ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ทรัมป์" เพิ่มแรงกดดันโลกปิดดีลกำแพงภาษี

ต่างประเทศ
11:45
202
"ทรัมป์" เพิ่มแรงกดดันโลกปิดดีลกำแพงภาษี
สหรัฐฯ ส่งหนังสือแจ้งอัตราภาษีใหม่ไปยังหลายประเทศ ถือเป็นหนึ่งในมาตรการเพิ่มแรงกดดันเพื่อเร่งกระบวนการเจรจาปิดดีลการค้า "ทรัมป์" เชื่อจะช่วยให้มีแต้มต่อในการเจรจาต่อรอง แต่การใช้มาตรการที่แข็งกร้าวเช่นนี้อาจจะกลายเป็นดาบสองคมเมื่อใช้กับประเทศพันธมิตร

เป้าหมาย 90 วัน 90 ดีลการค้า ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คุยเอาไว้เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ดูจะพลาดเป้าไปมากทีเดียว เพราะผ่านมาแล้ว 89 วัน รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถปิดดีลได้แค่ 2 ประเทศกับอีกครึ่งๆ กลางๆ นั่นก็คือ จีนที่ตอนนี้สหรัฐฯ ตกลงระงับสงครามภาษีกับจีนเอาไว้ชั่วคราว ดังนั้น การร่อนหนังสือแจ้งอัตราภาษีนำเข้าสินค้าอัตราใหม่จึงกลายมาเป็นลูกเล่นใหม่ของรัฐบาลทรัมป์ 2.0

ผู้นำสหรัฐฯ ระบุผ่านสื่อสังคมออนไลน์พูดถึงการส่งหนังสือไปยัง 14 ประเทศ เพื่อแจ้งเรื่องการกำหนดอัตราภาษีให้ทราบ และหลังจากนี้จะส่งหนังสือไปเพิ่มอีกประมาณ 100 ประเทศด้วย

รัฐบาลสหรัฐฯ พูดชัดว่า การประกาศภาษีอัตราใหม่เป็นการเพิ่มแรงกดดันขั้นสูงสุด และเชื่อว่าจะได้ผลอย่างมากในการเร่งเครื่องการเจรจา ทั้งกับกลุ่มที่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะยอมศิโรราบให้กับสหรัฐฯ มากแค่ไหน ยังรั้งๆ รอๆ หรืออาจจะยังไม่ได้เริ่มต้นพูดคุยกับสหรัฐฯ ให้หันกลับมาเร่งเดินหน้าการเจรจาแบบกระตือรือร้นมากขึ้น

อังกฤษถือเป็นชาติแรกที่ปิดดีลกับสหรัฐฯ ได้ แต่ก็ต้องใช้เวลานานถึง 1 เดือน ทั้งๆ ที่อังกฤษโดนภาษีแค่ 10% ซึ่งผลการเจรจาดังกล่าวไม่ได้ลดอัตราภาษีตอบโต้ เพียงแต่ลดภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการที่อังกฤษถูกเก็บสูงกว่า 10% เช่น รถยนต์

ส่วนจีนมีมูลค่าการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ สูงที่สุดในโลกและกำหนดภาษีตอบโต้สหรัฐฯ ด้วย ทำให้ทรัมป์เพิ่มภาษีหลายระลอกจนตัวเลขอยู่ที่ 145% ขณะที่จีนเรียกเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ 125% ก่อนที่ในช่วงกลางเดือน พ.ค. ทั้งสองประเทศจะตกลงทุบกำแพงภาษีลงฝ่ายละ 115% เป็นเวลา 90 วัน เพื่อรอการเจรจาเพิ่มเติม

เวียดนามเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นหนึ่งในประเทศเพียงหยิบมือที่สหรัฐฯ เปิดโต๊ะเจรจาให้ก่อนใครเพื่อนและปิดดีลได้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่นักวิเคราะห์บางคน มองว่า ผลการเจรจาดังกล่าวอาจทำให้หลายๆ ชาติในอาเซียนต้องตกที่นั่งลำบาก จากการที่เวียดนามยอมรับเงื่อนไขหลายๆ อย่างของสหรัฐฯ จนอาจกลายเป็นบรรทัดฐานให้กับชาติที่เหลือ

โฆษกสหภาพยุโรป หรือ EU ระบุว่า EU ต้องการบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ ให้ได้ก่อนวันพุธนี้ หลังการต่อสายพูดคุยระหว่างทรัมป์กับประธานคณะกรรมาธิการยุโรปได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดย EU เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่สหรัฐฯ หยิบขึ้นมาอ้าง เมื่อพูดถึงประโยชน์จากการเพิ่มแรงกดดัน ซึ่งก่อนหน้านี้ ทรัมป์เคยขู่ขึ้นภาษีสินค้า EU จาก 20% เป็น 50% หลังการเจรจาไม่คืบหน้า

แต่คำขู่ที่เป็นประเด็นใหญ่เมื่อวานนี้ หนีไม่พ้น การประกาศกร้าวของผู้นำสหรัฐฯ ที่จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศใดก็ตามที่สนับสนุนนโยบายต่อต้านอเมริกาของกลุ่ม BRICS เพิ่มอีก 10% จากอัตราภาษีเดิม แบบไม่มีข้อยกเว้น หลัง BRICS เตรียมออกแถลงการณ์วิจารณ์การตั้งกำแพงภาษีแต่เพียงฝ่ายเดียวและมาตรการอื่นๆ ที่ไม่เป็นไปตามระเบียบขององค์การการค้าโลก ส่งผลคุกคามต่อการค้าโลกและส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโลก

BRICS ถือเป็นกลุ่มความร่วมมือของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ถูกจับตามองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบัน มีสมาชิก 11 ประเทศ ซึ่งอินโดนีเซียได้รับสถานะสมาชิกเต็มตัวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ขณะที่อีก 10 ชาติมีสถานะเป็นประเทศหุ้นส่วนของ BRICS อย่างเป็นทางการ โดยในจำนวนนี้ มีมาเลเซีย ไทยและเวียดนามรวมอยู่ด้วย

BRICS ถูกมองว่าเป็นกลุ่มความร่วมมือที่จะมาคานอำนาจสหรัฐฯ และเป็นทางเลือกให้กับประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้น ทรัมป์จึงมักมองว่า BRICS ไม่เป็นมิตร และเคยขู่ใช้มาตรการกร้าวตอบโต้นโยบายของกลุ่มนี้ ซึ่งอาจจะไปลดอิทธิพลของสหรัฐฯ ด้วย

โดยสมาชิกและหุ้นส่วนของ BRICS รวม 9 ประเทศ จากทั้งหมด 21 ประเทศ โดนสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีเกิน 10% อย่างอินโดนีเซียสูงที่สุดในกลุ่มสมาชิก หลังจากจีนสงบศึกภาษีกับสหรัฐฯ ชั่วคราว ขณะที่สามชาติอาเซียนในฐานะประเทศหุ้นส่วน ตอนนี้จับตาดูท่าทีของทรัมป์ต่อ BRICS อย่างใกล้ชิด เพราะถ้าเพิ่มภาษี 10% ตามคำขู่จริงๆ ประเทศในแถบนี้ก็น่าจะเจ็บหนักทีเดียว

แม้ว่าทรัมป์จะเชื่อว่า กำแพงภาษีสูงๆ เป็นสูตรสำเร็จในการบีบประเทศคู่ค้าให้ยอมเจรจาและยอมรับเงื่อนไขของสหรัฐฯ แต่มาตรการนี้ก็อาจจะกลายเป็นดาบสองคมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำมาใช้กับประเทศพันธมิตร

อย่างเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้นำญี่ปุ่นประกาศชัดว่า จะไม่ยอมอ่อนข้อให้สหรัฐฯ ง่ายๆ และตัดพ้อว่าญี่ปุ่นเป็นชาติที่ลงทุนและสร้างงานในสหรัฐฯ มากที่สุด ดังนั้นก็ควรต้องได้รับการปฏิบัติที่ต่างจากประเทศอื่นๆ พร้อมทั้งระบุด้วยว่าข้ออ้างของสหรัฐฯ เรื่องการค้าไม่ยุติธรรมฟังไม่ขึ้น ซึ่งสหรัฐฯ ต้องแจกแจงออกมาให้ฟังว่าญี่ปุ่นไม่ยุติธรรมตรงไหนบ้าง

ตอนนี้ เริ่มมีเสียงเรียกร้องจากพรรคฝ่ายค้านให้ญี่ปุ่นหันไปขยายความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศอื่นๆ ที่สนับสนุนการค้าเสรี นอกเหนือจากสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มโอกาสในการปกป้องเศรษฐกิจของประเทศ

การเจรจาต่อรองเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่งการใช้ไม้แข็งตีหนักๆ อาจจะไม่ได้ให้ผลดีเสมอไป

อ่านข่าว :

ทรัมป์ส่งหนังสือถึง "ไทย" ยืนยันเก็บภาษีนำเข้าสหรัฐฯ 36%

เปิด 14 ประเทศแรก "ทรัมป์" ประกาศขึ้นภาษี มีผล 1 ส.ค.นี้

หุ้นสหรัฐฯ ร่วงหนักสุดรอบ 3 สัปดาห์ รับ "ทรัมป์" ประกาศภาษีใหม่