วันนี้ (2 พ.ค.2568) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวถึงมติเสียงข้างมากของที่ประชุม กกต. ให้ส่งศาลฎีกาเพื่อเพิกถอนสิทธิ์สมัครเลือกตั้งและสิทธิการเลือกตั้งและให้ดำเนินคดีอาญา ต่อ พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สมาชิกวุฒิสภาในฐานะผู้ถูกร้อง ด้วยสาเหตุว่า เชื่อว่ามีการกระทำเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการเลือก สว.มาตรา 77(4) คือการหลอกลวงหรือการจูงใจให้ผู้อื่นเชื่อว่าเชื่อในคุณสมบัติความรู้ความเชี่ยวชาญชื่อเสียงเกียรติยศ
อ่านข่าว : กกต.ชงศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง "หมอเกศ" อ้างจบด็อกเตอร์ เข้าข่ายหลอกลวง
ส่วนกระบวนการส่งนั้นจะมีกระบวนการดำเนินการหลังจากนี้ ซึ่งหลังจากที่มีมติในวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการทำคำวินิจฉัย ซึ่งมีทั้งหมด 6 ประเด็นอาจต้องใช้ระยะเวลา ซึ่งกำหนดกรอบการทำคำวินิจฉัย 60 วัน เชื่อว่าไม่น่าจะเกินนี้ โดยชี้แจงเหตุผลการทำคำวินิจฉัยเพื่อใช้ประกอบการยื่นคำร้องต่อศาล เมื่อยื่นไปแล้วศาลจะใช้เวลาพิจารณาตามกระบวนการของศาล
นายอิทธิพร ยังกล่าวถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เริ่มจำลองเหตุการณ์เพื่อประกอบสำนวนคดีฮั้วเลือก สว. ว่าตามกระบวนการการให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน ซึ่งต่างก็มีคณะทำงานสืบสวนของแต่ละหน่วยงาน โดยคณะทำงานสอบสวนใน กกต.ก็มีโครงสร้างที่มีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอร่วมด้วย พร้อมชี้ว่าการบูรณาการงานร่วมกันจะเป็นประโยชน์
ซึ่งในการสอบสวนของ กกต. จะมุ่งเน้นในประเด็นที่ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. หรือไม่ ส่วนการสอบของดีเอสไอเป็นการสอบสวนว่ามีการกระทำผิดกฎหมายอื่นที่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของ กกต. หรือไม่
โดยการดำเนินการสอบสวนของ กกต. มีความคืบหน้าที่คณะเจ้าหน้าที่สืบสวนไต่สวนจะมีกรอบเวลาดำเนินการ และเหตุที่ต้องใช้เวลาเป็นเพราะว่า 1. ต้องสอบพยานจำนวนมาก การที่มองว่าสมคบกันร่วมมือกันเป็นกลุ่ม ในการสอบนั้นจะต้องสอบผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนเพราะเรื่องนี้เป็นการดำเนินคดีความยุติธรรมที่มีโทษทางอาญา จะด่วนสรุปโดยปราศจากพยานหลักฐานที่ชัดเจนไม่ได้ทำให้ต้องใช้เวลาอยู่บ้างแต่ก็มีความคืบหน้าไปตามลำดับ และไม่สามารถแทรกแซงได้
เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่หากท้ายที่สุดในการดำเนินคดีอาจทำให้การเลือก สว. เป็นโมฆะ นายอิทธิพร กล่าวว่า พยายามจัดกระบวนการเลือกอย่างเต็มที่ตามกฎหมาย และถกในที่ประชุมเยอะมาก และต้องตัดสินใจดำเนินการ และวิธีการนั้นเป็นวิธีการที่ กกต. เห็นว่าเป็นไปตามกฎหมายแล้วหากหลังจากนั้น หากมีจุดใดที่ขั้นตอนกลไกอื่นเห็นว่าไม่ถูกต้องก็เป็นเรื่องของกระบวนการนั้น
อ่านข่าว : 2 พ.ค. เช็ก 5 จุด ทดสอบระบบ แจ้งเตือนภัยพิบัติ Cell Broadcast