วาระ 8 ปีนายกฯ นักเศรษฐศาสตร์-นักธุรกิจเชื่อ "เศรษฐกิจ" ไปต่อได้

การเมือง
30 ก.ย. 65
12:45
2,462
Logo Thai PBS
วาระ 8 ปีนายกฯ นักเศรษฐศาสตร์-นักธุรกิจเชื่อ "เศรษฐกิจ" ไปต่อได้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องวาระ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภาคธุรกิจต่างมองว่าระยะสั้นจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจ แต่อาจกระทบความเชื่อมั่นและการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

ผ่านมาแล้วกว่า 1 เดือนหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องวาระ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง นักธุรกิจ และนักการเงิน เห็นตรงว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ (30 ก.ย.) ไม่ว่าบทสรุปจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจจะไม่ถูกกระทบ หรือถูกกระทบน้อยมาก

รศ.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ยืนยันว่า เศรษฐกิจจะไม่ได้รับผลกระทบ หรือหากมีผลกระทบก็น้อยมาก เพราะแม้มีการเปลี่ยนแปลง พรรคร่วมรัฐบาลยังเหมือนเดิม นโยบายก็ไม่เปลี่ยน ทั้งนี้จากสถานการณ์ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ภายใต้วิกฤตการเมืองและการชุมนุมประท้วง แต่เศรษฐกิจก็ยังไปต่อได้

ถ้าเราบอกว่าจะไม่มีเรื่องประท้วง ไม่ต้องไปลงทุนประเทศไหนแล้ว ทุกประเทศมีหมด ถ้าเรามองกันลึกๆ ไม่กระทบ แม้เสถียรภาพของรัฐบาลยังไม่ความไม่แน่นอนอยู่

สอดคล้องกับ ผศ.ประชา คุณธรรมดี อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชื่อว่า ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจจะไม่ผันผวน เพราะทุกคำตอบจะไปจบที่ประมาณกลางปี 2566 ซึ่งจะมีการเลือกตั้ง และการเลือกตั้งใหม่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้น เศรษฐกิจจะถูกกระตุ้นด้วยการบริโภคภายใน เนื่องจากจะมีเงินสะพัดช่วงเลือกตั้ง กรณีนี้มองว่าถ้าผ่านก็ประคองกันไป แต่ก็กลางปีหน้าอยู่ดีที่จะต้องมีการปรับปรุง

ภาคธุรกิจแนะสร้างความเชื่อมั่นฟื้นเศรษฐกิจปี 66

ฝั่งภาคธุรกิจ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า การเมืองเป็นสิ่งที่มีผลต่อความมั่นใจของนักลงทุนไทยและต่างชาติ หากประเทศมีเสถียรภาพการเมืองที่ดี ความมั่นใจก็จะมากขึ้น เพราะปัญหาขณะนี้มีมากแล้ว หากมีปัญหาการเมืองอีกก็จะไม่ส่งผลดี

อยากให้ทุกคนช่วยกัน ทำอย่างไรให้ประเทศเราเข้มแข็ง ลำพังภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ขณะนี้มีความอ่อนไหว ผันผวน เปลี่ยนแปลงรุนแรง และรวมทั้งโลกร้อน ภัยธรรมชาติมากมายที่เป็นอุปสรรคอยู่แล้ว

ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนยังเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป แต่บางส่วนอาจรอดู เช่น การลงทุน เพื่อรอความชัดเจน แต่สิ่งสำคัญที่ภาคเอกชนมองตอนนี้ คือ การเร่งสร้างความเชื่อมั่นและความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย ในช่วงที่เหลือของปี 2565 และปี 2566

ขณะที่ความเชื่อมั่นและเสถียรภาพของรัฐบาลจะถูกกระทบบ้าง แต่หลายเรื่องที่กำลังดำเนินการอยู่ ทั้งการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการเป็นเจ้าภาพเอเปคยังดำเนินการได้

ความเชื่อมั่นนักลงทุนทรงตัว-รอดูสถานการณ์

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า หรือเดือน พ.ย. อยู่ที่ระดับ 116.59 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว โดยนักลงทุนมองว่าการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด

ส่วนปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การระบาดของโควิด-19 การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และการไหลออกของเงินทุน ส่วนผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ก็เป็นปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม

สำหรับการลงทุนในระยะยาว นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า นักลงทุนที่ลงทุนไม่ได้สอบถามหรือกังวลมากนัก เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้อ่อนไหวกับปัญหาการเมืองในประเทศ หากเทียบนักลงทุนระยะสั้นในตลาดหุ้นอาจมีผลกระทบบ้าง ดังนั้นช่วงนี้นักลงทุนยังรอดู ไม่ได้ถอนการลงทุน

นักลงทุนยังคงรอดูมากกว่า ถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่ประเทศมีความสงบ การผลิตยังเป็นปกติ คงไม่ได้กระทบการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญๆ ตลาดหุ้นจะสะท้อนความรู้สึกของนักลงทุนทันที

นายพิชัย เลิศสุพงศ์กิจ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต กล่าวว่า เหตุการณ์วันนี้ (30 ก.ย.) นักลงทุนไม่ได้ให้น้ำหนักมาก มองแบบกลางๆ เพราะสุดท้ายจะมีการเลือกตั้งในไตรมาส 2 ปี 2566

และไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะได้ไปต่อหรือไม่ แกนนำรัฐบาลก็ยังคงเป็นพรรคพลังประชารัฐ แนวนโยบายจึงไม่ได้เปลี่ยน เพราะฉะนั้นไม่น่ามีผลกับเศรษฐกิจ และตลาดยังให้ความสำคัญกับปัจจัยต่างประเทศมากกว่า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักวิชาการมองต่างมุม ปม 8 ปี นายกฯ

3 กรอบเวลา "ประยุทธ์" ดำรงตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปี

5 รายชื่อ แคนดิเดตนายกฯ หาก "ประยุทธ์" พ้นตำแหน่ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง