ศิลปินอินดี้มักขึ้นชื่อในเรื่องของความหวงแหนตัวตน ซึ่งตัวตนเหล่านั้นถือเป็นเรื่องสำคัญที่วงดนตรีหรือศิลปินทุกคนควรต้องมี แต่หากมีมากเกินไป จนทำให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ ตามมา
ไม่ว่าจะเป็นทางยอดขาย หรือแม้แต่ผลงานที่เปลี่ยนไปจนแฟนเพลงเข้าไม่ถึง ความกดดันของการสร้างผลงานใหม่ ๆ ให้เข้าถึงคนฟังอีกครั้งควรทำอย่างไร ควรเดินตามกระแสตามทิศทางที่ควรจะเป็น หรือยังคงรักษาความเป็นตัวเองอยู่ ?
ทางออกหรือคำตอบของเรื่องนี้สำหรับคุณเป็นอย่างไรบ้าง และอะไรคือสมดุลตรงกลางที่ศิลปินอินดี้ รวมไปถึงแฟนเพลงอย่างเราควรรับรู้ ติดตามได้ในบทความตอนนี้
รายการนักผจญเพลง Replay เชิญกลุ่มศิลปินอินดี้ที่ปัจจุบันมีฐานแฟนเพลงเป็นจำนวนมาก และเพลงของพวกเขายังได้รับความนิยมในหมู่คนฟังชนิดที่ว่า แม้คุณไม่เคยฟังเพลงของพวกเขาในยุคแรก ๆ แต่คุณจะต้องเคยได้ยินบางเพลงมาแล้วอย่างแน่นอน
ไม่ว่าจะเป็นเพลง อ๊อด อ๊อด หรือ กระเป๋าแบนแฟนยิ้ม ผลงานเพลงจากวง The Richman Toy หรือเพลง เซโรงัง หรือเพลง หรือ จากวง Slur หรือแม้แต่เพลงของศิลปินรุ่นใหญ่อย่าง เจ Penguin Villa อย่างเพลง Good Morning หรือเพลง ACROPHOBIA
ศิลปินเหล่านี้ ทั้งเจ Penguin Villa, สมาชิกจากวง The Richman Toy และวง Slur ต่างได้มาแชร์มุมมองเกี่ยวกับบทบาทของการเป็นศิลปินอินดี้แห่งยุค ที่แต่ละคนมีคาแรกเตอร์วงที่ชัดแจน และตัวตนของพวกเขายังได้ถูกส่งต่อออกมาผ่านผลงานเพลง ซึ่งแต่ละวงนั้นมีฐานแฟนเพลงที่แตกต่างกันออกไป และมีกลุ่มแฟนเพลงก็เป็นกลุ่มที่หลากหลายเช่นกัน
แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้พวกเขายังคงยืนหยัดในแนวทางของตัวเองได้ แต่ละคนได้ให้มุมมองที่น่าสนใจ ไปติดตามเรื่องราวของศิลปินอินดี้แห่งค่าย Smallroom พร้อมกัน
เริ่มต้นกันที่ The Richman Toy ที่สมาชิกในวงได้ให้มุมมองในการทำเพลงเอาไว้ว่า ความยากของการทำเพลงอยู่ที่ต้องแบ่งส่วนของการทำเพลงให้ดี หากทำเพื่อฟังกันเองก็ทำได้ไม่ยาก เพราะทำในสิ่งที่อยากจะทำกัน แต่ก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่า เมื่อทำออกมาแล้วคนฟังจะชอบหรือไม่
ซึ่งวงนี้เคยสร้างเพลงที่เป็นตัวเองมาก ๆ โดยมีท่อนร้อง หรือท่วงทำนองที่ฟังยาก แม้แต่ตัวสมาชิกในวงเอง ก็ยังรู้สึกว่าหากคนที่ไม่ได้มีความชื่นชอบในแนวเพลงอินดี้ อาจรู้สึกไม่อยากฟังเลยด้วยซ้ำ ถึงขั้นที่ว่าฟังแล้วอาจเกิดความรู้สึกว่าน่ารำคาญเลยก็ว่าได้
ซึ่งทุกวันนี้ The Richman Toy ก็ยังหาตัวตนกันอยู่ในทุก ๆ เพลงที่ทำ และอีกสิ่งที่ยากของ The Richman Toy คือ ความคาดหวัง เนื่องจากเพลง “กระเป๋าแบนแฟนยิ้ม” หรือเพลง “อ๊อด อ๊อด” เคยเดินทางไปถึงจุดสูงสุด สิ่งที่ยากคือการวางสมดุลย์ในความเป็นตัวเอง กับสิ่งที่คนอื่นอยากให้เป็น
ต่อกันที่แนวคิดของวงดนตรีอินดี้สุดแนวอย่าง Slur ทางสมาชิกในวงได้บอกว่า “พวกเราเป็นวงดนตรี Anti-Mass ไม่ค่อยอยากทำเพลงที่กำลังเป็นที่นิยม” ซึ่งตัวตนของ Slur ชัดเจนในแนวทางว่าวงไม่ได้ตั้งโจทย์เลยว่าเวลาทำเพลงแล้วเพลงต้องดัง หรืองานต้องเยอะ
ซึ่ง เย่ นักร้องนำของวง ยังได้แชร์มุมมองความสนุกของการทำเพลงในแบบ Slur ว่า คือการทดลอง คือการตั้งเป้าหมายของการทำเพลงเอาไว้ แล้วหาวิธีทำมันออกมาให้ได้แบบนั้น นั่นคือเป้าหมายหลัก จึงเป็นเหตุผลที่วงไม่ได้มองในภาพของการทำเพลงให้ดัง แต่อยากทำเพลงในแบบที่ตนอยากทำมากกว่า ซึ่งแค่ทำเพลงแล้วเพื่อนในวงทุกคนรู้สึกชอบกัน เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
บู้ มือเบสของวงยังเสริมอีกว่า Slur คือที่รวมจิตวิญญาณ และตอนนี้ Slur คือวงร็อกที่สวยงามสำหรับพวกเขา ยังไม่มีความคิดที่จะเลิกทำวง ไม่มีเหตุผลของการแยกทางว่าเพราะอะไรพวกเขาถึงต้องหยุดทำ
เมื่อความเป็นตัวเองของแต่ละวงชัดเจน แต่จะต้องวาง Balance อย่างไรกับผลงาน เพื่อไม่ให้กระทบต่อคนฟัง ไม่ให้รู้สึกว่าเพลงของวง เข้าถึงยากจนเกินไป เรื่องนี้ เจ Penguin Villa ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจเอาไว้ว่า การจะวาง Balance ให้ความเป็นตัวตนไม่หายไป และยังอยู่ในความคาดหวังในการฟังเพลงของคนอื่นได้ สิ่งนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ในการทำเพลง
ในมุมของคนทำเพลง หากผ่านอัลบั้มแรกไปได้ อัลบั้มต่อไปก็จะยากมากขึ้น เนื่องจากเริ่มมีผู้คนให้การยอมรับ ซึ่งสิ่งนี้จะเริ่มยากขึ้นในการทำงาน เนื่องจากมีความกดดันมากยิ่งขึ้น เพราะแฟนเพลงมีผลมากต่อการทำงานของศิลปิน ต่อวงดนตรีวงหนึ่ง ซึ่งจุดที่มีความกดดันนี้เอง จะเริ่มมีผลต่อตัวตนของคนทำเพลง ว่าจะต้องวางตัวอย่างไร ต้องเริ่มไปทำเพลงแบบคนนู้นคนนี้หรือไม่ เพลงถึงจะดังขึ้น
ซึ่งสิ่งที่เป็นคำตอบให้ศิลปินแต่ละคนได้นั้น ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในการทำงาน พอถึงจุดหนึ่ง เราจะสามารถหล่อหลอมความ Balance ในตัวตนของเราได้เอง
การหวงแหนในความเป็นตัวตนของตัวเอง หรือการยึดมั่นในความเป็นตัวเองในแบบสุดโต่ง หากมากเกินไปจนเพลงแฟนเริ่มเข้าไม่ถึง นั่นก็อาจทำให้พวกเขาเลิกฟังเพลงของวงไปเลยก็ได้ สิ่งเหล่านี้วงดนตรีหรือตัวของศิลปินเอง จะต้องกลับมาทบทวน และอาจจะต้องหันกลับมาหา “จุดตรงกลาง” ให้เจอ
แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ประสบการณ์ที่สั่งสมมา จะเป็นสิ่งที่บอกได้ว่า ศิลปินควรทำอย่างไร ควรจะเดินต่อไปทางไหน ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ เป็นสิ่งที่สอนกันไม่ได้จริง ๆ
ในรายการนักผจญเพลง Replay ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมายของ 3 ศิลปินจากค่าย Smallroom อย่างเจ Penguin Villa, The Richman Toy และ Slur สามารถรับชมได้ทางเว็บไซต์ กับตอนที่มีชื่อว่า “โทษทีพี่ไม่ MASS”