จน-เครียด-สูงวัย สวัสดิการไทยไปถึงไหน...

สังคม
27 ก.พ. 62
20:38
1,001
Logo Thai PBS
จน-เครียด-สูงวัย สวัสดิการไทยไปถึงไหน...
สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำทำให้กลุ่มคนสูงอายุมีสัดส่วนความยากจนสูงกว่าวัยแรงงาน อีกทั้งผู้สูงอายุส่วนมากไม่ได้เตรียมความพร้อมทั้งการออม โอกาสในการทำงาน และสวัสดิการยามเกษียณอายุ

การที่ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุย่อมทำให้มีแนวโน้มความเหลื่อมล้ำทางสังคมมีความรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย

จากการวิเคราะห์สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับระบบสวัสดิการและสวัสดิการแรงงานนอกระบบของผู้สูงอายุ จากกลุ่มตัวอย่างใน 11 จังหวัด พบว่า มีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่และเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยมีประชากรสูงอายุร้อยละ 10 ขึ้นไป

  • ซึ่งในส่วนของ อ.เกาะคา จ.ลำปาง และ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี จัดเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ มีประชากรสูงอายุร้อยละ 20 ขึ้นไป
  • ผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเป็นเพศหญิงจะมากกว่าเพศชาย และสามารถแยกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้สูงอายุติดสังคม ผู้สูงอายุติดบ้าน และผู้สูงอายุติดเตียง
  • ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ ไม่มีที่ดินทำกินโดยเฉพาะผู้สูงอายุกลุ่มเกษตรกร ไม่มีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง และกิจกรรมที่รัฐเข้ามาพัฒนานั้น ผู้สูงอายุยังขาดข้อมูลและความเข้าใจ
  • ทำให้ผู้สูงอายุอยู่ในภาวะที่ต้องพึ่งพิงบริการของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการพึ่งพิงเบี้ยยังชีพรายเดือน 
การกู้ยืมเงินกองทุนผู้สูงอายุ การออมผ่านสหกรณ์เครดิตยูเนียน (บางพื้นที่)

นโยบายการจัดสวัสดิการสังคม สำหรับผู้สูงอายุและสวัสดิการแรงงานนอกระบบที่เป็นผู้สูงอายุ เป็นนโยบายที่ภาครัฐดำเนินการเป็นหลัก ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฯ 2550 เน้นการจัดสวัสดิการของรัฐที่จัดให้กับประชาชนทุกคนในฐานะพลเมืองไทย

อาทิ บริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545, การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุแบบขั้นบันได (600 – 1,000 บาทต่อเดือน) ตาม พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 และฉบับแก้ไข พ.ศ.2553, การก่อตั้งกรมกิจการผู้สูงอายุตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ฉบับที่ 14, การส่งเสริมการศึกษาผู้สูงอายุ ตาม พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 และตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 2 และ 3

อย่างไรก็ตาม ภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคท้องถิ่น ภาคเอกชน ยังมีส่วนร่วมในการสนับสนุนช่วยเหลือเกี่ยวกับผู้สูงอายุอย่างไม่เต็มศักยภาพ เนื่องจากติดขัดกับระเบียบ นโยบาย และกลไกที่ไม่เป็นไปตามที่ภาครัฐกำหนดไว้

นโยบายของภาครัฐที่ดำเนินการด้านการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย พบว่ามีอยู่ 2 ประเภท คือ

1.สวัสดิการแบบถ้วนหน้าของภาครัฐ

เป็นสวัสดิการที่เกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได เบี้ยความพิการรายเดือน สิทธิประโยชน์ประกันสังคมด้านชราภาพ ชมรมผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุ เป็นต้น

โดยพบว่าแม้จะมีการบริการที่ครอบคลุมทั่วถึง แต่ในส่วนของเบี้ยยังชีพนั้น ผู้สูงอายุที่ยากจนได้รับเบี้ยยังชีพน้อยและไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ขณะผู้สูงอายุที่มีรายได้สูงก็ยังได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเช่นกัน

สะท้อนให้เห็นว่า การถ่ายโอนทรัพยากรในสังคมยังเข้าไม่ถึงผู้สูงอายุที่ยากจนที่สุด ที่ควรได้รับการปกป้องทางสังคมเพื่อขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำดังกล่าว

2.สวัสดิการแบบสมัครใจ

พบว่าในหลายพื้นที่มีสวัสดิการทางเลือกแบบสมัครใจที่เป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุเอง อาทิ กองทุนสวัสดิการชุมชน, กองทุนการออมแห่งชาติ, กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์, สหกรณ์เครดิตยูเนียน

จากสวัสดิการแบบสมัครใจเหล่านี้ก็ยังคงมีความเหลื่อมล้ำที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางสังคมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ หรือค่านิยมที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ 

ค่านิยมที่ว่า 'ได้น้อยยังดีกว่าไม่ได้' ทำให้เหลื่อมล้ำ

ข้อสังเกตจากการวิจัยพบว่า นโยบาย กฎหมาย แนวทางการดำเนินงานสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุมีมาก เพียงพอ ชัดเจน และเป็นรูปธรรมแล้ว โดยมีกลไกการทำงานที่เข้มแข็งทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่นบางพื้นที่ ตลอดจนยังมีพื้นที่ตัวแบบการทำงานด้านผู้สูงอายุที่โดดเด่นหลายแห่ง แต่ที่สำคัญไม่ได้ขยายผลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

นำสู่ข้อเสนอแนะที่ว่า ควรทำนโยบายการออมแห่งชาติเป็นมาตรการบังคับกับวัยทำงาน เพื่อสร้างหลักประกันเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ

ควรเปิดพื้นที่ให้ภาคเอกชน ท้องถิ่น มีส่วนร่วมจัดการตนเองที่เกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้การถ่ายโอนทรัพยากรในสังคมที่ยังเข้าไม่ถึงผู้สูงอายุที่ยากจนที่สุด ที่ควรได้รับการปกป้องทางสังคมให้มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ โดยนับเป็นส่วนหนึ่งของการลดความเหลื่อมล้ำที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนทรัพยากรในสังคมผู้สูงอายุของไทย

ที่มา: ระพีพรรณ คำหอม และคณะ, พัฒนาระบบสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2560.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง