“ผู้ลี้ภัยทางการเมือง” คืออะไร ? เข้าใจความหมาย “ผู้ลี้ภัย” มีแบบไหนบ้าง ?


Insight

29 มี.ค. 67

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
“ผู้ลี้ภัยทางการเมือง” คืออะไร ? เข้าใจความหมาย “ผู้ลี้ภัย” มีแบบไหนบ้าง ?

ข่าวการเดินทางกลับประเทศของอดีตนักการเมือง “จักรภพ เพ็ญแข” สร้างความสนใจต่อผู้คนในสังคม โดยเฉพาะกับคำว่า “ผู้ลี้ภัยทางการเมือง” 

ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา คำว่า “ผู้ลี้ภัย” ปรากฏตามหน้าข่าวสารอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งยังปรากฏในบริบทที่แตกต่างกันไป แท้ที่จริงแล้ว “ผู้ลี้ภัย” มีความหมายว่าอย่างไร และสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยบนโลกนี้เป็นอย่างไร Thai PBS ชวนไปทำความเข้าใจร่วมกัน

เข้าใจความหมาย “ผู้ลี้ภัย” คืออะไร ?

อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ปี ค.ศ. 1951 แห่งองค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดความหมายของคำว่า “ผู้ลี้ภัย” คือ บุคคลที่อยู่นอกอาณาเขตประเทศแห่งสัญชาติของตน โดยมีความหวาดกลัวว่า จะถูกประหัตประหาร ด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ หรือการมีความคิดเห็นทางการเมือง ที่ไม่สามารถจะได้รับการคุ้มครองจากประเทศแห่งสัญชาติของตน 

นอกจากนี้ยังหมายรวมถึง บุคคลไร้สัญชาติ ซึ่งอยู่นอกอาณาเขตประเทศแห่งถิ่นที่อยู่เดิมของตน และไม่สามารถหรือไม่ยินยอมจะรับการคุ้มครองจากประเทศดังกล่าว ด้วยเหตุแห่งความหวาดกลัวในลักษณะเดียวกัน

ส่วน “การลี้ภัยทางการเมือง” หากตีกรอบความหมายให้แคบลง หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่เดินทางออกจากประเทศตนเอง เพื่อหนีจากความรุนแรงหรือการประหัตประหาร ที่มีสาเหตุจากความคิดเห็นทางการเมืองนั่นเอง

ส่วนคำว่า “ประหัตประหาร (persecution)” ที่ปรากฏในนิยามเหล่านี้ ตีความได้ว่า เป็นอันตรายต่อชีวิตและเสรีภาพ (threat to life or freedom) และยังหมายรวมถึง การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย และผู้อพยพ เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ?

นอกจากคำว่า ผู้ลี้ภัย ยังมีคำที่ใกล้เคียงกัน คือ ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย และ ผู้อพยพ ทั้ง 3 คำนี้มีความแตกต่างกันตามบริบทที่เกิดขึ้น โดย ผู้ลี้ภัย คือผู้ที่ถูกบังคับให้ต้องออกจากประเทศ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวไป ทั้งนี้สถานะของผู้ลี้ภัยจะรับความคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ส่วน ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย (Asylum Seeker) คือผู้ที่เดินทางออกนอกประเทศ เพื่อแสวงหาความคุ้มครอง แต่ยังไม่ได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัย และกำลังรอการยอมรับสถานะ จากรัฐที่จะให้ความคุ้มครอง

ส่วน ผู้อพยพ หรือ ผู้เดินทางข้ามแดน (Migrants) ไม่มีนิยามในทางกฎหมายที่ชัดเจน บางกรณีย้ายประเทศเพราะต้องการทำงาน เรียนต่อ หรือไปหาครอบครัว บางกรณีย้ายเพราะความยากจน ปัญหาทางการเมือง อาชญากรรม ภัยธรรมชาติ หรือสถานการณ์อันตรายรูปแบบอื่น ๆ

“ผู้ลี้ภัย” ได้รับความคุ้มครองจากใคร ?

หน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้ลี้ภัย คือ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (The United Nations High Commissioner for Refugees หรือ UNHCR) เป็นโครงการของสหประชาชาติ ทำหน้าที่คุ้มครองผู้ลี้ภัย ชุมชนที่ถูกบังคับย้ายถิ่น และบุคคลไร้รัฐ

ภาพจาก UNHCR

โดยเมื่อปี ค.ศ. 1951 มีการทำอนุสัญญา ว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ซึ่งกำหนดการทำงานขั้นพื้นฐานของ UNHCR ลงนามร่วมกับ 146 รัฐภาคี มีสาระสำคัญครอบคุลมความหมายของคำว่า ผู้ลี้ภัย สิทธิของผู้ลี้ภัย และการคุ้มครองโดยรัฐที่เป็นภาคี

มิติของการคุ้มครองผู้ลี้ภัยนั้นมีหลายประการ แต่ที่เป็นหลักการพื้นฐานสำคัญ นั่นคือ “หลักการไม่ผลักดันกลับ” ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ลี้ภัยที่จะต้องไม่ถูกผลักดันกลับไปยังประเทศที่พวกเขาต้องเผชิญภัยร้ายแรงต่อชีวิตหรือเสรีภาพ หลักการนี้ได้รับการยอมรับและถือเป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานที่รัฐภาคีทั้งหมดต่างเห็นชอบร่วมกัน

เจาะอินไซต์ “ผู้ลี้ภัย” ที่น่าสนใจ

ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ที่หนีออกจากถิ่นฐานตัวเองอย่างน้อย 108.4 ล้านคน ในจำนวนนี้เกือบ 35.3 ล้านคนเป็นผู้ลี้ภัย และราว 41% เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี 

นอกจากนี้ 85% ของผู้ลี้ภัย อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา กว่า 68% มาจากประเทศ ซีเรีย, ยูเครน, อัฟกานิสถาน, เวเนซุเอลา, ซูดานใต้ และเมียนมา

ตุรกี ถือเป็นประเทศที่มอบที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยมากที่สุด ราว ๆ 3.8 ล้านคน ตามมาด้วย ยูกันดา ราว 1.5 ล้าน ปากีสถาน 1.5 ล้านคน และเยอรมนี ราว 1.3 ล้านคน

ส่วนประเทศที่มีผู้ยื่นขอลี้ภัยมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, คอสตาริกา, สเปน และเม็กซิโก

อ่านข่าว : 20 มิ.ย. วันผู้ลี้ภัยโลก World Refugees Day

“ผู้ลี้ภัย” ในประเทศไทย มีจำนวนเท่าไร ?

ประเทศไทยถือเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มี “ผู้ลี้ภัย” พักพิงอยู่ ในปี 2562 มีจำนวนผู้ลี้ภัยในไทยราว 98,000 คน แบ่งเป็นผู้ลี้ภัยจากเมียนมาราว 94,000 คน พักพิงอยู่ใน 9 ค่ายตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา และผู้ลี้ภัยในเขตเมืองอีก 4,000 คน ราว 40 สัญชาติ พักพิงอยู่ในพื้นที่กรุงเทพและในเขตเมือง

นอกจากนี้ กรณีผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทย เคยมีรายงานว่า นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองไม่ต่ำกว่า 100 คน

ทั้งหมดเป็นเรื่องราว “ผู้ลี้ภัย” ในหลากหลายมิติ แม้จะไม่อาจใช้ชีวิตในบางพื้นที่ แต่ทุกคนบนโลกนี้ ล้วนมี “สิทธิ” ที่จะได้รับความคุ้มครองและปลอดภัย ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใดในโลกนี้ก็ตาม...

อ้างอิง
-ผู้ลี้ภัย 
-สถิติของ UNHCR ที่น่าสนใจ 
-การลี้ภัยทางการเมือง 
 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "จักรภพ" เปิดใจขอโอกาสกลับบ้านในรอบ 15 ปีสู้คดีการเมือง 
- "จักรภพ" ถูกคุมตัวเข้ากองปราบฯ สู้คดีค้างเก่า-อั้งยี่ 
-ให้ประกันตัว! "จักรภพ" วงเงิน 4 แสนบาทคดีอาวุธปืน-อั้งยี่ 


 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ผู้ลี้ภัยผู้ลี้ภัยทางการเมืองผู้แสวงหาที่ลี้ภัยผู้อพยพ
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน