ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้กำลังจะมีเหตุการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์ครั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อระบบดาวยักษ์แดงในกลุ่มดาวมงกุฎเหนือ (Corona Borealis) กำลังจะเกิดการระเบิดโนวาขึ้นมา ซึ่งเป็นวัฏจักรโนวาที่มีคาบสั้นที่สุดระบบหนึ่งที่มนุษย์รู้จักและเคยบันทึก
ในช่วงเวลานี้นักดาราศาสตร์ทั่วทั้งโลกต่างหันกล้องโทรทรรศน์ไปยังตำแหน่งของกลุ่มดาวมงกุฎเหนือ (Corona Borealis) บนท้องฟ้า เนื่องมาจากมีระบบดาวอยู่ระบบหนึ่งในกลุ่มดาวมงกุฎเหนือที่กำลังจะระเบิดและจะเป็นเพียงครั้งเดียวในช่วงชีวิตมนุษย์คนหนึ่งที่จะสามารถมองเห็นมันได้
T Coronae Borealis (T CrB) หรือที่นักดาราศาสตร์เรียกสั้นๆ ว่า “ดาวลุกโชน (Blaze Star)” เป็นระบบดาวคู่ที่ซ่อนตัวอยู่ในกลุ่มดาวมงกุฎเหนือ อยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 3,000 ปีแสง ระบบดาวนี้ประกอบด้วยดาวแคระขาว ซึ่งเศษซากของดาวฤกษ์ที่ตายแล้วนี้มีขนาดเท่ากับโลก แต่มีมวลเทียบเท่ากับดวงอาทิตย์ของเรา อยู่คู่กับดาวยักษ์แดงที่กำลังถูกแรงโน้มถ่วงของดาวแคระขาวดึงมวลสสารของมันออกไปอย่างช้า ๆ
สสารที่ดาวแคระขาวดูดออกมาจากดาวยักษ์แดงจะถูกสะสมตัวบนพื้นผิวของดาวแคระขาวอย่างช้า ๆ เมื่อแรงดันบริเวณพื้นผิวและความร้อนเหมาะสม ไฮโดรเจนที่สะสมตัวจะเกิดการระเบิดเทอร์โมนิวเคลียร์ฟิวชัน ระเบิดสสารที่ถูกดึงออกมาและสะสมอยู่บนผิวของดาวทั้งหมด สร้างแสงสว่างวาบขนาดใหญ่ ซึ่งสำหรับกระบวนการของระบบดาวนี้มีคาบการเกิดซ้ำที่เกิดขึ้นโดยเฉลี่ยในทุก ๆ 80 ปี
หลายครั้งการกล่าวชื่อการระเบิดโนวาและซูเปอร์โนวานั้นมักสลับกัน การระเบิดของซูเปอร์โนวาคือการระเบิดครั้งสุดท้ายของชีวิตดาวฤกษ์ ซึ่งสิ้นสุดการระเบิดตัวดาวฤกษ์จะหายไปกลายเป็นกลุ่มหมอก แต่การระเบิดโนวานั้นตัวดาวฤกษ์หรือตัวดาวแคระขาวที่เกิดการระเบิดนั้นไม่ได้หายไป เช่น ในกรณีของ T CrB หลังจากการระเบิดดาวแคระขาวจะยังคงอยู่ คอยกัดกินเพื่อนของมันและเมื่อถึงจุดหนึ่งมันก็จะเกิดการระเบิดขึ้น เกิดเป็นวัฏจักรเช่นนี้ต่อไปอีกอย่างน้อยราวหมื่นปี
ในเอกภพของเรามีปรากฏการณ์โนวาที่มีคาบการเกิดที่ต่ำเช่นนี้น้อยมาก ตามปกติเราไม่ค่อยเห็นการระเบิดของโนวาซ้ำในช่วงชีวิตของมนุษย์และไม่มีการระเบิดของโนวาที่อยู่ในระยะใกล้กับระบบสุริยะของเรามากนัก ดังนั้นการระเบิดของ T CrB ที่มีคาบการเกิดทุก ๆ 80 ปีและมีระยะห่างที่ใกล้โลกจึงเป็นหนึ่งในวัฏจักรที่น่าตื่นเต้นมากเมื่อปรากฏการณ์นั้นใกล้มาถึง
การพบเห็นการระเบิดโนวาของ T CrB มีการบันทึกครั้งแรกเมื่อราว 800 ปีก่อน ในปี 1217 เมื่อเจ้าอาวาสคนหนึ่งนามว่าเบิร์ชชาร์ด (Burchard) เมืองอูร์สแบร์ก ประเทศเยอรมนี ได้จดบันทึกการสังเกตเห็น “ดาวดวงหนึ่งที่ส่องแสงเจิดจ้าในช่วงระยะเวลาหนึ่ง” และ T CrB เพิ่งเกิดการระเบิดครั้งล่าสุดที่มองเห็นได้เมื่อปี 1946 พฤติกรรมของ T CrB ในช่วงเวลานี้เหมือนกับพฤติกรรมที่สามารถสังเกตเห็นได้จากการจดบันทึกเมื่อปี 1946 นักวิจัยบางกลุ่มจึงกล่าวว่าหากพฤติกรรมทั้งหมดดำเนินไปเหมือนกับการบันทึกครั้งก่อนหน้า มันจะระเบิดภายในเดือนกันยายน 2024 นี้
การปะทุจะเกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ เมื่อปะทุขึ้นแล้ว จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ แต่เราสามารถมั่นใจได้ว่าการปะทุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะเป็นการปะทุครั้งประวัติศาสตร์ที่นักดาราศาสตร์ทั่วทั้งโลกควรได้ชม
ในตอนนี้ T CrB จะยังไม่เกิดการปะทุ ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศในปัจจุบันจะมีกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินและกล้องโทรทรรศน์ที่ลอยอยู่นอกอวกาศที่สามารถถ่ายภาพระหว่างการระเบิดได้อย่างชัดเจน แต่ว่าเนื่องจากปรากฏการณ์เหล่านี้ยังคงไม่เกิดขึ้น กล้องโทรทรรศน์เหล่านี้ก็มีคิวงานจำนวนมากที่ต้องปฏิบัติภารกิจทำให้ไม่มีโอกาสในการบันทึกภาพเพื่อสังเกตพฤติกรรมของมันก่อนหน้าการระเบิดที่มากนัก ดังนั้นข้อมูลที่ถูกบันทึกจากนักดาราศาสตร์มือสมัครเล่นทั่วทุกมุมโลกที่ทำการจับตามอง T CrB อยู่จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำหรับการทำความเข้าใจปรากฏการณ์โนวาที่กำลังจะเกิดขึ้น และ T CrB ก็อยู่ใกล้กับโลกมากพอ ดังนั้นการบันทึกข้อมูลระหว่างช่วงก่อนการระเบิด ช่วงการระเบิด และหลังการระเบิดจึงสามารถถูกบันทึกและตีความข้อมูลปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์จากสวนหลังบ้านของนักดาราศาสตร์มือสมัครเล่นที่มีความกระตือรือร้นได้
ไม่มีอะไรรับประกันว่า T CrB จะระเบิดในวันไหน อาจจะเป็นพรุ่งนี้ สัปดาห์หน้า หรือแม้แต่กระทั่งหลังจากเดือนกันยายนที่คาดการณ์กันไปแล้วก็ได้ แต่ว่าเมื่อเกิดการระเบิดขึ้นเราสามารถมั่นใจได้ว่ากล้องโทรทรรศน์จากทั่วทุกมุมโลกจะต่างจับจ้องไปที่มันอย่างแน่นอน
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech