รวม "โศกนาฏกรรม" ที่นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลง


Insight

28 มี.ค. 67

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
รวม "โศกนาฏกรรม" ที่นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลง

จากเหตุเรือบรรทุกสินค้าชนตอม่อสะพานในเมืองบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ สหรัฐฯ เกิดเป็นโศกนาฏกรรมที่สร้างความสูญเสียมหาศาล ภาพอุบัติเหตุครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นสร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้คนทั่วโลก จนเกิดคำถามขึ้น เหตุดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้อีกหรือไม่ ? หรือเกิดขึ้นใกล้ตัวเราแค่ไหน ?

กลับมาที่ประเทศไทย ในอดีต เคยเกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่มาแล้วหลายครั้ง Thai PBS ชวนย้อนเหตุการณ์โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในประเทศไทย เราเรียนรู้อะไร ? และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง ?

โศกนาฏกรรมเคเดอร์ เพลิงไหม้ที่ก่อเกิดเป็นไฟแห่งสิทธิแรงงาน

เหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาของบริษัท เคเดอร์ อินดัสเทรียล (ไทยแลนด์) จำกัด เกิดขึ้นในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 มีผู้เสียชีวิตมากถึง 188 ชีวิต ถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน จุดประเด็นความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน จนเกิดการสืบสวนเจาะลึกเบื้องหลังเหตุร้าย

การค้นหาความจริงท่ามกลางเถ้าถ่านของซากปรัก คณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงฯ พบว่า โครงสร้างอาคารขาดมาตรฐาน มีเสาและคานที่ไม่มีวัสดุฉนวนหุ้มเสาเปลือย ทำให้เมื่อเกิดเพลิงไหม้ โครงสร้างจึงพังทลายลงมาอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาเพียง 15 นาที 
นอกจากนี้ โรงงานยังไม่มีบันไดหนีไฟ ไม่มีระบบแจ้งเตือนภัย บันไดภายในตัวอาคารมีขนาดเล็ก ทำให้การอพยพของแรงงานจำนวนมากทำได้อย่างยากลำบาก แรงงานจึงถูกกั้นด้วยควันและเปลวไฟ ไม่สามารถหนีได้ ทำให้บางคนเลือกกระโดดออกจากตัวอาคาร นำไปสู่การบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตจำนวนมาก

จากเหตุดังกล่าว เครือข่ายแรงงานรวมตัวกันเรียกร้องเงินชดเชย นำไปสู่ผลักดันให้รัฐบาลประกาศให้วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” ต่อยอดสู่ขบวนการแรงงานที่เข้าชื่อกันมากกว่า 50,000 รายชื่อ เรียกร้องให้รัฐบาลออก “พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ปี 2554” ในท้ายที่สุด

ภาพข่าวเหตุเพลิงไหม้ที่โรงงานเคเดอร์

ตึกถล่มโคราช บรรทัดฐานคดีต่อวงการก่อสร้าง

อีกเหตุเศร้าที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2536 คือโศกนาฏกรรมโรงแรมถล่มที่จังหวัดโคราช เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วขณะที่โรงแรมยังคงคราคร่ำไปด้วยผู้คน ทั้งจากการจัดประชุมสัมมนาของหน่วยงานราชการ บริษัทเอกชน รวมถึงแขกผู้เข้าพักและพนักงานที่ให้บริการ เพียงไม่ถึง 10 นาที อยู่ ๆ โรงแรมก็ถล่มลง ความช่วยเหลือเร่งรุดถึงที่เกิดเหตุ และพบว่าที่ใต้ซากปรักมีผู้เสียชีวิตมากถึง 137 ราย

เหตุดังกล่าวมีการสืบสวนจนพบสาเหตุว่า มาจากการก่อสร้างต่อเติมที่ทำให้เกิดปัญหาในส่วนฐานรากเป็นเวลานาน สิ่งที่ตามมาจากเหตุดังกล่าวคือการสูญเสียครั้งใหญ่ มีการฟ้องร้องเป็นคดีที่นำมาซึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีตึกถล่มในเวลาต่อมา โดยให้มีการลงโทษทางกฎหมายต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในงานก่อสร้างในเวลาต่อมาด้วยเช่นกัน

โรงแรมถล่มลงอย่างรวดเร็ว

“โป๊ะพรานนกถล่ม” จากเหตุสูญเสียสู่ความปลอดภัยในชีวิตที่รัฐต้องรับผิดชอบ

เหตุเศร้านี้เกิดขึ้นในช่วงปี 2538 ในเช้าวันพุธธรรมดา ๆ วันหนึ่งที่ทุกคนต่างเร่งรีบไปทำงาน เส้นทางสัญจรหนึ่งของหลากหลายชีวิตคือเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณโป๊ะท่าน้ำพรานนกนั่นเอง กลับมีผู้คนยืนรออยู่ที่โป๊ะปริมาณมากกว่าปกติของทุกวัน จากเหตุคำบอกเล่าพอปะติดปะต่อได้ว่า โป๊ะเริ่มเอียงก่อนที่เรือจะเข้าฝั่ง เกิดคลื่นซัดน้ำเข้ามาในทุ่น ซึ่งมีส่วนชำรุดที่ทำให้น้ำเข้าไปได้ ผลที่ตามมาจึงทำให้โป๊ะค่อย ๆ เอียงมากขึ้นและจมลง

ความตื่นตระหนกเกิดขึ้น มีการดึงกันเพื่อเอาชีวิตรอด หลังคาของโป๊ะกลายเป็นสิ่งกีดขวาง ซ้ำร้ายกว่านั้น ดวงไฟที่ติดตั้งไว้เพื่อให้แสงสว่าง ทำให้ทั้งผู้ที่ตกน้ำและนักประดาน้ำที่เข้าช่วยเหลือถูกไฟฟ้าช็อต เหตุดังกล่าวทำให้เกิดผู้เสียชีวิต 29 คน และถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง เนื่องจากเป็นเหตุเศร้าที่ไม่ควรเกิด ทั้งการปล่อยให้คนเข้าไปยืนที่โป๊ะมากเกินไป การชำรุดของอุปกรณ์ รวมถึงการมีหลังคาและไฟฟ้าที่โป๊ะ จนทำให้เกิดอันตรายตามมา
 

ผลจากการสูญเสียครั้งใหญ่นี้ ทำให้ปัจจุบันท่าเรือทุกท่า ได้มีการปรับเปลี่ยนโป๊ะเป็นแบบทุ่นลอยน้ำสุญญากาศปิดสนิทเพื่อให้สามารถลอยน้ำ และป้องกันน้ำไหลเข้าภายในโป๊ะ รวมถึงยกเลิกการสร้างหลังคาและเดินสายไฟลงที่ไปโป๊ะ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังการจำกัดจำนวนคนที่ใช้โป๊ะ และมีการจัดเจ้าหน้าที่ดูแลในช่วงเวลาเร่งด่วนอีกด้วย

ในส่วนของความเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายและรัฐนั้น ในปี 2558 หรือกว่า 20 ปีหลังเกิดเหตุ ศาลได้มีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานครฯ ชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายพร้อมดอกเบี้ยในฐานที่ กรุงเทพมหานครมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลท่าเรือให้เกิดความปลอดภัย แต่ประมาทเลินเล่อไม่ดูแล จนเกิดอุบัติเหตุขึ้น คดีนี้ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่แม้บริษัทเอกชนจะเป็นผู้ดำเนินกิจการ แต่ส่วนราชการที่เป็นผู้ให้สัมปทานก็ต้องเข้ามาตรวจสอบ ไม่ควรปล่อยปละละให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

โป๊ะล่ม หลายชีวิตเฝ้ามองและให้การช่วยเหลือ

สะพานถล่มอ่อนนุช – ลาดกระบัง 

ปิดท้ายด้วยอุบัติเหตุใหญ่ใกล้ตัวเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 10 ก.ค. 2566 สะพานยกระดับสำหรับรถยนต์ข้ามสัญจรที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งโดยปกติแล้วสะพานลักษณะนี้ ย่อมต้องความแข็งแรง เพื่อรองรับการใช้งาน และเพื่อความปลอดภัยต่อทุกชีวิตที่อยู่โดยรอบ ทว่าสะพานยกระดับอ่อนนุช - ลาดกระบังที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างกลับถล่มลงมา ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงทั้งกับบ้านเรือนประชาชน รถยนต์ จนเกิดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย

เหตุที่ไม่น่าเกิดครั้งนั้นเปลี่ยนชีวิตใครหลายคน จากคนธรรมดาต้องหันมาทวงหาถึงสิทธิความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตน และถึงตอนนี้ก็ยังคงรอคอยความยุติธรรมอยู่ มีวิเคราะห์ในแง่มุมกฎหมายจากหลายฝ่ายมองตรงกันว่า ผู้ก่อสร้างต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

สะพานลาดกระบังถล่ม

เหตุโศกนาฏกรรมใหญ่ คงไม่มีใครอยากให้เกิด ถึงตอนนี้หลายบทเรียนจากอดีต ทำให้สังคมได้เรียนรู้ ทว่าสิ่งสำคัญคือการไม่ลืมในสิ่งที่ได้เรียนรู้มานั่นเอง พึงตระหนักถึงความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นซ้ำใหม่อีกครั้ง...

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- ความจริงไม่ตาย : โป๊ะพรานนกล่ม
- “สะพานถล่ม” ก่อสร้าง (ไม่) ปลอดภัย ใครต้องรับผิดชอบ
- ผู้เสียหายสะพานถล่มเรียกร้องบริษัทรับเหมารับผิดชอบ
- อุทาหรณ์ "กู้ภัย" โศกนาฏกรรม "ไฟไหม้-ตึกถล่ม"
- ช่วยแล้ว 2 เร่งค้นหาอีก 6 ผู้สูญหาย เหตุสะพานบัลติมอร์ถล่ม
- 30 ปี ‘โศกนาฏกรรมเคเดอร์’ ย้ำบทเรียนความปลอดภัยการทำงาน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สะพานบัลติมอร์โศกนาฏกรรมอุบัติเหตุครั้งใหญ่สิทธิแรงงานความปลอดภัยในชีวิต
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ