ภายหลังจากที่ทาง GISTDA ได้เปิดเผยภาพแรกที่ถ่ายจาก “ดาวเทียม THEOS-2” ดาวเทียมถ่ายภาพดวงใหม่ที่มีคุณภาพความละเอียดสูง ในบทความนี้จะพามาสำรวจและทำความรู้จักกับ THEOS-2 ให้มากขึ้นเพื่อที่จะได้รู้จักและทราบถึงประโยชน์จากการใช้งานดาวเทียมดวงใหม่นี้
หลังจากประสบความสำเร็จในโครงการดาวเทียม THEOS หรือดาวเทียมไทยโชต (Thaichote) ดาวเทียมถ่ายภาพสำรวจทรัพยากรดวงแรกของประเทศไทย ซึ่งดาวเทียมดวงนี้ได้มีส่วนสำคัญในการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติของไทยและมีส่วนในการช่วยเหลืออุบัติเหตุเร่งด่วนครั้งสำคัญ เช่น การเป็นส่วนสำคัญในการติดตามการสูญหายของเที่ยวบิน MH-370 ที่ถึงแม้ทุกวันนี้จะไม่พบตัวเศษซากหลกของตัวเครื่องบินและการสูญหายก็ยังคงเป็นปริศนาอยู่ แต่ดาวเทียม THEOS ก็เคยถ่ายภาพพื้นผิวของมหาสมุทรอินเดียที่พบกับเศษซากบางอย่างลอยอยู่บนผิวน้ำทะเลในช่วงเวลาหลังจากการสูญหายของเครื่องบิน และภาพถ่ายจาก THEOS ก็ถูกใช้เป็นหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับการตกของเที่ยวบิน MH-370
ด้วยประโยชน์ที่ได้รับจากดาวเทียม THEOS ดวงแรก รวมถึงการใช้งานตัวดาวเทียมมาแล้วยาวนานกว่าที่ตัวดาวเทียมถูกออกแบบไว้ ทางสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA จึงมีนโยบายในการจัดหาดาวเทียม THEOS-2 ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงใหม่ที่มีคุณภาพการถ่ายภาพที่มากขึ้นและสามารถตอบสนองความต้องการของทางภาครัฐและเอกชนทั้งในไทยและต่างประเทศได้มากกว่าเดิม
คุณสมบัติของตัวดาวเทียม THEOS-2 ดวงนี้คือ มันเป็นดาวเทียมถ่ายภาพสำรวจทรัพยากรที่มีกล้องถ่ายภาพความละเอียดสูงในย่านแสงที่ตาของมนุษย์มองเห็น (Visible Light) ที่มาพร้อมกับเส้นผ่านศูนย์กลางกระจกสะท้อนแสงปฐมภูมิขนาด 500 มิลลิเมตร สามารถให้ความละเอียดของภาพที่ 50 เซนติเมตรต่อ 1 พิกเซล ซึ่งนับว่าภาพถ่ายความละเอียดสูงจากตัวดาวเทียม THEOS-2 มีคุณภาพทัดเทียมกับดาวเทียมถ่ายภาพประเภทเดียวกัน (ที่ประมาณ 0.25-0.5 เมตร) เช่น WorldView-4 ของ ESA อีกทั้งตัวกล้องถ่ายภาพบนดาวเทียม THEOS-2 นั้นยังเป็นกล้องถ่ายภาพที่รับช่วงคลื่นกว้างครอบคลุมตั้งแต่ในย่าน Visible Light ไปจนถึง Near-IR หรืออินฟราเรดย่านใกล้ และด้วยมุมของภาพที่ความกว้าง 10 กิโลเมตร สามารถถ่ายภาพตำแหน่งใกล้เคียงโดยตัวกล้องสามารถเอียงประมาณ 30 องศาเพื่อให้สามารถถ่ายภาพในพื้นที่ที่ต้องการได้
วงโคจรของ THEOS-2 นั้นเป็นวงโคจรแบบตัดผ่านขั้วเหนือใต้ของโลก (Polar Orbit) ที่สัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ (Sun-Synchronous Orbit) รูปแบบวงโคจรที่ออกแบบมานี้ทำให้ดาวเทียม THEOS-2 จะเดินทางโฉบผ่านพื้นผิวที่ช่วงเวลาประมาณ 9-10 นาฬิกาของเวลาท้องถิ่นของพื้นผิวที่ตัวดาวเทียมตัดผ่านเสมอ จึงสามารถมองเห็นพื้นผิวที่ช่วงเวลากลางวันอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ระดับความสูงของวงโคจรดาวเทียม THEOS-2 อยู่ในระดับวงโคจรเดียวกับดาวเทียม WorldView-4 ที่ความสูงประมาณ 621 กิโลเมตรจากพื้นผิวของโลก ดาวเทียม THEOS-2 จึงมีคาบการโคจรที่ 97.25 นาที และจะโคจรกลับมาอยู่เหนือจุดเดิมบนผิวโลกทุก 26 วัน ณ ตำแหน่งของพื้นผิวแบบตั้งฉากพอดี (Nadir) สามารถถ่ายภาพและส่งข้อมูลลงมาที่สถานีภาคพื้นดินได้ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตารางกิโลเมตรต่อวัน
ดาวเทียม THEOS-2 จะมีอายุการใช้งานประมาณ 10 ปีหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการเทียบคุณสมบัติของอุปกรณ์ถ่ายภาพ ซึ่งขณะนี้พร้อมสำหรับการดำเนินงานทางวิทยาศาสตร์และงานที่ได้รับมอบหมายจากทั้งภาครัฐและเอกชนแล้ว
โครงการดาวเทียม THEOS-2 ใช้งบประมาณอยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วยดาวเทียมทั้งหมด 2 ดวง คือ ดาวเทียม THEOS-2 และดาวเทียม THEOS-2A ในส่วนของดาวเทียม THEOS-2A นั้นจะเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรขนาดเล็กดวงแรกของไทยที่วิศวกรไทยมีส่วนร่วมในการพัฒนาตัวดาวเทียม ซึ่งมีกำหนดปล่อยภายในปีนี้กับจรวด PLSV ของอินเดีย
เรียบเรียงโดย : จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร : ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : GISTDA, spaceth, GISTDA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech