ความอัศจรรย์ของธรรมชาติ Thai PBS Sci & Tech พาไปรู้จักกับ “สาหร่ายข้าวเหนียว” พืชกินแมลงแห่งผืนน้ำ ซึ่งจะมีความน่าสนใจอย่างไร ตามมาอ่านกันได้เลย
“สาหร่ายข้าวเหนียว” (𝙐𝙩𝙧𝙞𝙘𝙪𝙡𝙖𝙧𝙞𝙖 𝙖𝙪𝙧𝙚𝙖 Lour.) จัดอยู่ในกลุ่มของพืชกินแมลง พบได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำนิ่ง เป็นพืชในวงศ์สร้อยสุวรรณา (Lentibulariaceae) ในประเทศไทยพบเพียง 1 สกุล คือสกุล 𝙐𝙩𝙧𝙞𝙘𝙪𝙡𝙖𝙧𝙞𝙖 L. ยี่สิบกว่าชนิด แพร่กระจายทั่วประเทศทั้งบนบกและในน้ำ ชนิดที่อยู่บนบกพบขึ้นเป็นกลุ่มหนาแน่นตามลานหินเปิดโล่งที่มีน้ำขัง เกิดเป็นทุ่งดอกไม้กินแมลงในลานหินทรายที่ชื้นแฉะช่วงปลายฝนต้นหนาวที่สวยงาม เช่น ดุสิตา สร้อยสุวรรณา ทิพเกสร เป็นต้น บางชนิดเป็นพืชอิงอาศัยเกาะอยู่บนต้นไม้ใหญ่หรือบนก้อนหิน
โดย “สาหร่ายข้าวเหนียว” เป็นพรรณไม้น้ำหนึ่งในไม่กี่ชนิดที่เป็นพืชกินแมลงของไทย แต่ทุกชนิดที่พบล้วนมีโครงสร้างเหมือนกันคือถุงดักแมลง (bladder trap) หรือกับดักแบบถุงที่พัฒนามาจากส่วนของใบ เป็นลักษณะพิเศษเฉพาะที่มีอยู่ในพืชสกุลนี้เท่านั้นจึงมีชื่อสามัญว่า bladderwort โดยใบบางส่วนของ “สาหร่ายข้าวเหนียว” จะเปลี่ยนเป็นกระเปาะหรือถุงขนาดเล็กรูปไข่เบี้ยวแทรกอยู่ที่บริเวณก้านใบเป็นระยะ ๆ ใช้สำหรับดักจับแมลงหรือสัตว์น้ำตัวเล็ก ๆ เช่น โปรโตซัว หนอนน้ำ ไรน้ำ แมลงน้ำ และตัวอ่อนของแมลง เช่น ลูกน้ำของยุงชนิดต่าง ๆ เป็นอาหาร
“กลไกการจับเหยื่อ” ภายในถุงเป็นสุญญากาศ ตรงปากถุงมีส่วนที่ยื่นยาวออกมาคล้ายขนเส้นเล็ก ๆ ใช้สำหรับตรวจจับการเคลื่อนไหวของแมลงหรือสัตว์น้ำ เมื่อมีเหยื่ออยู่ใกล้ ๆ ปากถุงด้านนอกจะเปิดออกแล้วปล่อยสุญญากาศออกมาจากถุง ทำให้สัตว์ขนาดเล็กนั้นถูกดูดเข้าไปในถุงอย่างรวดเร็ว จากนั้นปากถุงจะปิดตัวลงโดยอัตโนมัติ
ภายในถุงนี้มีต่อมขนาดเล็กใช้ผลิตน้ำย่อยสำหรับย่อยเหยื่อที่จับได้ และดูดซึมสารอาหารเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์สำหรับการเจริญเติบโตต่อไป จึงนับเป็นพืชน้ำที่มีส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างสมดุลต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำด้วยการดักจับแมลงหรือสัตว์น้ำขนาดเล็ก
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
“สาหร่ายข้าวเหนียว” มีลำต้นทอดยาวได้ถึง 1 เมตร ใบเป็นเส้นเรียวเล็กเชื่อมกันเป็นพวง และมีใบที่เป็นรูปกระเปาะดักแมลงรูปไข่เบี้ยวแทรกอยู่เป็นระยะ ดอกสีเหลืองสด ออกเป็นช่อ ช่อละ 4 - 8 ดอก ก้านช่อดอกเจริญขึ้นมาเหนือผิวน้ำยาว 5 - 25 เซนติเมตร
กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ มีขนเล็ก ๆ ขึ้นปกคลุม ส่วนล่างยื่นเป็นจะงอย ตรงส่วนปลายแยกเป็น 2 ส่วน กลีบดอกส่วนด้านบนทรงค่อนข้างกลมและมีผิวเรียบ ตรงฐานดอกมีลายเส้นสีน้ำตาลแดง มีเกสรตัวผู้ 2 อันติดอยู่บริเวณกลีบดอก ส่วนเกสรตัวเมียมีรังไข่ตั้งอยู่บนฐานดอก รังไข่ 1 ช่อง ท่อรังไข่เป็นรูปกรวย ผลเป็นผลเดี่ยว รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 มิลลิเมตร เมื่อผลแก่ได้ที่จะแห้งและแตกออก ภายในผลมีเมล็ดอยู่จำนวนมาก โดยเมล็ดมีสีน้ำตาลและแบนเป็นทรงห้าเหลี่ยม มีขนาดประมาณ 1.5 - 2 มิลลิเมตร
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิงและรูปภาพ : นายวุฒินันท์ พวงสาย หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด จ.บุรีรัมย์