บางคนอาจคิดว่า การโกงกินกับสังคมไทยเป็นของคู่กัน หรือมองว่าการโกงคือเรื่องธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โกงนิดหน่อยอาจถือเป็นเรื่องยอมรับได้สำหรับคนไทยที่มีนิสัยผ่อนปรนโดยธรรมชาติ
จากชุดความคิดที่เราได้ยินเกี่ยวกับการโกงตั้งแต่เล็กจนโต คำตอบที่เราค้นหาอาจอยู่ไม่ไกล เพราะเหตุผลนั้นก็คือชุดความคิดเหล่านี้ที่กำลังส่งเสริมให้การโกงกลายเป็นเหตุผลที่ยอมรับได้ในสังคม
การรับรู้และมุมมองต่อการโกงของคนไทยคือหนึ่งสิ่งที่เชื่อมโยงกับพฤติกรรมการโกงในสังคมไทย รายงานการวิจัยเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชันชี้ให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างคนไทยโดยส่วนใหญ่มีมุมมองต่อการโกงในวงที่แคบ โดยมองแค่ผลกระทบที่จะตกแก่บุคลฝ่ายเดียวเท่านั้น
โดยลืมมองไปว่าในเหตุการณ์คอร์รัปชันใดๆ ผลที่กระที่เกิดขึ้นไม่เพียงเกิดขึ้นจากผู้กระทำหรือบุคคลที่ 1 สร้างขึ้น จนกระทบต่อผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่ 2 แต่บุคคลที่ 3 อย่างสังคมโดยโดยรวมคือผู้ได้รับผลประทบเช่นกัน
ท้ายสุดเมื่อมุมมองและการรับรู้การคอร์รัปชันถูกจำกัดอยู่ในวงที่แคบ โดยสังคมส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักหรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นการเพิกเฉยโดยบังเอิญต่อผลกระทบภายนอกที่จะเกิดขึ้น
การโกงจึงเป็นสิ่งที่คนให้ค่าในการกำจัดน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
นอกจากนี้แล้ว ชุดความคิดในเรื่องใครคือคนโกงในสังคม และใครคือคนแก้โกงในสังคม ประชาชนส่วนใหญ่จากกลุ่มตัวอย่าง รวมทั้งนักเรียนนักศึกษาเกือบร้อยละ 50 มองว่าคนโกงคือนักการเมือง ส่วนร้อยละที่น้อยที่สุดนั่นคือตัวเองและนักธุรกิจ
ซึ่งมองได้ว่าสังคมไทยส่วนใหญ่ถูกหล่อหลอมให้คิดว่าคนโกงคือนักการเมือง
นักการเมืองถูกจั่วหัวว่ามาพร้อมกับการโกง ประโยชน์ตรงนี้จึงตกไปสู่กลุ่มอื่นๆที่เหลือ ที่ฉวยโอกาสโกงกินจากการที่อคติของสังคมที่มีต่อพวกเขาน้อยกว่า
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจก็คือประชาชนส่วนใหญ่จากกลุ่มตัวอย่างมองว่า “กองทัพ” คือกลุ่มคนหลักที่ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการโกง จึงนำมาสู่การตั้งคำถามว่า สังคมไทยกำลังตีตราว่านักการเมืองคือปีศาจร้ายที่โกงกิน และกองทัพคืออัศวินม้าขาวที่เป็นความหวังในการจัดระเบียบสังคมอย่างนั้นหรือ?
ในเมื่อท้ายที่สุดท้ายแล้วอาจจะมีความเป็นไปได้ที่ว่า อัศวินอาจร้ายกว่าปีศาจ!
เพราะประชาชนไม่เคยมองความจริงและตรวจสอบอย่างรอบด้าน นอกเหนือจากมุมมองต่อการโกงของสังคมไทยจะยังจำกัดอยู่ในวงที่แคบ และคนไทยยังมีชุดความคิดสำเร็จต่อกลุ่มบุคคลว่าใครควรเป็นคนโกง ใครควรเป็นคนแก้
พฤติกรรมการรับรู้และรูปแบบการโกงยังเป็นอีกส่วนหนึ่งที่เราควรมาทำความเข้าใจเพื่อจะจะบรรลุคำตอบ
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เมื่อได้ตอบแบบสอบถาม ในกรณีสมมติว่าหากตัวเองเป็นหมอเมื่อเจอกับเหตุการณ์ที่มารดาป่วย มีความจำเป็นต้องใช้ยาที่มีราคาสูง จะขโมยยาหรือไม่ คำตอบของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เทไปว่าไม่ควรขโมยเพราะผิดศีลธรรมเป็นเหตุผลที่มากที่สุด และกลัวถูกจับได้เป็นเหตุผลที่รองลงมา

คำถามจึงเกิดขึ้นว่า หากวันหนึ่งการกระทำเหล่านั้นจะไม่ถูกจับได้ หรือมีวิธีการที่แยบยลจนกระทั่งจับไม่ได้ กลุ่มตัวอย่างเหล่านี้จะยังคงเลือกที่จะไม่ขโมยยาหรือไม่?
หรือลองจิตนาการถึงสังคมแห่งความจริงที่ว่า หากคอร์รัปชันมีวิธีการที่แนบเนียน มีพวกพ้องในการให้ความช่วยเหลือ มีอำนาจในการปกปิดความจริง หากเป็นอย่างนั้นเราคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนคงเลือกที่จะโกง อย่างในสถานการณ์ของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน
จากที่เขียนไปข้างต้นอาจเชื่อมโยงผลการวิจัยในลำดับถัดมา ซึ่งข้อค้นพบจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียน แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมในการทุจริตการสอบของกลุ่มนักเรียนถูกกระตุ้นโดยสังคมและคนรอบตัว
โดยผู้ทุจริตจะมองว่าคนรอบข้างมีแนวโน้มที่จะเห็นใจต่อการกระทำการทุจริตของพวกเขา จึงมีแนวโน้มต่ำที่จะถูกเปิดโปง ผลของการมองมุมนี้ส่งผลให้ในอนาคตพวกเขาอาจกระทำการทุจริตมากขึ้น
การศึกษาพฤติกรรมและการรับรู้ด้านการโกงจึงอาจชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มและโอกาสการโกงของคนที่อาจเกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้
ทั้งมุมมองต่อการโกงของคนในสังคมที่ยังจำกัดอยู่ภายในวงแคบ อคติที่เป็นชุดความคิดสำเร็จรูปว่าใครคือกลุ่มบุคคลที่แนวโน้มจะโกง ใครคือกลุ่มบุคคลที่แก้ปัญหาการโกง
รวมทั้งข้อสันนิษฐานว่าการโกงอาจเกิดขึ้นได้หากไม่มีการตรวจสอบ หรือการโกงอาจเป็นเรื่องไม่ร้ายแรงหากมีบุคคลรอบข้างสนับสนุน
จึงเป็นที่น่าตั้งคำถามว่า คนไทยเคยชินกับการโกงแล้วหรือ หรือคนไทยกำลังเปิดโอกาสให้การโกงที่จะเกิดขึ้นมีความชอบธรรม เช่นนั้นสังคมควรให้ค่าและตีความการโกงใหม่หรือไม่ โดยเฉพาะการเริ่มจากสำนึกในการรับรู้และการเข้าใจอย่างถ่องแท้ในพฤติกรรมการโกง
ที่มา : ธานี ชัยวัฒน์, โครงการวิจัยและประสานงานเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2561.
ให้เสียงประชาชนไปไกลกว่าการเลือกตั้ง
#เลือกตั้ง62