ทีมนักสัตววิทยาของจีนได้ระบุว่า “การกลายพันธุ์ในยีน” อาจเป็นต้นกำเนิดทางพันธุกรรมซึ่งส่งผลให้ “แพนด้ายักษ์” บางตัวมีขนสีน้ำตาลและสีขาวผิดปกติ
“แพนด้ายักษ์สีน้ำตาล” ตัวแรกของโลกถูกพบเมื่อปี 1985 บริเวณเทือกเขาฉินหลิ่ง ขณะภาพถ่ายแพนด้าป่าสีน้ำตาลทั้งหมดถูกบันทึกไว้ในบริเวณดังกล่าว ซึ่งตัวที่อยู่ภายใต้การเลี้ยงดูของมนุษย์ล่าสุดคือ “ชีไจ่” แพนด้ายักษ์ขนสีน้ำตาลและสีขาว เพศผู้ เกิดเมื่อปี 2009
คณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันสัตววิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ได้จัดลำดับข้อมูลทางพันธุกรรมของแพนด้า 3 วงศ์ที่มีความเชื่อมโยงกับ “ชีไจ่” รวมถึงแพนด้าอีก 29 ตัวที่มีสีดำและสีขาว
งานวิจัยที่แพร่ในวารสารวิชาการสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ (PNAS) เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่าการกลายพันธุ์ในยีนบีเอซีอี2 (Bace2) ซึ่งผลิตเอนไซม์ของโปรตีนตั้งต้น อาจเป็นต้นกำเนิดทางพันธุกรรมอันเป็นสาเหตุให้เกิดขนสีน้ำตาลและสีขาว
การวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมเพิ่มเติมจากแพนด้าเลี้ยงสีขาวดำ จำนวน 192 ตัว ชี้ให้เห็นว่าไม่มีแพนด้าตัวใดที่มียีนกลายพันธุ์ดังกล่าว นอกจากนี้แบบจำลองหนู (mouse model) ที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมด้วยยีนกลายพันธุ์ชนิดนี้ส่งผลให้ขนของหนูมีสีอ่อนด้วย
คณะนักวิจัยกล่าวว่าผลลัพธ์ที่ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกแบบพิเศษ เกี่ยวกับพื้นฐานทางพันธุกรรมของการเปลี่ยนแปลงสีขนของสัตว์ป่า และจะปูทางไปสู่การเพาะพันธุ์แพนด้าสีน้ำตาลหายากทางวิทยาศาสตร์
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ภาพซินหัว : ชีไจ่ แพนด้ายักษ์สีน้ำตาล ณ อุทยานวิทยาศาสตร์เปิดใหม่เพื่อการคุ้มครองสัตว์ป่าในอำเภอโจวจื้อ นครซีอัน มณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 28 พ.ค. 2021
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : Xinhua
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech