เบื้องหลังบรรยากาศในการถ่ายทำรายการ ‘Made My Day วันนี้ดีที่สุด’ กลับมาด้วยความสนุกและเฮฮาอีกครั้งกับแขกรับเชิญอย่าง ‘ป้าตือ สมบัษร ถิระสาโรช’ ผู้คร่ำหวอดในวงการออร์แกไนซ
นอกจากนี้เรายังเห็นป้าตือในวงการบันเทิงผ่านบทบาทต่าง ๆ อย่างกรรมการ นักวิจารณ์ หรือแขกรับเชิญตามรายการโทรทัศน์และช่องยูทูบ ด้วยบุคลิกและแฟชันที่โดดเด่นทำให้ป้าตือเป็นที่จดจำมาอย่างยาวนาน
ขณะเดียวกัน ป้าตือก็ยังเป็นขวัญใจและที่เคารพของคนในวงการและรุ่นน้อง แม้ป้าตือจะเกิดก่อน หรือมีช่วงวัยที่โตกว่า แต่ด้วยความคิด มุมมอง และการปรับตัวของป้าตือ ก็ยังไม่เคยตกยุค ชวนทำความรู้จักกับการปรับตัวเข้าหาของคนต่างเจน ว่ามีความสนุกและท้าทายอย่างไร
ต่างเจน ต่างความคิด
ปัจจุบันในสังคมไทยและตลาดแรงงานมีความหลากหลาย โดยเฉพาะในเรื่องของอายุหรือช่วงวัย ภาพตัวอย่างครอบครัวหนึ่งที่ประกอบด้วยปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ และลูกหรือหลาน เห็นได้ว่ามีความแตกต่างในช่วงวัยอย่างชัดเจน หรือแม้แต่ในสังคมที่ทำงาน ระดับผู้บริหารจนถึงระดับปฏิบัติการที่เข้ามาใหม่ ยังมีช่องว่างของช่วงวัย สิ่งนี้อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในความเป็นจริงอาจเกิด ‘ปัญหา’ ในอนาคตได้ ทั้งในเรื่องของความเข้าใจ การสื่อสาร และการทำงาน
‘Generation Gap หรือช่องว่างระหว่างวัย’ คำนิยามของกลุ่มคนที่มีความแตกต่างในเรื่องของอายุ ทัศนคติ ค่านิยม และประสบการณ์ เนื่องจากแต่ละช่วงวัยต่างมีเหตุการณ์ สถานการณ์ หรือการพัฒนาที่แตกต่างกัน ปัญหาที่เป็นที่พูดถึงกันอย่างมากคือ ‘ความแตกต่างทางทัศนคติ’ ทั้งในเรื่องของการมองโลก การทำงาน หรือรวมถึงการเมือง
เมื่อเจน B ‘อาวุโส’ เจน X ‘รุ่นพ่อแม่’ vs เจน Z ‘เด็กสมัยนี้’
กลุ่มคนที่มีความอาวุโสอย่าง ‘เบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer)’ เติบโตมาหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง การเติบโตของพวกเขาจึงอยู่กับความจริงจัง ทุ่มเท อดทน ชอบความมั่นคง และมีความรักในองค์กร จึงถูกมองในเชิงอนุรักษ์นิยม หรือหัวโบราณ ถัดมากลุ่มคนรุ่นพ่อแม่อย่าง ‘เจน X (Generation X)’ กลุ่มคนที่เริ่มเติบโตมาในยุคที่เริ่มพัฒนา โลกเริ่มสงบสุข ชีวิตจึงมุ่งมั่นกับการสร้างตัว และหาความสงบสุข
แต่ในทางตรงกันข้าม กลุ่มเด็กรุ่นใหม่ ไฟแรงอย่าง ‘เจน Z (Generation Z)’ ที่อาจเป็นรุ่นลูกของเจน X และรุ่นหลานของ Baby Boomer กลุ่มเด็กที่เกิดมาในยุคที่เพียบพร้อมทุกอย่าง โดยเฉพาะเทคโนโลยี เชื่อมั่นในตนเอง รักในอิสระ รวมถึงความหลากหลายทางความคิด จึงถูกมองว่ามีความอดทนต่ำ หรือดื้อรั้น
ด้วยความแตกต่างทางความคิด การเติบโตและการมองโลก นำไปสู่ความยากที่จะปรับตัวให้ผสมและกลมกลืน ในความยากนี้จึงก่อให้เกิด ‘ความไม่เข้าใจตรงกัน’ ที่นำไปสู่การโต้เถียง หรือการทะเลาะเบาะแว้ง
Empathy พื้นฐานการเข้าหาของสองเจน
สิ่งสำคัญของการปรับตัวอย่างท้าทายคือ ‘ความเข้าใจและยอมรับ’ ในความแตกต่างทางความคิด และทัศนคติ ทั้งของฝั่งตัวเองและฝั่งตรงข้าม สิ่งนี้จะทำให้เห็นถึงช่องว่างที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของ ‘จุดเด่นและจุดด้อย’ ว่าสิ่งไหนที่เราดีแล้ว หรือต้องปรับปรุง ขณะเดียวกันการมีความเข้าใจและยอมรับ จะนำไปสู่ ‘ความเข้าอกเข้าใจ (Empathy)’ หรือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา สิ่งนี้จะแตกต่างกับ ‘ความเห็นอกเห็นใจ (Sympathy)’ เพราะ ความเข้าอกเข้าใจ วางอยู่บนพื้นฐานของการพยายามเข้าใจ หรือการอิงข้อเท็จจริง มีการนึกถึงผู้อื่นและไม่ใส่อารมณ์ร่วม
สำหรับบริบทสังคมการทำงาน นอกจากการมีความเข้าอกเข้าใจกันแล้ว การปรับเปลี่ยน ‘รูปแบบการทำงาน’ ก็มีส่วนที่จะช่วยลดปัญหาช่องว่างระหว่างวัย กล่าวได้ว่า รูปแบบการทำงานต้องล้อไปกับกระแสและค่านิยมการทำงานของคนแต่ละเจน เพราะต่างเจนต่างมีการให้คุณค่ากับการทำงานที่แตกต่างกัน ระดับผู้บริหารอย่างเจน X ที่ให้คุณค่ากับการทุ่มเททำงาน รักในองค์กร มีเป้าหมายชัดเจน หรือระดับปฏิบัติการ อย่างเด็กจบใหม่ที่เป็นเจน Z ให้คุณค่ากับการทำงานมากกว่าหนึ่งงาน หรือการมองว่างานเสริมให้รายได้ดีกว่า และอาจโฟกัสกับงานประจำไม่เต็มที่
‘ช่องว่างระหว่างวัย’ จะผนึกปิดหรือใกล้ชิดกันมากขึ้น ไม่ใช่การปรับตัวของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากความเข้าอกเข้าใจกันของทั้งสองฝ่าย ปราศจากอคติที่จะพูดคุยและเปิดใจ พร้อมเรียนรู้ว่าทั้งเขาและเราต่างมีข้อบกพร่องหรือมีจุดด้อย
เพราะการเข้าหาผู้ใหญ่ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเสมอไป และการปรับตัวเข้ากับเด็กก็ไม่ได้ยาก มองให้เหมือนเกมหนึ่งที่พร้อมจะท้าทายจากจุดเริ่มต้น
รับชมเรื่องราว ‘ป้าตือ สมบัษร ถิระสาโรช’ (ในวันจันทร์ที่ 5 พฤษภาคม 2568 เวลา 21.30 น.) ที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนได้เห็นคุณค่าของการมีชีวิต หรือได้มุมมองใหม่ ๆ และพร้อมมีวันนี้ดีที่สุดในรายการ “Made My Day วันนี้ดีที่สุด” ทางช่อง Thai PBS หมายเลข 3 หรือ รับชมออนไลน์ผ่านทาง www.thaipbs.or.th/Live และชมย้อนหลังได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/program/MadeMyDay
อ้างอิง
- การสื่อสารระหว่าง Generation Gap เปลี่ยน ‘ช่องว่าง’ ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์
- องค์กรจะบริหาร ‘GENERATION GAP’ อย่างไร เพื่อให้ดีต่อใจกับทุกฝ่าย