อ่านสถานการณ์ความไม่สงบ “เมียนมา” ภายใน 10 ข้อ


Insight

12 เม.ย. 67

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
อ่านสถานการณ์ความไม่สงบ “เมียนมา” ภายใน 10 ข้อ

เหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมา กำลังเป็นที่สนใจต่อผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทย ที่มีชายแดนติดกับพื้นที่การสู้รบในเมียนมา ณ เวลานี้ Thai PBS สรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแบบเข้าใจง่าย มาให้อ่านกัน 10 ข้อ

1. สถานการณ์นี้ ใครสู้รบกับใคร ?

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการสู้รบระหว่างกองทัพทหารเมียนมา กับทหารสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 5 เมษายน 67 กองกำลัง KNU ได้ออกแถลงการณ์ สามารถยึดพื้นที่โดยรอบเมืองเมียวดีได้เกือบทั้งหมด หรือเป็นพื้นที่กว่า 90% เหลือเพียงแต่เมืองเมียวดีเท่านั้น

2. สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง คือใคร ? 

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union) หรือ KNU ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1947 หลังการแยกตัวเป็นเอกราชของเมียนมาจากอังกฤษ โดยกลุ่มกะเหรี่ยง KNU เริ่มต่อสู้กับรัฐบาลกลางเมียนมา มาตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 1949 ด้วยเป้าหมายหลักในยุคแรกเริ่มคือ ต้องการแยกตัวเป็นเอกราช ก่อนที่ต่อมาจะหันมาเรียกร้องให้มีการปกครองในระบอบสหพันธรัฐ ซึ่งกองกำลังหลักหรือกองทัพของกลุ่มกะเหรี่ยง KNU มีชื่อเรียกว่า กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง KNLA (Karen Nation Liberation Army)

3. ไม่ใช่แค่กลุ่ม KNU แต่ยังมีกองกำลังชาติพันธุ์กระเหรี่ยงอีกหลายกลุ่ม ที่สู้รบกับกองทัพเมียนมา

นอกจากกลุ่มกะเหรี่ยง KNU ยังมีกองกำลังชาติพันธุ์กระเหรี่ยงอีกหลายกลุ่ม ที่รวมตัวสู้รบกับรัฐบาลทหารเมียนมา เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1949 หรือ 75 ปีมาแล้ว ก่อนที่ในปี 2013 รัฐบาลเมียนมา กับผู้แทนของ 17 กองกำลังชาติพันธุ์ ซึ่งรวมถึงกลุ่มกะเหรี่ยง KNU จะลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement)

4. 8 ปีผ่านไป เหตุการณ์กลับมาตึงเครียดอีกครั้ง

กุมภาพันธ์ 2021 กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซูจี ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ รวมทั้งกะเหรี่ยง KNU กลับมาสู้รบกับกองทัพรัฐบาลทหารเมียนมาอีกครั้ง ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่ถูกยึดอำนาจ มีการตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government : NUG) หรือรัฐบาลเงาเมียนมา มีกองกำลังติดอาวุธของตนเองภายใต้ชื่อ กองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ People's Defence Force (PDF) เป็นการรวมกลุ่มเยาวชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย เพื่อตอบโต้การรัฐประหารที่เกิดขึ้น

5. KNU จับมือกับ PDF สู้กองทัพทหารเมียนมา

การกลับมาสู้รบกับกองทัพทหารเมียนมา กองทัพกะเหรี่ยง KNU มีจุดยืนคือ ต้องการให้กองทัพเมียนมาวางมือจากการเมือง และต้องรับผิดชอบต่อการก่ออาชญากรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งต้องการเปลี่ยนแปลง ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือน ซึ่งจุดยืนทั้งหมดนี้ สอดคล้องกับท่าทีของรัฐบาลเงา จึงทำให้ KNU และ PDF กลายเป็นพันธมิตร ร่วมสู้รบกับกองทัพทหารเมียนมา

6. นอกจาก KNU หรือ PDF ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ 

เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้กองกำลังกะเหรี่ยงมีความเข้มแข็ง เนื่องจาก KNU ร่วมมือกับกองกำลังต่อต้านที่มีขนาดใหญ่กลุ่มอื่น ๆ เช่น กองกำลังชาติพันธุ์กะเรนนี หรือ KNDF (Karenni Nationalities Defence Force) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐกะเหรี่ยง รวมถึงกองทัพเอกราชคะฉิ่น หรือ KIA (Kachin Independence Army) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศเมียนมา รวมไปถึงกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยง หรือ กะเหรี่ยง BGF (Karen Border Guard Force) โดยปัจจุบันมีกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ราว 25 กลุ่ม

7. กลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ โจมตียึดเมืองต่าง ๆ ในเมียนมามาตั้งแต่ปีก่อน

ช่วงปลายปี 2566 มีข่าวการยึดพื้นที่โดยกองกำลังชาติพันธุ์ออกมาอยู่เรื่อย ๆ หรือเรียกว่า ปฏิบัติการ 1027 (Operation 1027) ซึ่งกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ นำโดย กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชนชาติพม่า MNDAA (Myanmar National Democratic Alliance Army) หรือกองทัพโกกั้ง, กองทัพปลดปล่อยชนชาติดะอั้ง TNLA (Ta’ang National Liberation Army) และ กองทัพอาระกัน AA (Arakan Army) ร่วมกันปฏิบัติการโจมตีเมืองสำคัญ เช่น เมืองลอยก่อ, เมืองเล่าห์ก่าย, เมืองโก, ชินฉ่วยห่อ, น้ำคำ, พองแสง และกุ๋นหลง รวมไปถึง “เนปิดอว์” เมืองหลวงเมียนมา ที่มีข่าวออกมาว่า ถูกกองกำลังกะเหรี่ยงโจมตีด้วยโดรน ก่อนที่ต่อมา ทางการเมียนมาจะออกมาโต้ว่า มีการยิงโดรนดังกล่าวลงได้ทั้งหมด

8. ไฟสงครามลุกลามหนัก เมื่อกองกำลังชาติพันธุ์บุกยึดเมืองเมียวดี

เมษายน 2567 มีข่าวทหารกะเหรี่ยง KNU และ PDF บุกเข้ายึดบก.ยุทธวิธี และค่ายทหารเมียนมา 7 แห่ง ที่เมืองเมียวดีได้สำเร็จ ก่อนที่จะบุกยึดค่ายผาซอง กองพันทหารราบที่ 275 ซึ่งเป็นฐานที่มั่นใหญ่และแข็งแกร่งที่สุดของกองทัพเมียนมา โดยค่ายแห่งนี้อยู่ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 ตรงข้ามบ้านริมเมย ต. บ้านท่าสายลวด อ. แม่สอด ประมาณ 2 กิโลเมตร

9. ผลพวงจากการสู้รบ ชาวเมียนมาทะลักเข้าไทย

หลังการปะทะกัน และบุกยึดเมืองเมียวดี ส่งผลให้ทหารและชาวเมียนมา เดินทางหลบหนีเข้ามาบริเวณด่านพรมแดนแม่สอด จ.ตาก ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารไทย ต้องตรึงกำลัง และตรวจสอบอย่างเข้มงวด โดยปกติมีชาวเมียนมาขอข้ามแดนชั่วคาว วันละ 1,000 – 2,000 คน แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ มีชาวเมียนมาขอข้ามแดนเข้ามาเพิ่มขึ้นกว่าวันละ 4,000 คน ทั้งนี้ทางการไทย โดยรัฐบาล มีการออกข่าว เรื่องการเตรียมรองรับผู้อพยพจากชายแดนเมียนมาเข้ามาเป็นการชั่วคราว จำนวนราว 100,000 คน

10. นายกฯ ไทยสั่งคุมเข้มชายแดน พร้อมผลักดันการสู้รบไม่ให้ล้นแนว

สถานการณ์สู้รบในเมียนยังคงต้องติดตามต่อไป โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่ง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ สั่งตรวจสอบคุมเข้ม เรื่องความปลอดภัยบริเวณชายแดน และเน้นย้ำห้ามการสู้รบ ล้นเข้ามาบนน่านฟ้าของไทย

ติดตามสถานการณ์ “การสู้รบในเมียนมา” กันต่อไป และขอให้เหตุการณ์สงบลงให้เร็วที่สุด


อ่านข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- “ทหารกะเหรี่ยง” ยึดค่ายผาซอง 275 ของเมียนมาได้แล้วเมื่อคืนนี้ 
- “ทหารกะเหรี่ยง” ยึด "เมียวดี" แล้ว หลังรบยืดเยื้อ 4 วัน 7 ค่ายทหารเมียนมาแตก 
-กองทัพส่ง "เอฟ-16-รถหุ้มเกราะ" ลาดตระเวนแนวรบเมียนมา  
-ชาวเมียนมาแห่ซื้อคอนโดฯ ในไทย หนีเหตุไม่สงบทางการเมือง 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เมียนมาสู้รบในเมียนมากะเหรี่ยง KNUกะเหรี่ยง PDFเมียวดีแม่สอดชายแดนไทยเมียนมา
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ