ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ฉางเอ๋อ-6” ทะยานขึ้นจาก “ดวงจันทร์” พร้อมตัวอย่าง “ด้านไกล” ชุดแรก


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

4 มิ.ย. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

“ฉางเอ๋อ-6” ทะยานขึ้นจาก “ดวงจันทร์” พร้อมตัวอย่าง “ด้านไกล” ชุดแรก

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1247

“ฉางเอ๋อ-6” ทะยานขึ้นจาก “ดวงจันทร์” พร้อมตัวอย่าง “ด้านไกล” ชุดแรก
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีนรายงานวันนี้ (4 มิ.ย. 67) ว่ายานพุ่งขึ้นของยานอวกาศ “ฉางเอ๋อ-6” (Chang’e-6) ของจีน ทะยานขึ้นจากพื้นผิวดวงจันทร์เมื่อช่วงเช้า พร้อมตัวอย่างที่เก็บจาก “ด้านไกลของดวงจันทร์” ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอันมิเคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การ “สำรวจดวงจันทร์” ของมนุษย์

ยานพุ่งขึ้นทะยานขึ้นจากด้านไกลของดวงจันทร์ ตอน 07.38 น. ตามเวลาปักกิ่ง (06.38 น. ตามเวลาประเทศไทย) และเข้าสู่วงโคจรที่กำหนดรอบดวงจันทร์ด้วยแรงผลักจากเครื่องยนต์ ขนาด 3,000 นิวตัน โดยยานอวกาศฉางเอ๋อ-6 เสร็จสิ้นการเก็บตัวอย่างอย่างชาญฉลาดและรวดเร็ว และตัวอย่างถูกเก็บไว้ในกล่องภายในยานพุ่งขึ้นตามแผน

อนึ่ง ยานอวกาศฉางเอ๋อ-6 ซึ่งถูกปล่อยสู่อวกาศเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 67 ประกอบด้วยยานโคจร ยานลงจอด ยานพุ่งขึ้น และยานส่งกลับ โดยส่วนประกอบยานลงจอด-ยานพุ่งขึ้น แยกจากส่วนประประกอบยานโคจร-ยานส่งกลับ เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 67 และลงจอดบนจุดที่กำหนดในแอ่งขั้วใต้-เอตเคน เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 67

องค์การฯ ระบุว่าภารกิจนี้พิสูจน์การผ่านบททดสอบจากอุณหภูมิสูงบนด้านไกลของดวงจันทร์ ขณะเดียวกันคณะนักวิจัยได้จำลองการเก็บตัวอย่างในห้องปฏิบัติการภาคพื้นโลก โดยอ้างอิงข้อมูลที่ส่งกลับสู่โลกด้วยดาวเทียมสื่อสารเชวี่ยเฉียว-2 ซึ่งช่วยสนับสนุนการตัดสินใจและการดำเนินงานที่สำคัญ

ภาพจำลองส่วนประกอบยานลงจอด-ยานพุ่งขึ้นของยานอวกาศฉางเอ๋อ-6 รอพุ่งขึ้นจากพื้นผิวดวงจันทร์ เผยแพร่วันที่ 4 มิ.ย. 67 ภาพจากคลิปวิดีโอแอนิเมชันของศูนย์ควบคุมการบินและอวกาศแห่งปักกิ่ง

รายงานระบุว่าการเก็บตัวอย่างบนดวงจันทร์แบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่ การใช้เครื่องขุดเจาะเก็บตัวอย่างใต้พื้นผิว และการใช้แขนกลเก็บตัวอย่างบนพื้นผิว โดยมีการเก็บตัวอย่างหลากหลายชิ้นจากจุดต่าง ๆ อย่างอัตโนมัติ

เกอผิง โฆษกประจำภารกิจฉางเอ๋อ-6 เผยว่าการวิเคราะห์โครงสร้างดิน คุณสมบัติทางกายภาพ และองค์ประกอบของวัตถุตัวอย่างที่เก็บโดยภารกิจฉางเอ๋อ-6 จะให้คณะนักวิทยาศาสตร์สามารถทำการวิจัยการก่อตัวและประวัติวิวัฒนาการของดวงจันทร์ รวมถึงต้นกำเนิดของระบบสุริยะและอื่น ๆ อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งวางรากฐานสู่ภารกิจสำรวจอื่น ๆ ต่อไป

อุปกรณ์ต่าง ๆ บนยานลงจอด ได้แก่ กล้องถ่ายภาพ กล้องพาโนรามา เครื่องตรวจจับโครงสร้างดินบนดวงจันทร์ และเครื่องวิเคราะห์แร่ธาตุบนดวงจันทร์ ทำงานได้ดีและดำเนินการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ตามแผน โดยเครื่องตรวจจับโครงสร้างได้วิเคราะห์และประเมินโครงสร้างดินใต้ดินของพื้นที่เก็บตัวอย่างเพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับขุดเจาะ

ส่วนอุปกรณ์จากนานาชาติบนยานลงจอดของฉางเอ๋อ-6 ได้แก่ เครื่องทดสอบไอออนลบบนพื้นผิวดวงจันทร์ (NILS) ที่พัฒนาโดยองค์การอวกาศยุโรป/สวีเดน และเครื่องตรวจจับการปล่อยก๊าซเรดอน (DORN) ที่พัฒนาโดยฝรั่งเศส ทำงานได้ดีและดำเนินการตรวจจับทางวิทยาศาสตร์

รายงานระบุว่าเครื่องตรวจจับการปล่อยก๊าซเรดอนทำงานขณะยานอวกาศฉางเอ๋อ-6 บินจากโลกไปยังดวงจันทร์ โดยโคจรรอบและอยู่บนดวงจันทร์ ส่วนเครื่องทดสอบไอออนลงบนพื้นผิวดวงจันทร์ ทำงานขณะอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์แล้ว

นอกจากนั้นแผ่นสะท้อนแสงเลเซอร์ที่พัฒนาโดยอิตาลี ซึ่งติดตั้งอยู่ด้านบนของยานลงจอด ยังทำหน้าที่เป็นจุดระบุตำแหน่งบนด้านไกลของดวงจันทร์เพื่อการตรวจวัดระยะทางด้วย

ทั้งนี้ หลังจากเสร็จสิ้นการเก็บตัวอย่าง ธงชาติจีนบนยานลงจอดถูกคลี่ออกเป็นครั้งแรกบนด้านไกลของดวงจันทร์ โดยระบบแสดงธงชาติจีนของยานอวกาศฉางเอ๋อ-6 ถูกพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นบนพื้นฐานจากภารกิจฉางเอ๋อ-5 เนื่องด้วยมีจุดลงจอดแตกต่างกัน ส่วนยานลงจอดทำหน้าที่เป็น “ฐานปล่อย” ชั่วคราวสำหรับยานพุ่งขึ้นด้วย

การทะยานขึ้นจากด้านไกลของดวงจันทร์ของยานพุ่งขึ้นไม่สามารถเลียนแบบการทะยานขึ้นจากด้านใกล้ของดวงจันทร์ของฉางเอ๋อ-5 เพราะไม่สามารถรับการควบคุมและการสนับสนุนจากภาคพื้นโลกโดยตรง จึงต้องใช้เซนเซอร์พิเศษเพื่อระบุตำแหน่งและปรับทิศทางแบบอัตโนมัติภายใต้ความช่วยเหลือจากดาวเทียมสื่อสารเชวี่ยเฉียว-2

เฉียวเต๋อจื้อ ผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศจากบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศแห่งประเทศจีน ระบุว่าฉางเอ๋อ-6 มีระบบอัตโนมัติและความน่าเชื่อถือของระบบนำทาง ชี้ทาง และควบคุมที่พัฒนาดีขึ้นจากฉางเอ๋อ-5 เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากความไม่แน่นอนบนด้านไกลของดวงจันทร์ระหว่างทะยานขึ้น

หวงฮ่าว ผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศจากบริษัทฯ อีกคน ระบุว่าระบบควบคุมของฉางเอ๋อ-6 ถูกปรับให้มีระบบอัตโนมัติที่ดียิ่งขึ้นด้วย ทำให้สามารถทะยานขึ้นจากดวงจันทร์โดยพึ่งพาดาวเทียมสื่อสารเชวี่ยเฉียว-2 และการสนับสนุนจากภาคพื้นโลกน้อยลง

รายงานระบุว่ายานพุ่งขึ้นจะดำเนินการนัดพบและเทียบกับส่วนประกอบยานโคจร-ยานส่งกลับในวงโคจรของดวงจันทร์โดยไม่มีมนุษย์ควบคุม และตัวอย่างจากดวงจันทร์จะถูกส่งต่อสู่ยานส่งกลับ โดยส่วนประกอบยานโคจร-ยานส่งกลับ จะโคจรรอบดวงจันทร์และรอเวลาอันเหมาะสมในการเดินทางกลับสู่โลก

องค์การฯ เผยว่ายามส่วนประกอบยานโคจร-ยานส่งกลับ เดินทางเข้าใกล้โลก ยานส่งกลับที่บรรทุกตัวอย่างจากดวงจันทร์จะกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก และคาดว่าจะลงจอดบริเวณอำเภอซื่อจื่อหวัง เขตปกครองตนเองมองโกเลียในทางตอนเหนือของจีน


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ภาพจากคลิปวิดีโอแอนิเมชันของศูนย์ควบคุมการบินและอวกาศแห่งปักกิ่ง : ภาพจำลองยานพุ่งขึ้นของยานอวกาศฉางเอ๋อ-6 ซึ่งบรรทุกตัวอย่างจากด้านไกลของดวงจันทร์ พุ่งขึ้นจากพื้นผิวดวงจันทร์ เผยแพร่วันที่ 4 มิ.ย. 67

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : Xinhua

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ฉางเอ๋อ-6ยานอวกาศฉางเอ๋อ-6ยานอวกาศChang’e-6สำรวจดวงจันทร์ดวงจันทร์จีนองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีนอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphobT@thaipbs.or.th หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด