ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

4 สาเหตุหลัก “น้ำท่วมหนัก” หลายจังหวัดภาคเหนือ


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

จิราภพ ทวีสูงส่ง

แชร์

4 สาเหตุหลัก “น้ำท่วมหนัก” หลายจังหวัดภาคเหนือ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2924

4 สาเหตุหลัก “น้ำท่วมหนัก” หลายจังหวัดภาคเหนือ

ขณะนี้เกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ด้วยความห่วงใย Thai PBS และ Thai PBS Sci & Tech จึงขอนำสาเหตุที่ช่วงนี้ “น้ำท่วมหนัก” ในภาคเหนือ หาทางรับมือน้ำท่วม รวมถึงป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น

ในเรื่องนี้ ดร.สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้ให้ความรู้ผ่านเฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat ไว้ 4 ข้อดังนี้ว่า

1. ป่าไม้ถูกทำลายและมีเขาหัวโล้นจำนวนมาก

ภาคเหนือ มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดในปี 2567 ถึง 63.24% ของสัดส่วนพื้นที่ในภูมิภาคหรือจำนวน 37,976,519.37 ไร่ แต่ถูกทำลายมากที่สุดโดยมีป่าไม้ ลดลงจากปี 2565 ถึง 171,143.04 ไร่ และลดลงจากปี 2566 ถึง 29,883.91ไร่ นอกจากนี้ ยังเป็นเขาหัวโล้นและบางแห่งปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพดถึง 8 ล้านกว่าไร่ โดยจังหวัดน่านมีเขาหัวโล้นมากที่สุดประมาณ1.8 ล้านไร่ เมื่อฝนตกลงมาไม่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ดูดซับน้ำไว้ จึงทำให้น้ำไหลลงสู่ที่ราบอย่างรวดเร็วและรุนแรง

2. ฝนตกหนักมากกว่าปกติ

ช่วงนี้มีร่องมรสุมความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและ สปป.ลาว ขณะที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดจากอ่าวไทยและทะเลอันดามัน มีกำลังค่อนข้างแรงพัดขึ้นไปโดยหอบเอาความชื้นจากทะเลไปปะทะกับร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือ จึงทำให้เกิดฝนตกหนัก นอกจากนี้การที่โลกร้อนขึ้นทุกปีทำให้มีความชื้นในบรรยากาศมากขึ้นโดยฝนจะตกเพิ่มขึ้นถึง 5% ในแต่ละครั้งเกิดฝนตกหนักและต่อเนื่องเป็นเวลานานทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำและลำคลองสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

3. ปรากฎการณ์ลานีญาอ่อน ๆ เข้ามาเสริม

ปรากฏการณ์ช่วงปลายของภาวะลานีญาของปีนี้ ทำให้เกิดฝนตกหนักมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ภาคเหนือมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ

4. การขยายตัวของเมือง

การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาพื้นที่รอบนอก ทำให้พื้นที่ราบลุ่มที่เคยเป็นที่รองรับน้ำถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ทำให้การระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพ และเกิดน้ำท่วมได้ง่ายขึ้น

ดังนั้นเมื่อเกิดฝนตกหนัก น้ำที่ไหลจากภูเขาสูง รวมทั้งภูเขาหัวโล้นที่อยู่รอบ ๆ ตัวเมืองจะไหลลงสู่พื้นที่ราบอย่างรวดเร็วและรุนแรงลงสู่พื้นที่ราบพัดพาดินโคนลงมาพร้อมกับน้ำด้วย จึงเห็นน้ำมีสีแดงขุ่นไหลลงท่วมบ้านเรือนที่อยู่ในพื้น ที่ราบก่อนจะสู่ลงลำน้ำสาขาต่าง ๆ หากลำน้ำทั้งหลายตื้นเขินหรือถูกบุกรุกโดยสร้างสิ่งก่อสร้างรุกล้ำ จะทำให้น้ำไหลไม่สะดวกและท่วมพื้นที่รอบข้างได้อย่างรวดเร็ว จังหวัดที่ถูกน้ำท่วมหนักมากในช่วงนี้คือจังหวัด น่าน เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง อุตรดิตถ์ เป็นต้น


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ดร.สนธิ คชวัฒน์

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ภาคเหนือน้ำท่วมภาคเหนือน้ำท่วมหนักภาคเหนือน้ำท่วมน้ำท่วมเชียงรายวิทย์น่ารู้วิทยาศาสตร์น่ารู้วิทยาศาสตร์Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech ฝนตกฝนตกหนักพายุLa Ninaลานีญาปรากฏการณ์ลานีญาScience
จิราภพ ทวีสูงส่ง

ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

"เซบา บาสตี้" เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส คนทำงานด้านการเขียน : Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphobT@thaipbs.or.th)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด