ขีดเส้น 16 มี.ค. แจ้งครอบครองสัตว์ป่าควบคุม 10 ชนิดแรก "สิงโต-กอริลล่า-อนาคอนดา"

สิ่งแวดล้อม
4 มี.ค. 66
10:25
2,172
Logo Thai PBS
ขีดเส้น 16 มี.ค. แจ้งครอบครองสัตว์ป่าควบคุม 10 ชนิดแรก  "สิงโต-กอริลล่า-อนาคอนดา"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมอุทยานฯ ขีดเส้นให้ผู้ครอบครองสัตว์ป่าควบคุมหรือซาก 10 ชนิดแรก "สิงโต-กอริลล่า-อนาคอนดา" ก่อน 19 ต.ค.2565 ต้องแจ้งการครอบครองก่อนวันที่ 16 มี.ค.2566 พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยทั้งต่อสัตว์ คนเลี้ยง คนรอบข้าง

ความคืบหน้ากรณีเพื่อนบ้านกังวลเรื่องความปลอดภัย และแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบชาวจีนเลี้ยงลูกสิงโตขาวในบ้านพัก จ.ชลบุรี

วันนี้ (4 มี.ค.2566) นายอรรถพล เจริญชันษา รักษาการอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่อนุบัญญัติภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ซึ่งได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

สัตว์ป่าควบคุม 67 รายการ ได้เริ่มให้แจ้งการครอบครองในกลุ่มสัตว์ดุร้าย 10 ชนิดแรก กำหนดแจ้งครอบครองไม่เกิน 16 มี.ค.นี้ จากนั้นจะตรวจสอบเพิ่มเติมว่าบุคคลใดครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต นับจากนั้นถือว่ากระทำผิดกฎหมาย แต่ขณะนี้ยังเหลือสัตว์อีกหลายชนิดที่เปิดให้แจ้งครอบครอง

ส่วนเคสชาวจีนเลี้ยงสิงโตขาว เบื้องต้นให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบแล้ว อยู่ระหว่างการขอข้อมูลหลักฐานการครอบครองและการได้มา หากชี้แจงว่าได้มาอย่างถูกต้อง และอยู่ในช่วงเวลาการขึ้นทะเบียน ก็สามารถครอบครองได้

ด้านนายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา (ไซเตส) กล่าวว่า พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มาตรา 19 กำหนดอนุบัญญัติให้มีการแจ้งการครอบครองสัตว์ป่า ปัจจุบันมี 67 ชนิด 4 กลุ่ม ได้แก่ สัตว์ป่าควบคุมชนิด ก. หรือสัตว์ดุร้าย และมีขนาดใหญ่ จำนวน 10 ชนิด ซึ่งต้องมีมาตรการควบคุมเข้มงวด เช่น สิงโต กอริลล่า ชิมแพนซี, สัตว์ป่าควบคุมชนิด ข จำนวน 57 ชนิด แบ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น มาร์โมเสทกอล์ดี ทามาริน, สัตว์ปีก 29 ชนิด, สัตว์เลื้อยคลาน 17 ชนิด

นายประเสริฐ กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มมีผู้ทยอยแจ้งครอบครองสัตว์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มบุคคล มีทั้งการแจ้งผ่านช่องทางออนไลน์ และแจ้งที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1-16 และสาขา โดยไม่ต้องนำสัตว์ขนาดใหญ่มาด้วย

เจ้าหน้าที่จะออกใบแจ้งครอบครองชั่วคราว จากนั้นตรวจสอบสถานที่เลี้ยงว่ามีมาตรฐานความปลอดภัยทั้งต่อสัตว์ คนเลี้ยง และประชาชนหรือไม่ จึงจะออกใบรับรองครอบครอง คล้ายกับการแจ้งครอบครองงาช้าง

หลังจากแจ้งมาแล้ว เราจะลิสต์รายชื่อว่ามีที่ไหนบ้าง จากนั้นส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบในพื้นที่ว่าสถานที่ดูแลสัตว์ได้มาตรฐานหรือไม่ ดูแลสวัสดิภาพสัตว์ดีหรือไม่ ถึงจะออกใบรับรองตัวจริงให้

ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา ประเมินว่า จะมีสัตว์ที่แจ้งครอบครองหลักหมื่นตัว โดยเฉพาะกลุ่มสัตว์ปีกกับกลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งในกลุ่มผู้เลี้ยงทั่วไปอาจมีสัตว์ในครอบครองไม่มากเท่ากลุ่มผู้ประกอบการ

ต้องแจ้งรายตัวทั้งหมด คาดว่าในกลุ่มนกและสัตว์เลื้อยคลานจะค่อนข้างมากในไทย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กฎหมายในเรื่องการเพาะพันธุ์และค้ายังไม่แล้วเสร็จ แต่ต้องแจ้งครอบครองก่อน

สำหรับผู้มีไว้ในครอบครองสัตว์ป่าควบคุมหรือซาก ก่อนวันที่ 19 ต.ค.2565 ต้องแจ้งการครอบครองสัตว์ดังนี้ สัตว์ป่าชนิด ก (สัตว์ป่าควบคุมที่ต้องมีมาตรการควบคุมเข้มงวด) ต้องแจ้งการครอบครองภายในวันที่ 16 มี.ค.นี้

สัตว์ป่าควบคุมชนิด ข กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ต้องแจ้งครอบครองภายในวันที่ 15 เม.ย.นี้

ส่วนกลุ่มสัตว์ปีก ต้องแจ้งครอบครองภายในวันที่ 14 มิ.ย.นี้

กลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน เริ่มแจ้งครอบครอง ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.-14 ก.ค.นี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง