"ทีมวอลเลย์บอลหญิงนิชิโบะ" เรื่องราวจาก "สาวโรงงานทอผ้า" สู่ "นักกีฬาโอลิมปิก"


Lifestyle

25 มี.ค. 66

พิชชา พึ่งพิบูลย์

Logo Thai PBS
"ทีมวอลเลย์บอลหญิงนิชิโบะ" เรื่องราวจาก "สาวโรงงานทอผ้า" สู่ "นักกีฬาโอลิมปิก"

ส่งท้ายเดือนมีนาคม เดือนแห่งการยกย่อง “วันสตรีสากล (International Women’s day)” ซึ่งที่มาของวันสำคัญนี้ เพื่อรำลึกและตระหนักถึงวันที่กลุ่มสตรีโรงงานทอผ้าในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ลุกฮือขึ้นประท้วง หลังจากที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ ทารุณ ขูดรีด จากนายจ้าง ที่เห็นความสำคัญของสินค้าหรือผลผลิตมากกว่าชีวิตคน 

จากเหตุการณ์ในจุดเริ่มต้น จึงเกิดการทบทวนในเรื่องสิทธิที่เท่าเทียมกัน รวมถึงการตระหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชนของสตรีอย่างสมบูรณ์มากขึ้น จนเป็นที่มาของ “วันสตรีสากล” ซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการยอมรับและยกย่องเหล่าสุภาพสตรีที่เต็มไปด้วยความสามารถมากมาย 

ไทยพีบีเอสจึงขอใช้โอกาสนี้หยิบยกสารคดีที่เล่าเรื่องราวของความสำเร็จระดับโลกที่เกิดขึ้นจริงของ “เหล่านักกีฬาวอลเลย์บอลหญิง” กลุ่มหนึ่ง พวกเธอคือ "ทีมวอลเลย์บอลหญิงนิชิโบะ"

จากผู้หญิงที่ทำงานในโรงงานทอผ้า พวกเธอรวมตัวกันเพื่อสร้างทีมวอลเลย์บอล จนสามารถสร้างชื่อเสียงและสถิติอันยิ่งใหญ่ โดยเมื่อย้อนเวลากลับไปในปี ค.ศ.1964 ประโยคที่พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ในเวลานั้น "แรงผลักดันที่มีมากกว่าแค่ศักดิ์ศรี” เป็นประโยคที่เขียนถึง "ทีมวอลเลย์บอลหญิงนิชิโบะ" จากเมืองไคซุกะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้รับฉายาจากประเทศคู่แข่งว่าเป็น แม่มดแห่งตะวันออก ด้วยสถิติการแข่งขันของทีมนิชิโบะ คือ ชนะ 258 นัดรวด ไม่แพ้ใคร รวมถึงนัดใหญ่ ๆ อย่างการแข่งขันชิงแชมป์วอลเลย์บอลโลก หรือโอลิมปิก พวกเธอก็สามารถเอาชนะมาได้อย่างต่อเนื่อง

เหตุการณ์ที่น่าเหลือเชื่อนี้จึงถูกยกให้เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวประวัติศาสตร์ด้านกีฬาที่แสดงถึงพลังนักสู้ของสตรี และเรื่องราวที่มาที่ไปของพวกเธอนั้นก็ไม่ธรรมดา และนั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมถึงได้รับฉายาว่า แม่มด เพราะพวกเธอราวกับมีพลังวิเศษ  สามารถทำอะไรที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่แล้วมันเกิดขึ้นกับพวกเธอ 

ในเวลาต่อมา เรื่องราวที่เป็นเหตุการณ์จริงนี้ ถูกนำมาสร้างเป็นสารคดีในชื่อ The Witches  of the Orient โดยบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงนิชิโบะ ในอีก 50 ปีต่อมา ว่าปัจจุบันสมาชิกทีมนิชิโบะ มีหน้าตา ความเป็นอยู่ กิจวัตรประจำวัน รวมทั้งสุขภาพของพวกเธอเป็นอย่างไรกันบ้างในช่วงบั้นปลายชีวิต 

และส่วนสำคัญในการดำเนินเรื่องคือการเล่าถึงอดีต ในขณะที่พวกเธอได้รับหน้าที่ให้ออกไปคว้าชัยชนะ เป็นความหวังของคนญี่ปุ่นทั้งประเทศ แต่กว่าจะผ่านความกดดันและยากลำบากนั้นมาได้ มีหลายเรื่องให้พวกเธอต้องหวนย้อนและฉายภาพในอดีตเหล่านั้นขึ้นมาในความทรงจำอีกครั้ง และถ่ายทอดออกมาผ่านเสียงบทสนทนากับกลุ่มเพื่อนสนิทอย่างเรียบง่ายและจริงใจ

จากเมืองโอซากะ ลงทางใต้ไปราว 30 นาที ใกล้กับสถานีฮิงาชิ ไคซุกะ มีโรงงานแห่งหนึ่งตั้งกลางทุ่งนา และที่นั่นเอง ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1953 ทีมวอลเลย์บอลหญิงนิชิโบะ ไคซุกะ ได้ถือกำเนิดขึ้น ผู้เล่นของทีมนี้ ตื่นเช้าตั้งแต่ 6 โมงครึ่ง พอ 8 โมงตรงพวกเธอเข้าโรงงาน และสี่โมงครึ่งของทุกวัน พวกเธอก็จะเปลี่ยนชุด เข้าโรงยิม เพื่อเริ่มฝึกซ้อม แล้วซ้อมต่อเนื่องจนถึงเที่ยงคืนหรือดึกกว่านั้น สำหรับนักกีฬากลุ่มนี้ นี่คือกิจวัตรประจำวัน ไม่มีวันหยุด

"ในตอนนั้น เอาเป็นว่านิชิโบะแห่งเมืองไคซุกะ เป็นที่สำหรับเล่นวอลเลย์บอล ทีมพวกเขาเก่งที่สุดในญี่ปุ่น วิธีการทำงานเป็นทีมของเราคือ ตัวสำรองต้องไปถึงสนามก่อน เริ่มจากคนที่อายุน้อยที่สุดในทีม ซึ่งก็คือฉัน" คัตสึมิ มัตสึมุระ แม่มดในทีมที่สวมเสื้อหมายเลข 7 กล่าวถึงทีม

โยชิโกะ มัตสึมุระ อีกหนึ่งสมาชิกในทีมบอกเล่าต่อว่า “ตอนนั้นพอเราถึงสนามบินฮาเนดะ หลังจากชนะรวด 22 แมตช์ มีกองทัพนักข่าวรออยู่ พวกเรา 9 คนยืนเรียงกัน ตัวจริง 6 คนกับตัวสำรองอีก 3 คน แต่ว่ามีช่างภาพคนหนึ่งพูดว่าพวกเราตัวสำรองเกะกะขวางทาง ให้เราออกไป พอได้ยินแบบนั้น ทั้งที่ทุ่มเทแข่งขันมาตลอด ฉันก็เดือดเลย”

"ตอนนั้นแหละที่ฉันได้รู้ว่า แค่ได้ลงเล่นยังไม่พอ ฉันต้องได้เป็นตัวจริงด้วย ไม่นานหลังจากกลับมาเส้นทางการเป็นนักวอลเลย์บอลของฉัน ก็เหมือนถูกกำหนดไว้แล้ว หนึ่งในตัวจริงตัดสินใจเลิกเล่น และฉันถูกเลือกให้เป็นตัวจริง ตอนนั้นฉันเพิ่งอายุย่าง 20 ปี เราต้องไปแข่งชิงแชมป์โลก ที่มอสโก ดังนั้นแน่นอนเลยว่าฉันต้องทุ่มเทสุดชีวิต ในการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการลงแข่งที่สุด" คุณโยชิโกะเล่าพลางระหว่างมองวิวนอกหน้าต่างรถบัสที่เคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ 

นักกีฬาหญิงทีมนิชิโบะทุกคน จะได้รับฉายาที่โค้ชไดมัตสึตั้งให้ เช่น ยูริโกะ ฮันดะ มีฉายาว่า “ปักเป้า”เพราะเธอหัวร้อนง่ายมาก หรือ คินุโกะ ทานาดะ ได้ฉายาว่า “ไพ่” ในไพ่นกกระจอก เพราะทันทีที่เธอเริ่มซ้อม แก้มจะเป็นสีแดงทันทีทันใด โดยพวกเธอยังกล่าวอีกว่า ฉายาเหล่านี้ เป็นฉายาที่คนในทีมและโค้ชเรียกกันเองเท่านั้น เพราะถ้าคนนอกเรียก พวกเธอก็จะโกรธเหมือนกัน

คัตสึมิ มัตสึมุระ ยังเล่าเสริมเกี่ยวกับเบื้องหลังความสำเร็จของทีมไว้อีกว่า การฝึกซ้อมอย่างการล้ม โค้ชไม่ได้เอาท่าล้มมาจากกีฬายูโด แต่น่าจะเป็นการล้มแบบตุ๊กตาดารุมะมากกว่า ตุ๊กตาล้มลุกที่เมื่อโดนผลักก็จะลุกขึ้นมาตั้งตรงทันที การที่จะเป็นหนึ่งในญี่ปุ่นได้ ต้องใช้เทคนิคใหม่ ๆ และการจะเป็นที่หนึ่งของโลก ต้องซ้อมจนมันสมบูรณ์แบบ ดังนั้นพวกเธอจึงทำตามกลยุทธ์ทุกอย่างของโค้ช และใช้เวลาฝึกซ้อมให้เยอะที่สุด เพื่อให้ร่างกายจดจำได้ ซึ่งพวกเธอเลือกแล้วที่จะเดินตามโค้ช และทำตามจนถึงที่สุด และพวกเธอก็ทำได้ ทุกอย่างมาจากการฝึกซ้อม

เรื่องราวในประวัติศาสตร์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีภาพของการโดนกดขี่หรือตีกรอบให้ผู้หญิงต้องทำตามขนบธรรมเนียมแบบดั้งเดิม แต่อย่างไรก็ตาม พวกเธอยังคงยืนหยัดฝึกซ้อมอย่างทรหดเพื่อผลงานที่สมบูรณ์แบบมากพอที่จะคว้าชัยชนะ เพื่อเป็นหลักฐานของการเป็นสตรีนักสู้ ที่มีความเก่งกาจได้ทัดเทียมมนุษย์ทุกคน 

ลบภาพจำของความอ่อนแอ เปราะบาง ไม่คล่องแคล่ว ที่เคยสื่อถึงเพศหญิงมาอย่างยาวนาน และอีกหลากหลายนัยยะสำคัญ ที่สาวโรงงานสู่นักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิกกลุ่มนี้ ได้ทำให้มันเกิดขึ้นเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก

 เราจึงอยากชวนทุกท่านมาร่วมเข้าใจ ขับเคลื่อน และร่วมเฉลิมฉลองความเป็นผู้หญิง ผ่านสารคดี “The Witches  of the Orient” ร่วมกัน สามารถรับชมได้ทาง : https://watch.vipa.me/yZB4H5FsZxb 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วอลเลย์บอลทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมวอลเลย์บอลหญิงญี่ปุ่น
พิชชา พึ่งพิบูลย์
ผู้เขียน: พิชชา พึ่งพิบูลย์

มีความชอบและรสนิยมที่ไม่ขึ้นกับยุคสมัย ตั้งใจใช้ชีวิตเพื่อรอคอยผลงานจากศิลปินคนโปรด และเชื่ออย่างสุดใจว่าการค้นพบสิ่งสนใจใหม่ ๆ คือขุมทรัพย์

บทความ NOW แนะนำ