ส่อง Insight ไขสิ่งที่จะเกิดขึ้น เมื่อรัฐบาล “ยุบสภา”


เลือกตั้ง 66

20 มี.ค. 66

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
ส่อง Insight ไขสิ่งที่จะเกิดขึ้น เมื่อรัฐบาล “ยุบสภา”

     “ประเทศไทย” หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด เพื่อใช้เป็นกติกาในการปกครองประเทศฉบับแรก เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา
     ได้มีแบ่งอำนาจออกเป็น 3 ฝ่ายคือ อำนาจนิติบัญญัติ (รัฐสภา), อำนาจบริหาร (คณะรัฐมนตรี) และอำนาจตุลาการ (ศาล) โดยที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติจะมีอำนาจถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ฝ่ายบริหารจะถูกถ่วงดุลอำนาจ เช่น การตั้งกระทู้ถามในการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติอาจถูกถ่วงดุลด้วยการยุบสภา เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดใช้อำนาจและหน้าที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด

“ยุบสภา” อำนาจฝ่ายบริหาร (นายกรัฐมนตรี)
     สำหรับการ “ยุบสภา” ที่เราได้ยินบ่อย ๆ ในช่วงนี้ ก็คือการยุบสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพื่อคืนอำนาจอธิปไตยให้แก่ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง แล้วให้คนไทยที่มีสิทธิเลือกตั้ง เลือกตัวแทนของตนเองเข้ามาทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ชวนรู้จัก “มาตรา 103 รัฐธรรมนูญ 2560”
     สำหรับรัฐธรรมนูญที่ใช้ในปัจจุบันก็คือ ฉบับปี 2560 ซึ่งมาตรา 103 ได้บัญญัติไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอและสนองพระบรมราชโองการ
     ซึ่งการยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ให้กระทำได้เพียงครั้งเดียว และจะยุบสภาได้เฉพาะก่อนสภาสิ้นอายุเท่านั้น โดยจะมีผลทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สิ้นสุดลง หลังจากนั้นภายใน 5 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งใช้บังคับ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษา ไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ และวันเลือกตั้งต้องเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

รู้ไหม ? ประเทศไทย “ยุบสภา” มาแล้ว 14 ครั้ง
     สำหรับ “การยุบสภาผู้แทนราษฎร” พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ในประวัติศาสตร์การเมืองประเทศไทยได้มีการยุบสภามาแล้ว 14 ครั้ง ด้วยกันคือ

ยุบสภา.jpg

สาเหตุนำไปสู่การ “ยุบสภา”
     - ฝ่ายบริหารเกิดความขัดแย้งกับฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น ไม่ผ่านการออกกฎหมายสำคัญ
     - ส.ส. และ ส.ว. ทำงานร่วมกันไม่ได้ 
     - มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ หรือเพิ่มเติม เป็นต้น
     - เพื่อเร่งให้เกิดการเลือกตั้งเร็วขึ้น
     - ชิงความได้เปรียบทางการเมือง ช่วงรัฐบาลกำลังได้รับความนิยม เป็นต้น
     - จัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศไม่ได้
     - รัฐบาลบริหารประเทศผิดพลาดอย่างร้ายแรง
     - ประชาชนมีการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา

สิ่งที่จะเกิดขึ้น เมื่อมีการ “ยุบสภา”
     เมื่อประกาศ “ยุบสภา” มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่จะเกิดอะไรขึ้นบ้างตามมาดูกัน

      - ส.ส. สามารถย้ายสังกัดพรรคเพื่อเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันยุบสภา โดยไม่ต้องเป็นสมาชิกพรรคถึง 90 วัน เมื่อสภาครบวาระ
     - กกต. ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน
     - รัฐบาลชุดปัจจุบันจะกลายเป็น ‘รัฐบาลรักษาการ’ ไปจนกว่าจะมี “คณะรัฐมนตรีชุดใหม่” ซึ่งระหว่างเป็น ‘รัฐบาลรักษาการ’ มีสิ่งที่ห้ามทำ ดังต่อไปนี้
          - อนุมัติงานหรือโครงการ ที่มีผลผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป
          - แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ พนักงานหน่วยงานรัฐ - รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่
          - อนุมัติใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่าย กรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
          - ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการอันใดที่อาจมีผลต่อการเลือกตั้ง เช่น ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น, ไม่โอนงบประมาณเพื่อทำในลักษณะที่จะเป็นการแจกจ่ายให้กับประชาชน, ไม่ใช้เจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ๆ, ไม่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร เป็นต้น

ขณะที่ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะยังคงทำหน้าที่ต่อไป โดยมีรายละเอียดดังนี้
     - คงสิทธิเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, กรรมการองค์กรอิสระ แม้ไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
     - อำนาจตามหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์
      - ทำหน้าที่รัฐสภาประกาศตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงแต่งตั้ง (มาตรา 17) 
     - ทำหน้าที่รัฐสภาให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ปฏิญาณตน (มาตรา 19) 
     - ทำหน้าที่รัฐสภาเพื่อรับทราบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 (มาตรา 20) 
     - ทำหน้าที่รัฐสภาเพื่อรับทราบแต่งตั้งองค์พระรัชทายาท หรือให้ความเห็นชอบผู้สืบราชสันตติวงศ์เพื่อขึ้นทรงราชเป็นพระมหากษัตริย์ (มาตรา 21) 
     - ทำหน้าที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบประกาศสงคราม (มาตรา 177)

     เมื่อมีการ “ยุบสภา” เกิดขึ้น คนไทยทุกคนที่มีสิทธิ “เลือกตั้ง” ต้องไปใช้สิทธิ์เพื่อเลือกผู้แทนเข้าสภา เพราะการเลือกตั้งเป็นสิทธิและหน้าที่ของคนไทยที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ (นับถึงวันเลือกตั้ง) พวกเราทุกคนจึงควรใช้ 1 สิทธิ์ 1 เสียงที่ตัวเองมี เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เข้ามาทำหน้าที่ผู้แทนประชาชนคนไทยในการบริหารประเทศ ใช้งบประมาณซึ่งมาจากภาษีให้เกิดประโยชน์สูงสุด พัฒนาบ้านเมือง - แก้ปัญหาต่าง ๆ ปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ดูแลทุกข์สุขความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้น


แหล่งข้อมูลอ้างอิง : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, สถาบันพระปกเกล้า, สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ยุบสภาผู้แทนราษฎรเลือกตั้งทั่วไป2566เลือกตั้ง66เลือกตั้ง 2566เลือกตั้ง 66เลือกอนาคตประเทศไทยยุบสภา
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover : (เซบา บาสตี้)