ยังคงเป็นประเด็นร้อน สำหรับภาพการแจกถุงยังชีพของบริษัทแห่งหนึ่งและมีการนำติดสติกเกอร์ชื่อของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรคร่วมไทยสร้างชาติ ไปติดไว้บนถุงขณะลงพื้นที่จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่เดือนธ.ค.2567 กระทั่งมีการยื่นคำร้องว่า ผิดจริยธรรม
คำร้องระบุว่า เป็นการกระทำที่ผิดต่อมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระพ.ศ. 2561 ข้อ 17 ที่ระบุว่า ไม่กระทําการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ต่อการ ดํารงตําแหน่ง และป.ป.ช.จะมีหนังสือแจ้งให้นายพีระพันธุ์ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 15 พ.ค.2568 นี้
ไม่ใช่เฉพาะข้อกล่าวหาข้างต้นเท่านั้น แต่นายพีระพันธุ์ ยังต้องเจอกับคำร้องของ นายสนธิญา สวัสดี นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ตรวจสอบการกระทำที่จะฝ่าฝืนรัฐธรรม นูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ปี 2561 เรื่องการถือหุ้นและเป็นกรรมการบริษัท

โดยประเด็นการถือหุ้นอยู่ในบริษัท 3 บริษัท ได้มีการขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เข้าไปตรวจสอบและดำเนินการให้เป็นไปตามบบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 และมาตรา235 เพื่อไต่สวนและมีความเห็น ว่า เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 187 ประกอบมาตรา 170 (4) (5) และ มาตรา 219 การกระทำที่ฝ่าฝืน ต่อจริยธรรมร้ายแรง ในข้อที่ 7 ข้อที่ 8 ข้อที่ 11 ข้อที่ 17 ข้อที่ 21 ประกอบข้อที่ 27 หรือไม่
เป็นคำร้องในประเด็นเดียวกับ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งส่ง คำร้องทางไปรษณีย์ถึงประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบการดำรงตำแหน่งของนายพีระพันธุ์ ว่าอาจขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) ประกอบกับมาตรา 187 วรรคหนึ่ง ซึ่งกำหนดว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น หรือกรรมการในบริษัทใด หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด
ในคำร้องของนายเรืองไกร ระบุว่า นายพีระพันธุ์ ยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการใน 3 บริษัท ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งอาจถือเป็นการละเมิดข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ มาตรา 187

เนื่องจากนายพีระพันธุ์ยังคงเป็นกรรมการบริษัทระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ถึง 3 แห่ง ประกอบด้วย
1. บริษัท วีพี แอโร่เทค จำกัด โดยเป็นกรรมการของบริษัทดังกล่าวถึง 30 ต.ค. 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
2. บริษัท โสภา คอลเล็คชั่นส์ จำกัด โดยเป็นกรรมการของบริษัทถึงวันที่ 30 ต.ค.2567
3. บริษัท รพีโสภาค จำกัด เป็นกรรมการอยู่ในบริษัทนี้ และข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่าลาออกจากตำแหน่งกรรมการในภายหลัง
คำร้องของนายเรืองไกร ยังระบุอีกว่า ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแสดงให้เห็นว่า นายพีระพันธุ์ยังคงเป็นกรรมการใน 3 บริษัทดังกล่าว ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ที่ห้ามรัฐมนตรีเป็นลูกจ้างของบุคคลใด หรือเป็นกรรมการของบริษัทที่อาจมีผลกระทบทางการเงินหรือผลประโยชน์ทับซ้อนกับการทำหน้าที่รัฐมนตรี
จึงเสนอให้ กกต. ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า นายพีระพันธุ์มีคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือไม่ เนื่องจากการเป็นกรรมการในบริษัทต่าง ๆ อาจเข้าข่ายการละเมิดข้อกำหนดในมาตรา 187 หรือไม่
ทั้งนี้นายพีระพันธุ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย.2567 ในยุครัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน และยุคของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิด 2 ปมประเด็นร้อน นายพีระพันธุ์ ระบุเพียงว่า ไม่หนักใจและสามารถชี้แจงได้ในประเด็นถุงยังชีพ

ส่วนนายหิมาลัย ผิวพรรณ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ในฐานะผู้อำนวยการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นกรณีถือหุ้นบริษัทและการแจกถุงยังชีพโดยมีสติกเกอร์ นายพีระพันธุ์ไม่ได้หนักใจเป็นความเข้าใจผิดของทีมงาน และไม่ได้ทันสังเกต แต่พอเห็นก็รีบให้แก้ไขและเดินทางกลับ
“ส่วนเรื่องหุ้น เหมือนเทคนิค ...เรื่องนี้เป็นเทคนิคข้อกฎหมายที่นำมาเล่นงาน แต่นายพีระพันธุ์ได้ทำตามกระบวนการส่วนตัวครบถ้วนเรียบร้อยหมดแล้ว และนายพีระพันธุ์ก็จะไปชี้แจงด้วยตัวเอง และมีความมั่นใจมาก บริษัทบางบริษัทก็ร้าง บางบริษัทไม่ได้ทำกิจการแล้ว และไม่มีบริษัทไหนทำเกี่ยวกับพลังงาน และไฟฟ้า” ที่ปรึกษารมว.พลังงาน ระบุ
และไม่ว่าจะอย่างไร ทั้งหมดนี้จะมีเหตุที่ให้กกต.ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและมีคำพิพากษาว่า นายพีระพันธุ์ เคยเป็นหรือยังคงเป็นกรรมการทั้ง 3 บริษัทข้างต้น ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 187และเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) หรือไม่
จึงเป็นชะตากรรมที่ “นายพีระพันธุ์” อดีตผู้พิพากษาเก่ายากจะหลีกเลี่ยง ท่ามกลางกระแสกดดันจากภาคเอกชนที่ออกมาคัดค้านนโยบายโครงสร้าง Pool Gas เพื่อลดต้นทุนเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้า หลังรมว.พลังงานมีแนวคิดจะไม่ใช้ Single Pool Gas แบบปัจจุบันที่เฉลี่ยเป็นราคาเดียวกันในทุกภาคส่วน
อ่านข่าว
สัประยุทธ์สุดซอย “ฟอกเงิน-ฮั้วสว.“ อำนาจเจริญ พื้นที่ชี้ชะตา ?