อากาศร้อนจัด เลือกเสื้อผ้าสีอะไร ใส่แล้วเย็นเร็ว-ไม่เสี่ยง “ฮีทสโตรก” ?


Lifestyle

11 เม.ย. 66

ชาลี นวธราดล

Logo Thai PBS
อากาศร้อนจัด เลือกเสื้อผ้าสีอะไร ใส่แล้วเย็นเร็ว-ไม่เสี่ยง “ฮีทสโตรก” ?

การเลือกสวมใส่เสื้อผ้าสีต่าง ๆ นอกจากเสริมความเป็นมงคลแก่ผู้สวมใส่แล้ว ยังช่วยคลายร้อนได้อีกด้วย

มีงานวิจัยรองรับเมื่อปี 2020 นายโทชิอากิ อิจิโนเสะ (Toshiaki Ichinose) นักวิจัยจากสถาบันสิ่งแวดล้อมศึกษาแห่งชาติประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการทดลองเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิพื้นผิว โดยนำเสื้อเชิ้ตโปโล 9 ตัวที่ทำจากวัสดุชนิดเดียวกัน 9 สี ได้แก่ เหลือง แดง ขาว ม่วง น้ำเงิน เทา เขียว เขียวเข้ม และดำ มาเรียงไว้ที่กลางแจ้งที่แทบไม่มีลมพัด 

ซึ่งอุณหภูมิขณะทำการทดลองอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส หลังจากโดนแสงแดดเป็นเวลา 5 นาที พบว่าอุณหภูมิพื้นผิวของเสื้อเปลี่ยนไปอย่างมาก โดยมีเสื้อสีที่มีอุณหภูมิต่ำที่สุดไปจนถึงเสื้อสีที่อุณหภูมิสูงที่สุด ตามลำดับ ดังนี้ 

ขาว (ร้อนน้อยสุด วัดอุณหภูมิได้ 30 องศาเซลเซียส เท่ากับอุณหภูมิภายนอก), เหลือง, เทา, แดง, ม่วง, น้ำเงิน, เขียวอ่อน, เขียวเข้ม และดำ (ร้อนมากสุด วัดอุณหภูมิได้ 50 องศาเซลเซียส) จากงานวิจัยชิ้นนี้ทำให้มีหลายคนส่งต่อข้อมูลว่าการเลือกสีเสื้อจะช่วยป้องกันฮีทสโตรกได้ ข้อมูลนี้จะจริงหรือไม่ ? 

เสื้อผ้าสีอ่อน คลายร้อน

ไทยพีบีเอส ชวน ดร. ธีรกัญญา ศรีโพธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมีสิ่งทอและเส้นใย-วิศวกรรมพอลิเมอร์และเส้นใยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มาไขข้อข้องใจ

 

สีเสื้อผ้าช่วยป้องกันฮีทสโตรก จริงหรือไม่ ?  

เสื้อผ้ากับการป้องกันฮีทสโตรกมีส่วนสัมพันธ์กัน โดยทั่วไปเสื้อผ้าสามารถป้องกันฮีทสโตรกได้ 2 ปัจจัย คือ 1.ระบายออก 2.สะท้อนออก 

“อย่างสีเสื้อมีส่วนโดยตรงในการสะท้อนออกของแสงอาทิตย์ หลังจากดูดซับแสงอาทิตย์ที่กลายเป็นความร้อนเข้าสู่ร่างกาย” 

เสื้อผ้าสีอะไรป้องกันฮีทสโตรกได้ดีที่สุด ?

ยืนหนึ่งคือ สีขาว แต่หากอยากมีสีสัน ให้เลือกสีโทนอ่อน อย่างพาสเทล แต่ช่วงสงกรานต์หลายคนอาจอยากแต่งตัวมีสีสัน แนะนำสีเหลือง จะสะท้อนแสงได้ดี ส่วนสีโทนที่ควรเลี่ยง คือ สีเข้ม อย่างสีดำ สีแดงเลือดหมู เขียวเข้ม เขียวขี้ม้า ตรงนี้เพราะถ้าเสื้อผ้าสีเข้ม จะมีความเข้มข้นของสีย้อมเยอะ ซึ่งหากมีความเข้มข้นของสีย้อมมาก การดูดซับของเสื้อผ้าก็จะมากตาม 

ดร. ธีรกัญญา อธิบายเพิ่มเติมว่า เรื่องแสงที่เราเห็นประกอบด้วยคลื่นแสง เหมือนกับที่เราเห็นสายรุ้งเป็นสี ๆ ทีนี้หากเราเห็นวัตถุเป็นสีอะไร นั่นคือการสะท้อนช่วงคลื่นสีนั้นเข้าหาเรา ถ้าสีที่เราเห็นเป็นสีขาว แสดงว่าสะท้อนทุกช่วงคลื่นเลย หมายความว่าไม่มีความร้อนกักเก็บในวัตถุนั้น ต่างกับสีเข้ม ดูดทุกช่วงคลื่นแสง ซึ่งแสงที่ดูดมาจะกลายเป็นความร้อนในที่สุด ตรงนี้ไม่ใช่เฉพาะสีเสื้อแต่รวมถึงสีวัสดุ รถยนต์ บ้าน ยกตัวอย่างรถสีดำขับไปกลางท้องถนนจะร้อนกว่ารถสีอื่น ๆ  

ดร. ธีรกัญญา ศรีโพธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมีสิ่งทอและเส้นใย-วิศวกรรมพอลิเมอร์และเส้นใยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

เนื้อผ้าช่วยป้องกันฮีทสโตรกได้จริงหรือ ?

นอกจากเรื่องสีของเสื้อผ้า ยังมีเรื่องของเนื้อผ้า ที่ช่วยระบายความร้อน แนะนำให้เลือกเนื้อผ้าที่โปร่ง เวลาลมพัดมาจะช่วยดึงความร้อนออกจากร่างกายได้เยอะ และหลักการดึงความร้อนอีกอย่างคือ เนื้อผ้าที่สามารถซับเหงื่อได้ดีและผ้าต้องแห้งเร็ว ซึ่งเราอาจเคยได้ยินว่าผ้าคอตตอน หรือผ้าเส้นใยธรรมชาติดี แต่จริง ๆ ยังมีผ้ากลุ่มเสื้อผ้ากีฬา ที่ทำเทคโนโลยีตกแต่งผิวผ้า ให้สามารถซับเหงื่อและกระจายได้เร็ว ผู้สวมใส่จะรู้สึกดีขึ้น 

วิธีสังเกตเนื้อผ้าระบายความร้อนดี

ดร. ธีรกัญญาแนะนำให้ลองทดสอบเสื้อผ้าที่มีในบ้าน ด้วยการนำน้ำมาหยดลงบนผ้า จะสังเกตว่าน้ำที่หยดลงไปบนเนื้อผ้าเริ่มแรกจะมีลักษณะกลม แล้วจากนั้นจะค่อย ๆ ซึมหายไป ซึ่งหากเป็นผ้าที่ระบายความร้อนดี น้ำที่หยดต้องซึมได้ไว และและเห็นรอยหยดเป็นวงกว้าง ก็เปรียบเหมือนเวลาเราเหงื่อออก เสื้อผ้าจะซับเหงื่อได้ไวและละเหยเร็ว ร่างกายก็จะเย็นเร็ว

เสื้อผ้าที่ไม่ควรใส่ช่วงอากาศร้อน ?  
ฉะนั้นเนื้อผ้าที่ควรเลี่ยงสวมใส่ช่วงฤดูร้อนคือ เนื้อผ้าที่น้ำซึมผ่านช้า หรือไม่ซึมเลย เช่น ผ้าร่ม ซึ่งซับเหงื่อได้น้อย หรือไม่ซับเลย โดยสามารถพลิกดูด้านหลังของผ้า หรือดูรายละเอียดว่าผ้านี้มีส่วนผสมคอตตอน เรยอน (Rayon) เป็นใช้ได้ แต่หากเป็นผ้าใยสังเคราะห์ทั้งหมด ก็ดูว่ามีเทคโนโลยีแห้งเร็วไหม 

อาการฮีทสโตรก

อย่างไรก็ดี หากจะออกจากบ้านในช่วงอากาศร้อนจัดอย่างนี้ ฝากเลือกเสื้อผ้าสีอ่อน ผ้าน้ำหนักเบา เนื้อผ้าโปร่ง รวมถึงมีแว่น หมวกสีอ่อน ก็จะช่วยสะท้อนแสงและคลายร้อนได้ดียิ่งขึ้น 

อ่านเพิ่มเติม : ร้อนจัดแต่เหงื่อไม่ออก? เช็ก 9 อาการ “ฮีทสโตรก” รับมือในวันที่ความร้อนพุ่ง 

รับชม : การเลือกสีเสื้อ ช่วยป้องกันฮีทสโตรกได้จริงหรือ ?

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ฮีทสโตรกอากาศร้อน
ชาลี นวธราดล
ผู้เขียน: ชาลี นวธราดล

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส

บทความ NOW แนะนำ