“เอ็กโซสเกเลตัน” (Exoskeleton) หรือหุ่นยนต์ฝึกเดินเสมือนจริง เป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาปรับใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีปัญหาในการเคลื่อนไหว หรือมีภาวะกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ แอมเฮิร์สต์ (University of Massachusetts Amherst) กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มหุ่นยนต์โครงกระดูกที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในการฟื้นฟูสมรรถภาพการเดิน เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกยิ่งขึ้น
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกว่า 80% สูญเสียการทำงานของกล้ามเนื้อขา 1 ข้าง การฝึกร่างกายของผู้ป่วยเพื่อแก้ปัญหาการเดินไม่สมมาตรถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการฟื้นฟูสมรรถภาพ นักวิจัยจึงคิดค้นหุ่นยนต์ฝึกเดินเสมือนจริงที่ใช้งานร่วมกับลู่วิ่งไฟฟ้า โดยมีแรงบันดาลใจจากความสำเร็จของลู่วิ่งแบบแยกสายพาน ซึ่งทีมนักวิจัยได้ต่อยอดเพิ่มเติมในการพัฒนาระบบโครงกระดูกตั้งแต่ช่วงสะโพกที่เลียนแบบการทำงานของสายพานที่วางข้างกันแต่เคลื่อนที่ในความเร็วที่แตกต่างกัน เพื่อขยายความไม่สมดุลของท่าเดินเพื่อปรับปรุงการเรียนรู้ของมอเตอร์
หุ่นยนต์ฝึกเดินเสมือนจริงจะถูกสวมไว้รอบเอวและยึดไว้กับต้นขาของผู้ใช้ ช่วยให้ผู้ใช้ปรับก้าวได้โดยการบังคับขาทั้งสองข้างให้ก้าวในจังหวะที่คล้ายกัน โดยหุ่นยนต์จะทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มกำลังแก่สะโพกเมื่อมีการก้าวเท้าข้างที่บกพร่อง ขณะเดียวกันก็รั้งสะโพกที่มีความสามารถมากกว่าเอาไว้
จากการทดสอบกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้ง 13 ราย พบว่าผู้เข้าร่วมมีรูปแบบการเดินที่สมมาตรมากขึ้นหลังจากใช้หุ่นยนต์ช่วยเดินบนลู่วิ่ง อีกทั้งหุ่นยนต์ฝึกเดินเสมือนจริงสามารถพกพาได้ จึงสามารถใช้ในระหว่างการเดินบนพื้นดินได้ด้วย ช่วยให้ผู้ใช้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น
ที่มาข้อมูล: upi, umass, newatlas
ที่มาภาพ: umass
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech