงและวัสดุอุปกรณ์ที่อาจนำไปใช้ในการพัฒนาขีปนาวุธ ซึ่งจีนเคารพและปฏิบัติตามกรอบดังกล่าวแม้จะไม่ใช่ชาติสมาชิกก็ตาม ซึ่งการปล่อยจรวดของจีนในครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถส่งดาวเทียมจำนวน 9 ดวง ขึ้นสู่วงโคจรได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าหมาย
ในโอกาสนี้ ผู้เชี่ยวชาญของ GISTDA ยังได้หารือความร่วมมือกับผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญของ CGWIC, CALT และมีอัครราชทูตที่ปรึกษา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง เข้าร่วมการประชุมเพื่อติดตามและผลักดันความร่วมมือด้านอวกาศระหว่างไทยและจีนด้วย
โดยทั้งสองฝ่าย (ไทย-จีน) เห็นพ้องและมีความประสงค์ผลักดันความร่วมมือในอนาคตสำหรับประเด็นการร่วมวิจัยและพัฒนาดาวเทียม (สำรวจทรัพยากร) / การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากระบบดาวเทียมนำทางของจีน (Beidou) / การให้บริการท่าอวกาศยาน (Spaceport) ประเภทต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินการของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และพันธมิตรในการศึกษาเพิ่มเติมอีกมิตินอกเหนือจากการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งท่าอวกาศยานภาคพื้นดินในประเทศไทยอีกด้วย
อนึ่ง การขับเคลื่อน “อุตสาหกรรมอวกาศ” จำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงและมีความสัมพันธ์อันดีกับเครือข่ายทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งและความราบรื่นในการดำเนินงาน และจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนภารกิจและส่งเสริม New Space Economy ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยตลอดจนภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นการรักษาความสัมพันธ์และการพัฒนาต่อยอดความร่วมมือจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนก็เป็นหนึ่งใน strategic partners ที่สำคัญของไทยและมีความร่วมมือด้านอวกาศที่ประสบความสำเร็จร่วมกันมาอย่างยาวนาน อาทิ การมีบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านอวกาศกับสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration, CNSA) / การดำเนินหลักสูตรการศึกษานานาชาติร่วมระดับปริญญาโทด้านภูมิสารสนเทศ (SCGI Master Program) / การร่วมวิจัยและพัฒนาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อสังคมและเศรษฐกิจ / การจัดตั้งสถานีรับสัญญาณภาพถ่ายดาวเทียมและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในภูมิภาค / การสร้างความตระหนักด้านกิจการอวกาศ เป็นต้น การร่วมพิธีและหารือในครั้งนี้เป็นการเน้นย้ำความสัมพันธ์ไทย-จีน ด้านภารกิจอวกาศที่จะต่อยอดไปสู่การยกระดับการพัฒนาประเทศและภูมิภาคด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงจาก “อวกาศ” ต่อไป
📌อ่าน : อนาคตอาจปล่อยจรวดได้ทุกที่บนโลก “ไทย” ต้องเริ่มพัฒนา “โครงการอวกาศ” ตั้งแต่ตอนนี้
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)