ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

10 เรื่องน่ารู้ วันฉัตรมงคล พระราชพิธีอันเก่าแก่ของประเทศไทย


Lifestyle

3 พ.ค. 68

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

10 เรื่องน่ารู้ วันฉัตรมงคล พระราชพิธีอันเก่าแก่ของประเทศไทย

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2647

10 เรื่องน่ารู้ วันฉัตรมงคล พระราชพิธีอันเก่าแก่ของประเทศไทย
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

 

4 พฤษภาคม วันฉัตรมงคล อีกหนึ่งวันสำคัญของประชาชนชาวไทย นับจากอดีตสู่ปัจจุบัน วันฉัตรมงคลมีเกร็ดน่ารู้ที่น่าสนใจมากมาย Thai PBS รวบรวมเรื่องราววันฉัตรมงคล วันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย มาบอกกัน 

1.วันฉัตรมงคล มีความหมายว่าอย่างไร ?

วันฉัตรมงคล คือ วันครบรอบปีแห่งการเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติของพระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์แต่ละรัชกาล ถือเป็นวันฉัตรมงคล วันมหามงคลสมัย 

โดยคำว่า ฉัตร แปลว่า ร่ม ซึ่งใช้แสดงเครื่องหมายเกียรติยศหรือมีความสำคัญ ส่วนคำว่า มงคล หมายถึง ความจริง ความดีงาม วันฉัตรมงคล จึงหมายถึง ความเจริญ ความดีงามของเศวตรฉัตร

2. วันฉัตรมงคล นัยยะความหมายของคำว่า ‘ฉัตร’ 

คำว่า ฉัตร ในพระราชพิธีฉัตรมงคล คือ ฉัตรเก้าชั้น หรือที่เรียกว่า นพปฏลมหาเศวตรฉัตร ซึ่งเป็นเครื่องหมายของพระมหากษัตริย์ของไทยมาแต่โบราณ แต่เดิมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จุดสำคัญของพิธีคือ การทูลเหล้าทูลกระหม่อม ถวายเศวตรฉัตรแด่พระมหากษัตริย์ไทยนั่นเอง

3.วันฉัตรมงคล เริ่มขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไร ?

พระราชพิธีฉัตรมงคลเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยพระราชทานนามว่า พระราชพิธีฉัตรมงคล จัดงานวันฉัตรมงคล 4 วัน ในช่วงเดือนหก ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พระราชพิธียังคงจัดขึ้นในเดือนหก ต่อมาจนถึง พ.ศ. 2417 จึงเปลี่ยนมาจัดในเดือนสิบสอง อันเป็นเดือนที่ได้ทรงรับพระบรมราชาภิเษก

ภาพจากหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี

ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระราชพิธีฉัตรมงคลได้เพิ่มการพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ซึ่งเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลสนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช

ภาพจาก หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี

กระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 9 ได้รับพระบรมราชาภิเษกในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 เหล่าพสกนิกรชาวไทยจึงได้ถือเอาวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคล 

สำหรับในรัชกาลปัจจุบัน วันฉัตรมงคล ถูกกำหนดขึ้นตามวันบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการ จัดขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ดังนั้น วันฉัตรมงคลในปัจจุบัน จึงตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี

4.วันฉัตรมงคล มีพระราชพิธีอย่างไร ?

ในการพระราชพิธีฉัตรมงคล พระมหากษัตริย์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล สมโภชพระมหาเศวตฉัตรและเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ เป็นการฉลองครบรอบปีที่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษก และเพื่อให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน เพื่อทรงอุทิศกุศลแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ และพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยโดยทั่วไป

5.วันฉัตรมงคล ความหมายของเครื่องราชกกุธภัณฑ์ คืออะไร ?

ความหมายของเครื่องราชกกุธภัณฑ์ โดยคำว่า กกุธภัณฑ์ เป็นคำภาษาบาลี มาจาก กกุธ แปลว่า เครื่องหมายความเป็นพระราชา กับคำว่า ภณฺฑ แปลว่า ของใช้ เครื่องราชกกุธภัณฑ์จึงหมายถึง อุปกรณ์, เครื่องทรง และหรือสิ่งอื่น ๆ ที่เป็นของที่มอบให้แก่พระมหากษัตริย์องค์ต่อไป เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการมอบสิทธิในการครองราชบัลลังก์

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชาธิบดี จึงเป็นสิ่งที่จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ประกอบด้วย

  • พระมหาเศวตฉัตร หรือพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร
  • พระมหาพิชัยมงกุฎ
  • พระแสงขรรค์ชัยศรี
  • ธารพระกร
  • วาลวีชนี (พัดกับแส้จามรี)
  • ฉลองพระบาทเชิงงอน

6.วันฉัตรมงคล การบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน คืออะไร ?

หนึ่งในกิจกรรมในพระราชพิธีวันฉัตรมงคล คือ การทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ซึ่งหมายถึง การที่พระมหากษัตริย์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เพื่อทรงพระราชอุทิศ ถวายแก่เจ้านายที่มีศักดิ์สูงที่เสด็จล่วงลับไปแล้ว

นอกจากนี้ วันฉัตรมงคล ความหมายที่แท้จริงของคำว่า ทักษิณานุประทาน เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต ทกฺษิณา แปลว่า ของทำบุญ ส่วนคำว่า อนุปฺรทาน แปลว่า การให้เพิ่ม เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย ทักษิณานุประทาน จึงหมายความว่า การทำบุญอุทิศส่วนกุศลเพิ่ม ให้กับผู้ที่ล่วงลับ

พิธีกรรมของการทำทักษิณานุประทาน ได้แก่ การตักบาตร, เลี้ยงพระ, บังสุกุล, ถวายสังฆทาน และการกรวดน้ำ ซึ่งในราชาศัพท์เรียกว่า การหลั่งทักษิโณทก นั่นเอง

7.วันฉัตรมงคล นอกจากพระราชพิธีฉัตรมงคล ยังมีพระราชพิธีรัชมงคล

นอกจากพระราชพิธีวันฉัตรมงคล ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์ ยังมีพระราชพิธีที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ พระราชพิธีรัชมงคล พระราชพิธีนี้เริ่มขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 เนื่องด้วยพระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแต่ทรงพระเยาว์ จึงให้มีพิธีที่ลักษณะคล้ายคลึงกับพระราชพิธีฉัตรมงคล เรียกว่า พระราชพิธีรัชมงคล 

ต่อมาในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ยังคงมีการพระราชพิธีนี้อยู่ เนื่องด้วยพระองค์เสด็จเถลิงราชสมบัติแต่ทรงพระเยาว์เช่นเดียวกัน โดยพระราชพิธีมีขึ้นระหว่างวันที่ 7 - 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 (วันคล้ายวันเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากรัชกาลที่ 8) และต่อมา เมื่อทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 พระราชพิธีรัชมงคลจึงได้งดไป เปลี่ยนเป็นพระราชพิธีวันฉัตรมงคล

8.วันฉัตรมงคล ในประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นวันใดบ้าง ?

นับตั้งแต่มีพระราชพิธีวันฉัตรมงคลขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ตลอดระยะวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยมีวันฉัตรมงคลเกิดขึ้น ดังต่อไปนี้

  • สมัยรัชกาลที่ 4 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เกิดขึ้นในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 จึงกำหนดพระราชพิธีวันฉัตรมงคลตรงกับเดือนหก (พฤษภาคม) และมีการจัดพิธีติดกัน 4 วันคือ วันขึ้น 13, 14, 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือนหก 
  • สมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มแรกใช้เดือนพฤษภาคม (เดือนหก) เป็นวันฉัตรมงคล แบบเดียวกับสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 ซึ่งเป็นวันที่ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 2 ก่อนที่จะเปลี่ยนมาจัดพิธีฉัตรมงคลในเดือนสิบสอง (เดือนพฤศจิกายน) เป็นประจำทุกปี
  • สมัยรัชกาลที่ 6 มีการจัดพระราชพิธีฉัตรมงคลในวันที่ 11 พฤศจิกายน ซึ่งตรงกับวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและเฉลิมพระราชมณเฑียรของรัชกาลที่ 6 ทว่ามีบางปีที่เลื่อนมาจัดในวันที่ 31 ธันวาคม โดยจัดพร้อมกับงานเฉลิมพระชนมพรรษาของรัชกาลที่ 6 ร่วมด้วยนั่นเอง
  • สมัยรัชกาลที่ 7 พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเกิดขึ้นในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 และใช้วันที่ 25 กุมภาพันธ์เป็นวันฉัตรมงคล 
  • สมัยรัชกาลที่ 8 ไม่มีการจัดพระราชพิธีฉัตรมงคล เนื่องจากไม่มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
  • สมัยรัชกาลที่ 9 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 และกำหนดให้วันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคล
  • สมัยรัชกาลที่ 10 พระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการจัดขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 จึงกำหนดให้วันฉัตรมงคล ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี

9.วันฉัตรมงคล เป็นวันหยุดราชการ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) พระราชพิธีฉัตรมงคลจัดขึ้นทุกวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี และทางราชการถือเป็นวันหยุดตามประเพณีของไทย หลังจากพระองค์เสด็จสวรรคต รัฐบาลได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยกเลิกวันที่ 5 พฤษภาคม เป็นวันฉัตรมงคล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

สำหรับในรัชกาลปัจจุบัน "วันฉัตรมงคล" ถูกกำหนดวันขึ้นตาม วันบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 โดย "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก อย่างเป็นทางการ" จัดขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ดังนั้น "วันฉัตรมงคล" ในปัจจุบัน จึงตรงกับ "วันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี" และให้ถือเป็นวันหยุดราชการเช่นกัน

10.วันฉัตรมงคล 2568 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เปิดให้ขึ้นทางด่วนฟรี 3 สายทาง 61 ด่าน

วันที่ 4 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันฉัตรมงคล การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษ รวม 3 สายทาง คือ

  • ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) จำนวน 20 ด่าน
  • ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) จำนวน 31 ด่าน
  • ทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) จำนวน 10 ด่าน
     

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนในวันหยุด และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน รวมทั้งช่วยลดปัญหาจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษอีกด้วย

วันฉัตรมงคล ถือเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ควรค่าแก่การเรียนรู้ และอนุรักษ์ เป็นอีกหนึ่งวันที่สะท้อนรากฐานทางวัฒนธรรมของประเทศ…

อ้างอิง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันฉัตรมงคลฉัตรพระราชพิธีฉัตรมงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์ไทย
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด