รู้จัก North Atlantic Track หนึ่งในน่านฟ้าที่มีความหนาแน่นที่สุดในโลก


Logo Thai PBS
รู้จัก North Atlantic Track หนึ่งในน่านฟ้าที่มีความหนาแน่นที่สุดในโลก

น่านฟ้าเหนือมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นหนึ่งในน่านฟ้าที่มีความหนาแน่นของการจราจรทางอากาศสูงที่สุดในโลก ยิ่งไปกว่านั้นด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่ของมหาสมุทรแอตแลนติกได้ให้การสื่อสารด้วยวิทยุกับเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศตามปกตินั้นเป็นไปได้ยาก และต้องใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทางไกลอย่างการสื่อสารด้วยดาวเทียมแทน

นอกจากนี้หากเกิดเหตุฉุกเฉินระหว่างทาง นักบินจะต้องตัดสินใจระหว่างการบินกลับท่าอากาศยานหรือจะพยายามบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกต่อเพื่อลงจอดฉุกเฉินในอีกฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก

ด้วยปัจจัยเหล่านี้เอง จึงมีการสร้างเส้นทางการบิน Airway ที่เรียกว่า “North Atlantic Tracks” หรือ “NAT” ขึ้นมาเพื่อช่วยควบคุมการจราจรทางอากาศเหนือมหาสมุทรแอตแลนติก

เส้นทาง North Atlantic Track หลักในปัจจุบัน สำหรับการเดินทางข้ามมหาสมุทรโดยอากาศยาน

เนื่องจากมหาสมุทรแอตแลนติกนั้นครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่คั่นกลางระหว่างแผ่นดินสองแผ่นดิน ซึ่งก็คือทวีปอเมริกาเหนือและทวีปยุโรป เราจึงไม่สามารถตั้งสถานีวิทยุหรืออุปกรณ์นำทางอย่างเสาสัญญาณ สถานีวิทยุเครื่องช่วยการเดินอากาศ (Very-High Frequency Omnidirectional Radio Range หรือ VOR) คู่กับสถานีวิทยุเครื่องช่วยการเดินอากาศ (Distance Measuring Equipment หรือ DME) ได้เลย นอกจากนี้เอง เสาสัญญาณ VOR/DME ที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกก็ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจาก ระบบ VOR/DME จำเป็นต้องมี “Line-of-Sight” กับเครื่องบิน แต่เพราะโลกนั้นเป็นทรงกลม ทำให้ในที่สุด เสาสัญญาณ VOR/DME จะลับขอบฟ้าและไม่สามารถใช้งานได้

ดังนั้นเครื่องบินในปัจจุบันจะต้องอาศัยระบบนำทางด้วยดาวเทียม (Global Navigation Satellite System หรือ GNSS) อย่าง GPS เท่านั้น

แผนที่ทางเข้า NAT จากฝั่งตะวันตกหรือฝั่งสหรัฐอเมริกา

NAT ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยในการควบคุมและเว้นระยะห่างระหว่างเครื่องบินแต่ละลำเสมือนถนนในน่านฟ้าเพื่อป้องกันการชนกันกลางอากาศหรือการรุกล้ำระยะของกันและกัน เนื่องจากสัญญาณเรดาร์นั้นไม่ครอบคลุมบางส่วนของมหาสมุทรแอตแลนติก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณกลางมหาสมุทร ทำให้เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศจะไม่สามารถทราบสถานการณ์ใด ๆ ของเครื่องบินที่บินอยู่เหนือมหาสมุทรแอตแลนติกได้เลยหากปราศจากข้อมูลจากดาวเทียม

แผนที่ทางเข้า NAT จากฝั่งตะวันออกหรือฝั่งทวีปยุโรป

NAT มีหลายเส้นทาง คล้ายกับถนนที่มีหลายเลน ก่อนที่เครื่องบินจะเข้าสู่เขตมหาสมุทรแอตแลนติก เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศเหนือมหาสมุทรจะจัดให้เครื่องบินแต่ละลำอยู่ในเลนที่แตกต่างกันโดยคำนึงถึงน้ำหนักของเครื่องบิน ชนิดของเครื่องบิน และปลายทาง ก่อนที่จะสั่งให้เครื่องบินลำดังกล่าวบินไปที่จุดเข้า NAT เมื่อเข้าสู่ NAT Airway แล้ว

เครื่องบินไม่สามารถเปลี่ยนเลน NAT โดยไม่ได้รับอนุญาตได้ เครื่องบินแต่ละลำจะต้องรักษาความเร็วของตนเนื่องจากจะมีเครื่องบินลำอื่นบินตามหลังมาตลอดเวลา โดยที่จะระยะห่างระหว่างเครื่องบินประมาณ 10 นาที

หากเกิดเหตุฉุกเฉินซึ่งทำให้เครื่องบินไม่สามารถรักษาระยะห่างได้ เครื่องบินสามารถเบนออกไปบินขนานกับ NAT Airway ได้เพื่อให้เครื่องบินลำอื่นแซง จากนั้นจึงแจ้งกับเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศผ่านระบบการสื่อสารระยะไกล เช่น CPDLC (ระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียม) หรือ วิทยุความถี่สูง (HF) ร่วมกับ SELCAL

ตัวอย่างการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศและนักบินผ่านระบบ CPDLC

CPDLC (Controller-Pilot Data Link Communication) นั้นเป็นการสื่อสารด้วยข้อความผ่านระบบดาวเทียม ข้อความที่ถูกส่งระหว่างเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศที่รับผิดชอบพื้นที่เหนือมหาสมุทรแอตแลนติกและนักบินนั้นจะเป็นข้อความตัวหนังสือ เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศนั้นสามารถออกคำสั่งผ่านระบบ CPDLC ได้ เช่น การสั่งให้เครื่องบินเปลี่ยนเส้นทาง เปลี่ยนคลื่นวิทยุ หรือเพื่อให้ข้อมูลแก่นักบิน ขณะเดียวกัน นักบินก็สามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศเพื่อขออนุญาตเปลี่ยนเส้นทางการบินหรือประกาศเหตุฉุกเฉินได้ นอกจากนี้นักบินยังสามารถรับข้อมูลการบินอื่น ๆ จากระบบส่งข้อมูลการบินอัตโนมัติได้อีกด้วย

ในภาพนี้เป็นตัวอย่างของการสื่อสารด้วย CPDLC จากเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศถึงเครื่องบินรหัส 4X-EDL ซึ่งขณะนั้นบินอยู่เหนือบริเวณจุดเกิดเหตุเรือดำน้ำไททันสูญหายวันที่ 20 มิถุนายน 2023

เรียบเรียงโดย โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

North Atlantic TrackNATน่านฟ้ามหาสมุทรแอตแลนติกเครื่องบินอากาศยานเทคโนโลยีTechnologyThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech InnovationInnovation Tech World
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ