เวชศาสตร์ความดันบรรยากาศสูง หรือ Hyperbaric Medicine เป็นการรักษาทางการแพทย์ผ่านการบำบัดด้วยออกซิเจนความดันสูง ใช้ในการรักษาโรคและกลุ่มอาการที่มีความเกี่ยวข้องกับความดันบรรยากาศหรือความเข้มข้นของออกซิเจน ซึ่งนอกจากจะใช้รักษาโรคที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติแล้ว ยังใช้ในเวชศาสตร์ใต้น้ำ หรือ Diving Medicine สำหรับรักษานักประดาน้ำที่มีความผิดปกติทางร่างกายจากแรงดันหรือออกซิเจนจากการดำน้ำ
เวชศาสตร์ความดันบรรยากาศสูง คือการนำผู้ป่วยเข้าไปในห้องความดันซึ่งจะอัดแรงดันในห้อง (Ambient Pressure) ให้สูงกว่าแรงดันบรรยากาศปกติ (Atmospheric Pressure) แบ่งได้เป็นสองชนิดหลัก ๆ คือ การบำบัดด้วยอากาศ (Hyperbaric Air: HBA) และ การบำบัดด้วยออกซิเจน (Hyperbaric Oxygen Therapy: HBOT)
HBA ใช้อากาศปกติ (79% ไนโตรเจน และ 21% ออกซิเจน) ในการอัดความดันให้สูงกว่าปกติในห้องความดัน ขณะที่ HBOT ใช้ออกซิเจนบริสุทธิ์ (99% ออกซิเจน) ในการอัดความดันในห้องความดัน ทั้งสองชนิดมีการใช้งานแตกต่างกัน
HBA มักใช้ในผู้ที่ป่วยจากกลุ่มอาการแพ้ที่สูง (Altitude Sickness) เช่น ภาวะแพ้ที่สูงจากการปีนเขาสูง (Acute Mountain Sickness) พบได้ในผู้ที่ปีนเขาสูง เช่น เทือกเขาหิมาลัย ซึ่งมีอากาศเบาบางกว่าปกติ ทำให้นักปีนเขาได้รับออกซิเจนน้อยกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะสมองบวม (High-altitude Cerebral Edema: HACE) และภาวะปอดบวม (High-altitude Pulmonary Edema: HAPE) ผ่านกลไกการทดแทนปริมาณออกซิเจนของร่างกาย (Hypoxic Ventilatory Response) ซึ่งทำให้มีปริมาณเลือดไปแลกเปลี่ยนก๊าซที่ปอดเยอะเกินไปเพื่อทดแทนการขาดออกซิเจน แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ของเหลวรั่วออกจากหลอดเลือดด้วย จึงเกิดการบวมน้ำ
การรักษากลุ่มอาการแพ้ที่สูงทำได้ด้วยการ “Recompress” หรืออัดอากาศข้างเคียงเพื่อทำให้ผู้ป่วยเสมือนอยู่ในความดันบรรยากาศปกติหรือความดันที่มากกว่าปกติ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการลดความดัน (Decompression) ในนักปีนเขาที่ป่วยด้วยกลุ่มอาการแพ้ที่สูงระหว่างอยู่บนที่สูง สามารถทำได้ด้วยการใช้ถุงความดันแบบพกพา (Portable Hyperbaric Bag) เพื่อจำลองการลดความสูง (Effective Altitude) ระหว่างการขนย้ายผู้ป่วยกลับลงเขา
Hyperbaric Oxygen Therapy (HBOT) ใช้ในการรักษาโรคทางความดันซึ่งเกี่ยวข้องกับความเข้มข้นของก๊าซด้วย เช่น ภาวะมีฟองอากาศในกระแสเลือด (Gas Embolism) ภาวะสูดดมก๊าซไม่พึงประสงค์ เช่น ก๊าซคาร์บอนมอกนอกไซด์ (CO Poisoning) ภาวะติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ (Necrotizing fasciitis) ภาวะลดความดันจากการดำน้ำ (Decompression Sickness) และอื่น ๆ
ในภาวะฟองอากาศในกระแสเลือดและภาวะลดความดันจากการดำน้ำ มีการแสดงอาการทางคลินิกคล้ายกัน คือ มีฟองอากาศในกระแสเลือด ซึ่งในกรณีของการดำน้ำ เกิดจากการขึ้นสู่ผิวน้ำเร็วเกินไป ทำให้เกิดการลดความดันเฉียบพลัน ก๊าซที่ละลายในกระแสเลือด เช่น ไนโตรเจน จึงเปลี่ยนรูปกลับเป็นฟองก๊าซอย่างเฉียบพลัน และอาจไปอุดตันเส้นเลือดได้ เรียกกันโดยทั่วไปว่า โรคน้ำหนีบ
การรักษาด้วย HBOT ทำให้ความดันบรรยากาศสูงขึ้น ซึ่งทำให้ฟองก๊าซเหล่านี้ละลายกลับเข้าไปในกระแสเลือดเช่นเดิม จากนั้นจึงค่อย ๆ ลดความดัน กลับสู่ความดันบรรยากาศปกติเพื่อให้ก๊าซภายในกระแสเลือดค่อย ๆ ถูกขับออกจากร่างกายผ่านการหายใจอย่างช้า ๆ
ในภาวะได้รับคาร์บอนมอนอกไซด์มากเกินไป การรักษาด้วย HBOT ทำให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนมากขึ้นจากปริมาณออกซิเจนความเข้มข้น 99% ในขณะที่ความดันที่สูงขึ้น ก๊าซที่เป็นพิษจึงถูกขับออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น
ส่วนในโรคติดเชื้อแบคทีเรียภายนอก เช่น แบคทีเรียกินเนื้อ (Necrotizing Fasciitis) แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุการเกิดโรคเป็นแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic Bacteria) ความเข้มข้นของออกซิเจนสูงจะเป็นพิษต่อแบคทีเรียเหล่านี้ จึงใช้ในการรักษาในบางกรณี นอกจากนี้ปริมาณออกซิเจนที่สูงขึ้นในเนื้อเยื่อทำให้ร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อได้ดีขึ้น
การรักษาด้วย HBOT มักทำในห้องความดันแบบแคปซูล ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ในห้องความดันขนาดใหญ่ ทีมรักษาพยาบาลรวมถึงผู้ป่วยสามารถอยู่ด้วยกันได้ ทำให้สามารถรักษาได้ทันท่วงทีหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เนื่องจากการนำผู้ป่วยออกจะห้องความดันใช้เวลาและไม่สามารถลดความดันได้ทันที
เรียบเรียงโดย
Chottiwatt Jittprasong
Prince of Wales Hospital
Department of Orthopaedics & Traumatology
Faculty of Medicine, The Chinese University of Hong Kong
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech