ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ใช้ “ไฟฟ้า” หน้าฝน กับเรื่องต้องรู้ สู่การป้องกันอันตราย


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

14 มิ.ย. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

ใช้ “ไฟฟ้า” หน้าฝน กับเรื่องต้องรู้ สู่การป้องกันอันตราย

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1282

ใช้ “ไฟฟ้า” หน้าฝน กับเรื่องต้องรู้ สู่การป้องกันอันตราย
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“ฝนตกหนัก” ทำให้เกิด “น้ำท่วม” ฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก รวมถึงการเกิดเหตุการณ์ “ไฟไหม้จตุจักร” และเหตุสลด “นักเรียน” ถูกไฟดูดตรงตู้กดน้ำ ถือเป็นบทเรียนราคาแพงเกี่ยวกับ ไฟไหม้, ไฟฟ้าลัดวงจร, ไฟดูด ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด มองเหตุการณ์แล้วกลับมาย้อนดู “ไฟฟ้า” ที่เราใช้กันทุกวี่วันทั้งบ้าน คอนโดมิเนียม ห้องพัก และอื่น ๆ ก็ดี แล้วยิ่ง “หน้าฝน” ซึ่งมีน้ำเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อผนวกกับ “ไฟฟ้า” อาจกลายเป็นอันตรายจนถึงชีวิตได้ ด้วยเหตุนี้ Thai PBS และ Thai PBS Sci & Tech จึงขอนำเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “ไฟฟ้า” หน้าฝน มาให้ทราบ เป็นแนวทางเซฟตี้ตัวเราและคนที่รักจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

เปลวไฟ

รู้จัก 3 องค์ประกอบ รวมตัวกันก่อให้เกิด “ไฟ”

1. เชื้อเพลิง : เชื้อเพลิงที่ทำให้เกิดการลุกไหม้ อยู่ในสภาพของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ

2. ออกซิเจน : ซึ่งมีอยู่ในอากาศประมาณ 21% โดยปริมาตร ที่ช่วยให้ติดไฟ แต่หากออกซิเจนลดต่ำลงไฟก็จะไหม้ช้าลงหรือดับมอดไป

3. ความร้อน (HEAT) : ที่ทำให้เชื้อเพลิงเปลี่ยนสถานะเป็นไอหรือก๊าซ ที่เรียกว่า ความร้อนถึงจุดวาบไฟ และอีกอย่างคือ ความร้อนถึงจุดติดไฟ หรือจุดชวาล (FIRE POINT) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเร็ว พอเพียงที่จะติดไฟได้จะมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับลักษณะทางสารสมบัติของเชื้อเพลิงด้วย

ดังนั้น หากขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งไป “ไฟ” จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้

📌อ่าน : หน้าร้อน ต้องระวัง สาเหตุเสี่ยง "ไฟไหม้" กับเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “ไฟ”

ไฟไหม้

การเกิด “ไฟ” แบ่งออกเป็น 4 ประเภท

ไฟประเภท A ได้แก่ ไฟที่ลุกไหม้จากเชื้อเพลิงธรรมดา เช่น ไม้ กระดาษ เสื้อผ้า พลาสติก เศษใบไม้ และขยะแห้ง วิธีดับไฟประเภทนี้ คือ ลดความร้อน (Cooling) โดยใช้น้ำ

ไฟประเภท B ได้แก่ ไฟที่ลุกไหม้จากวัตถุเชื้อเพลิงเหลว และ ก๊าซ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ทินเนอร์ แอลกอฮอล์ วิธีดับไฟประเภทประเภทนี้คือ กำจัดออกซิเจน โดยใช้ผงเคมีแห้ง ใช้ฟองโฟม

ไฟประเภท C ได้แก่ ไฟที่ลุกไหม้จากอุปกรณ์ที่มีกระแสไฟฟ้า วิธีดับไฟประเภทนี้คือ ตัดกระแสไฟฟ้า แล้วใช้ก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์หรือน้ำยาเหลวระเหยที่ไม่มี CFC ไล่ออกซิเจนออกไป

ไฟประเภท D สารเคมีติดไฟ เช่น ผงแมกนีเซียมเซอร์โครเมียม ไทเทเนียม ผงอะลูมิเนียม วิธีดับไฟประเภทนี้คือ ทำให้อับอากาศหรือใช้สารเคมีเฉพาะ (ห้ามใช้น้ำเป็นอันขาด)

📌อ่าน : สัตว์เลี้ยงในจตุจักร ความปลอดภัยที่ถูกตั้งคำถาม ?

ระยะเวลาการเกิดไฟไหม้และลุกลามของไฟ.jpg

ระยะเวลาการเกิดไฟไหม้และลุกลามของไฟ 

ยกตัวอย่าง เกิดเหตุไฟไหม้ภายในห้อง

1 นาที : ไฟลุกลามกระจายทั่วห้อง
2 นาที : ควันไฟลอยตัวปกคลุมชั้นบน
3 นาที : พื้นห้องมีควันไฟปกคลุมหนาแน่น
4 นาที : ไฟลุกลามทั่วบริเวณ ครอบคลุมทั้งชั้นบนและชั้นล่าง
5 นาที : มีควันพิษและความร้อนสูง ทำให้ผู้ประสบเหตุเสียชีวิตได้

ไฟไหม้ชุมชน

ชวนสังเกตลักษณะของควันไฟ

- ควันไฟที่พุ่งออกจากช่องประตูและหน้าต่างอย่างรวดเร็ว แสดงว่า จุดที่เป็นต้นเพลิงอยู่ใกล้บริเวณดังกล่าว
- ควันไฟสีดำและเคลื่อนที่เร็ว แสดงว่า อยู่ใกล้จุดต้นเพลิง
- ควันไฟสีจางและเคลื่อนที่ช้า แสดงว่า อยู่ไกลจากต้นเพลิง
- ควันไฟหนาแน่น แสดงว่า เพลิงไหม้บริเวณดังกล่าว มีก๊าซพิษที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ
- ควันไฟที่มีลักษณะเดียวกัน ทั้งรูปร่าง สี และความเร็วพุ่งออกมาจากช่องต่าง ๆ แสดงว่า ต้นเพลิงเป็นพื้นที่อับอากาศหรือไฟลุกไหม้เต็มที่แล้ว
- ควันไฟสีดำหนาแน่น แสดงว่า มีแนวโน้มที่ควันอาจลุกติดไฟกลายเป็นลูกไฟขนาดใหญ่และมีการเผาไหม้ต่อเนื่องในจุดที่ห่างออกมาจากต้นเพลิง
- ควันไฟสีเทา (ไม่เป็นสีดำ หรือสีขาว) ลอยออกมาจากช่องประตูและหน้าต่างที่ปิดอยู่หรือรอยต่อฝาผนัง แสดงว่า เพลิงลุกไหม้เต็มพื้นที่และกำลังลุกลามออกมา ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณดังกล่าวและให้รีบอพยพออกจากอาคาร

กางร่มวันฝนตก

จากเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับการเกิด “ไฟ” และ “ไฟไหม้” สู่เรื่องต้องรู้ในการใช้ “ไฟฟ้า” หน้าฝน

เมื่อ “ฤดูฝน” มาเยือน มักมีลมกระโชกแรง เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติภัยทางไฟฟ้า เช่น ไฟรั่ว ไฟฟ้าดูด-ช็อต รวมถึงไฟฟ้าลัดวงจร บวกกับ “สื่อนำไฟฟ้า” หรือสิ่งที่เป็นทางเดินของไฟฟ้า เช่น เส้นลวด สายไฟ วัสดุที่เป็นโลหะ รวมไปถึงผิวหนังของคนเรา อาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรือไฟไหม้ได้ Thai PBS และ Thai PBS Sci & Tech จึงขอนำเรื่องต้องรู้ในการใช้ “ไฟฟ้า” หน้าฝน มาให้ได้ทราบพร้อมกับข้อแนะนำเพื่อป้องกันอันตรายซึ่งจะมีอะไรบ้างตามมาอ่านกันได้เลย

คนกดกริ่งประตู

รู้จัก 4 จุดเสี่ยงไฟช็อต-ไฟรั่ว ในฤดูฝนที่พบบ่อย ๆ

1. เสาไฟฟ้าหน้าบ้าน
จุดต้นทางที่ส่งกระแสไฟฟ้าเข้ามาบ้านเราให้ได้ใช้กัน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งส่งกระแสไฟฟ้าไปยังบ้านอื่น ๆ ด้วย ฝนตกอาจทำให้เกิดไฟรั่วได้ หากฝนตกพยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณดังกล่าว

2. กริ่งประตู
เนื่องจากน้ำฝนอาจซึมเข้าไปที่สวิตช์ได้ ดังนั้นหากจำเป็นต้องกดกริ่ง ควรใช้หลังนิ้วกดหรือเคาะ เพราะหากเกิดมีไฟรั่วกล้ามเนื้อจะกระตุกหดกลับ

3. โคมไฟสนาม 
เป็นจุดที่อุปกรณ์สัมผัสกับน้ำโดยตรงเวลาฝนตก ซึ่งมักมีคนเดินผ่านไปมาเป็นประจำ ดังนั้นควรเช็กสภาพของฉนวนอยู่เสมอ

4. ปั๊มน้ำ 
เป็นอีกหนึ่งจุดที่มักเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วโดยเฉพาะหน้าฝน ดังนั้นแนะนำว่าควรต่อสายดิน หรือใช้สวิตช์ตัววงจรอัตโนมัติ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้หากจำเป็นต้องไปเช็กปั๊มน้ำช่วงฝนตก ควรถอดปลั๊กหรือปิดสวิตช์ให้เรียบร้อยเสียก่อน

กำลังจะเสียบปลั๊กไฟ

จากจุดที่พบ “ไฟรั่ว” บ่อย สู่การแนะนำวิธีการใช้ “ไฟฟ้า” อย่างถูกต้องและปลอดภัยช่วงหน้าฝน

- เมื่อเกิดฟ้าคะนอง ไม่ควรใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด และถ้าเครื่องใช้ไฟฟ้าเปียกน้ำ เมื่อจะนำไปใช้งานควรเช็ดหรือผึ่งให้แห้งก่อน เพื่อป้องกันมิให้กระแสไฟฟ้าลัดวงจรภายในเครื่องใช้ไฟฟ้า

- เมื่อร่างกายเปียกชื้น ห้ามแตะต้องส่วนที่มีกระแสไฟฟ้าเพราะอาจเกิดกระแสไฟฟ้ารั่ว เนื่องจากความต้านทานของผิวหนังที่เปียกชื้นจะลดลงมาก ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายได้โดยสะดวก เกิดกระแสไฟฟ้าดูดอาจถึงแก่ชีวิตได้

- ควรติดตั้งสายดินป้องกันไฟฟ้ารั่ว และหากจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในขณะที่ร่างกายเปียกชื้น เช่น การใช้เครื่องทำน้ำอุ่น นอกจากติดตั้งสายดินแล้ว ยังต้องติดตั้งเครื่องตัดไฟฟ้ารั่ว เพื่อเสริมการทำงานของสายดินให้ปลอดภัยยิ่งขึ้นด้วย

- ตรวจสอบต้นไม้ที่อยู่ใกล้แนวสายไฟฟ้า หากมีกิ่งไม้อยู่ใกล้เกินไปหรือคาดว่าเมื่อมีลมพัดแรง อาจทำให้กิ่งไม้เอนไปแตะสายไฟฟ้า หรือต้นไม้หักโค่นล้มทับสายไฟฟ้า ให้แจ้ง PEA หรือ MEA ในพื้นที่ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ไข

- ให้ความร่วมมือในการตัดต้นไม้หรือตัดกิ่งไม้ที่กีดขวางแนวเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้าและจุดปักเสาไฟฟ้า ไม่ควรตัดต้นไม้เอง เพราะอาจถูกกระแสไฟฟ้าดูดได้

- หากพบกิ่งไม้ที่หักโค่นทับหรือพาดสายไฟฟ้าแรงสูง อย่าเข้าใกล้เพราะอาจมีกระแสไฟฟ้ารั่ว ควรรีบแจ้ง PEA หรือ MEA ในพื้นที่ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ไข

สำหรับ “ไฟฟ้าลัดวงจร” นั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ เราจึงต้องทำการป้องกันหลายวิธี เช่น ใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์, เปลี่ยนสายไฟที่เก่าและขาด, ตรวจสภาพเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่เสมอ, ไม่ใช้ไฟฟ้าเกินกำลัง รวมถึงเลือกอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน เป็นต้น

เช็ก “ไฟรั่ว”

หากเราสงสัยว่าเกิด “ไฟรั่ว” แนะนำ 5 ขั้นตอนดังนี้

5 ขั้นตอน ตรวจสอบ “ไฟฟ้ารั่ว” เบื้องต้นได้ด้วยตนเอง กรณีไม่ได้ติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่ว

ขั้นตอนที่ 1 
ตรวจสอบที่มิเตอร์ไฟฟ้า โดยการปิดสวิตช์เครื่องใช้ไฟฟ้าและหลอดไฟฟ้า พร้อมถอดปลั๊กตู้เย็น แล้วดูมิเตอร์ว่าแผ่นจานโลหะในมิเตอร์ยังหมุนอยู่หรือไม่ หากยังหมุนอยู่ แสดงว่าเกิดไฟรั่วภายในบ้านจุดใดจุดหนึ่ง

ขั้นตอนที่ 2 
หากแผ่นจานโลหะในมิเตอร์ไม่หมุน อาจเป็นไปได้ว่ามีไฟรั่วแต่น้อยมาก ๆ ให้จำตำแหน่งจานหมุนและเลขมิเตอร์ แล้วทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง หากตำแหน่งจานหมุนและเลขมิเตอร์ไม่อยู่ตำแหน่งเดิม แสดงว่าเกิดไฟรั่ว

ขั้นตอนที่ 3 
เมื่อตรวจสอบพบมีไฟรั่วให้ปิด (OFF) เบรกเกอร์ย่อยที่ตู้แผงเมนสวิตช์ทั้งหมดแล้วเปิด (ON) เบรกเกอร์ย่อยทีละตัวสลับกันไป แล้วดูมิเตอร์แต่ละครั้ง ว่าแผ่นจานโลหะในมิเตอร์หมุนหรือไม่ “ถ้าหมุน” แสดงว่ามีไฟรั่วที่วงจรของเบรกเกอร์ย่อยตัวที่เปิด (ON) ให้ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นโลหะทั้งหมดของวงจรที่ตรวจพบไฟรั่ว แล้วแจ้งช่างผู้ชำนาญการแก้ไขโดยเร็ว

ขั้นตอนที่ 4 
หากมีความรู้ในการใช้ไขควงลองไฟอย่างปลอดภัยสามารถตรวจสอบด้วยตนเองได้ให้เปิด (ON) เบรกเกอร์ย่อยวงจรที่พบไฟรั่ว แล้วใช้ไขควงลองไฟ แตะเปลือกโลหะเครื่องใช้ไฟฟ้าและฉนวนสายไฟของวงจรย่อยนั้นทั้งหมดหากหลอดไฟที่ไขควงลองไฟติด แสดงว่ามีไฟรั่วที่เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือสายไฟนั้น ๆ ให้ถอดปลั๊กใช้เครื่องใช้ไฟฟ้านั้น ๆ จนกว่าจะให้ช่างผู้ชำนาญการแก้ไขให้เรียบร้อย

ขั้นตอนที่ 5 
ต้องการคำแนะนำหรือปรึกษาแก้ไขไฟฟ้ารั่ว ติดต่อ PEA หรือ MEA เพื่อความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้า อย่าลืม ติดตั้งสายดินและเบรกเกอร์ป้องกันไฟรั่ว และหมั่นตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและสายไฟฟ้าให้มีสภาพพร้อมใช้งาน

📌อ่าน : ป้องกัน "ไฟไหม้" ความรู้เบื้องต้นที่ทุกคนต้องรู้

ช่วยเหลือผู้ประสบอันตรายจากไฟฟ้า

หากพบ “ผู้ประสบภัย” จากไฟฟ้า ควรช่วยเหลืออย่างไร ?

ผู้ที่จะช่วยเหลือผู้ประสบอันตรายจากไฟฟ้าต้องรู้จักวิธีที่ถูกต้องในการช่วยเหลือดังนี้

- อย่าใช้มือเปล่าแตะต้องตัวผู้ที่ติดอยู่กับกระแสไฟฟ้า หรือตัวนำที่เป็นต้นเหตุให้เกิดอันตรายเป็นอันขาด เพื่อป้องกันมิให้ถูกกระแสไฟฟ้าจนได้รับอันตรายไปด้วย

- รีบหาทางตัดกระแสไฟฟ้าโดยไว จะด้วยการถอดปลั๊กหรือเอาสวิตช์ออกก็ได้

- ใช้วัตถุที่ไม่เป็นสื่อไฟฟ้า เช่น ผ้า ไม้แห้ง เชือกที่แห้ง สายยาง หรือพลาสติกที่แห้งสนิท ถุงมือยาง หรือผ้าแห้งพันมือให้หนาแล้วถึงผลักหรือฉุดตัวผู้ประสบอันตรายให้หลุดออกมาโดยเร็ว เขี่ยสายไฟให้หลุดออกจากตัวผู้ประสบอันตราย

- หากเป็นสายไฟฟ้าแรงสูงให้พยายามหลีกเหลี่ยง แล้วรีบแจ้ง PEA หรือ MEA ให้เร็วที่สุด 

- อย่าลงไปในน้ำกรณีที่มีกระแสไฟฟ้าอยู่ในบริเวณที่มีน้ำขัง ต้องหาทางเขี่ยสายไฟฟ้าออกให้พ้นหรือตัดกระแสไฟฟ้าก่อนจึงค่อยไปช่วยผู้ประสบอันตราย

ข้อสำคัญจำขึ้นใจ : การช่วยผู้ประสบอันตรายจาก “ไฟฟ้า” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกระทำด้วยความรวดเร็ว รอบคอบ และระมัดระวังเป็นพิเศษประกอบกัน เพื่อให้ปลอดภัยทั้งผู้ถูกช่วยและผู้ช่วยเหลือ

สำหรับ “การปฐมพยาบาล” นั้น การให้ความช่วยเหลือในขั้นแรกที่ทำได้ ทันทีทันใด หรือในสถานที่เกิดเหตุ โดยใช้เครื่องมือเท่าที่จะหาได้ ประกอบกับความรู้ในการช่วยเหลือ เพื่อลดอันตรายของผู้ป่วยในขณะที่ส่งไปหาแพทย์ ทั้งนี้ เมื่อได้ทำการช่วยเหลือผู้ประสบอันตรายมาได้แล้วจะโดยวิธีใดก็ตาม

หากปรากฏว่าผู้เคราะห์ร้ายที่ช่วยออกมานั้นหมดสติ ไม่รู้สึกตัว หัวใจหยุดเตือนและไม่หายใจ ซึ่งสังเกตได้จากอาการที่เกิดขึ้น เช่น ริมฝีปากเขียว สีหนาซีดเซียวคล้ำ ทรวงอกเคลื่อนไหวน้อยมากหรือไม่เคลื่อนไหว ชีพจรบริเวณคอเต้นช้าและเบามาก ถ้าหัวใจหยุดเต้นจะคลำชีพจรไม่พบ ม่านตาขยายค้างไม่หดเล็กลง หมดสติไม่รู้สึกตัว ต้องรีบทำการปฐมพยาบาลทันที เพื่อให้ปอดและหัวใจทำงาน


แหล่งข้อมูลอ้างอิง : การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA), การไฟฟ้านครหลวง (MEA)


“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ไฟไหม้ไฟฟ้าไฟไหม้จตุจักรไฟลัดวงจรThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Tips & Trick, How to
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

(เซบา บาสตี้) เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover : (jiraphob.thawisoonsong@gmail.com)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด