ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

บุหรี่ไฟฟ้า จากตัวช่วยเลิกบุหรี่ สู่ ตัวร้ายในหมู่วัยรุ่น


Insight

18 มิ.ย. 67

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
แชร์

บุหรี่ไฟฟ้า จากตัวช่วยเลิกบุหรี่ สู่ ตัวร้ายในหมู่วัยรุ่น

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1297

บุหรี่ไฟฟ้า จากตัวช่วยเลิกบุหรี่ สู่ ตัวร้ายในหมู่วัยรุ่น
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

จากกระแสข่าวเด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้าชวนให้เกิดคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ความนิยมของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มวัยรุ่นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นทั่วโลกด้วย

Thai PBS พาไปดูจุดเปลี่ยนของบุหรี่ไฟฟ้า จากตัวช่วยเลิกบุหรี่ สู่ การเป็นตัวร้ายในหมู่วัยรุ่น ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ? ถึงตอนนี้หลายประเทศทั่วโลกรับมือกับบุหรี่ไฟฟ้าอย่างไรบ้าง ?

บุหรี่ไฟฟ้า อดีตทางเลือกเพื่อลดละเลิกบุหรี่ ?

บุหรี่ไฟฟ้าถูกประดิษฐ์คิดค้นครั้งแรก ๆ ตั้งแต่ช่วงปี 1927 ซึ่งมีปรากฏเป็นเอกสารที่อ้างอิงบุหรี่ไฟฟ้า แต่ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนนัก จนในปี 1963 บุหรี่ไฟฟ้าก็ถูกคิดค้นขึ้น โดย Herbert A. Gilbert ในชื่อว่าบุหรี่ไร้ควัน หรือ  smokeless non-tobacco cigaratte ที่มีการทำงานใกล้เคียงกับบุหรี่ไฟฟ้าที่ใช้กันอยู่ในยุคปัจจุบัน นั่นคือไม่มีการเผาไหม้ และใช้ไอน้ำแทน

ท่ามกลางบรรยากาศของสังคมที่พึ่งตระหนักถึงอันตรายของบุหรี่ที่เชื่อมโยงกับมะเร็ง บุหรี่ไร้ควันหรือบุหรี่ไฟฟ้าของ Herbert A. Gilbert จึงถูกสร้างขึ้นบนแนวคิด “เพื่อความปลอดภัย ลดอันตราย แทนที่การสูบบุหรี่แบบเดิม” แต่บุหรี่ไฟฟ้ายังไม่ได้มีการผลิตและจำหน่ายในวงกว้าง

ต้องรอถึงปี 2003 Hon Lik เภชัสกรชาวฮ่องกง หลังจากสูญเสียพ่อที่เป็นสิงอมควันจากมะเร็งปอด เขาที่พยายามจะเลิกจากการเสพติดนิโคติน ก็ได้คิดค้นบุหรี่ไฟฟ้าออกมา และสามารถผลิตขายในวงกว้างได้สำเร็จ จนในปี 2006 บุหรี่ไฟฟ้าเริ่มเป็นที่รู้จักในยุโรปและอเมริกา ในฐานะของอุปกรณ์ช่วยเลิกบุหรี่ มีการระบุในเอกสารนำเข้าว่าเป็น เครื่องพ่นนิโคติน (nicotine ingaler)

บุหรี่ไฟฟ้า เริ่มเล็งเป้าหมายขายในกลุ่มวัยรุ่น

บุหรี่ไฟฟ้าเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น ท่ามกลางกระแสการถกเถียง บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่แบบเดิมหรือไม่ ? ช่วยเลิกบุหรี่ได้จริงหรือเปล่า ? แล้วเป็นอันตรายต่อสุขภาพแค่ไหน ? 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีการศึกษาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยรวมแล้วพบว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนช่วยในการลดบุหรี่ได้ แต่มีลักษณะเป็นการเปลี่ยนมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน ผลทางสุขภาพจึงไม่เปลี่ยน บุหรี่ไฟฟ้ายังคงมีอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กวัยรุ่นโดยมีผลต่อพัฒนาการของสมอง และหญิงตั้งครรภ์หากสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ส่งผลให้ลูกในท้องเกิดยีนส์ผิดปกติได้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่อันตรายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้ายังคงเป็นที่ถกเถียง การออกแบบบุหรี่ไฟฟ้ามีลักษณะเจาะกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง ซึ่งได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่นอย่างรวดเร็วในทันทีที่ออกสู่ตลาด

บุหรี่ไฟฟ้าที่เจาะกลุ่มวัยรุ่นจะมีการออกแบบที่เน้นสีสัน มีการตั้งชื่อรสชาติที่ดึงดูด ทั้งยังมีการโฆษณาที่สื่อสารกับกลุ่มวัยรุ่นเป็นหลัก นอกจากนี้ การสำรวจในกลุ่มวัยรุ่นยังมีเชื่อกันว่า บุหรี่ไฟฟ้าคือบุหรี่จริงที่ปลอดภัย ขณะที่มาตรการควบคุมบุหรี่จริง ทำให้วัยรุ่นเข้าถึงบุหรี่จริงได้ยาก เปิดประตูให้บุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาแทนที่

ใช้เวลาเพียงไม่นานบุหรี่ไฟฟ้าก็ได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่น ในสหราชอาณาจักรพบว่า มีเด็กอายุ 11 – 15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ในช่วง 3 ปี (2021-2024) ขณะที่ Financial Times รายการว่า วัยรุ่นอายุ 14 – 17 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าอาทิตย์ละครั้ง ขณะที่ผลสำรวจในฝรั่งเศสพบว่า 1 ใน 10 ของเด็กวัยรุ่นเคยลองบุหรี่ไฟฟ้า และร้อยละ 17 ของวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง มีการใช้ผลิตภัณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้องตามมา

บุหรี่ไฟฟ้ามีภาพลักษณ์ที่วัยรุ่นรู้สึกปลอดภัย แต่ความจริงอาจไม่เป็นแบบนั้น

บุหรี่ไฟฟ้า ทั่วโลกมีมาตรการรับมืออย่างไร ?


บุหรี่ไฟฟ้าที่เริ่มเป็นที่นิยม และมีการออกแบบรูปลักษณ์ตามตัวการ์ตูน หลายฝ่ายวิจารณ์ว่ามีการเจาะกลุ่มเด็กมากขึ้น ขณะที่ผลการศึกษาพบว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีผลเสียต่อสุขภาพโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กวัยรุ่น หลายประเทศจึงเริ่มออกกฎหมายเพื่อควบคุม ผ่านมาตรการที่แตกต่างกันไป

ออสเตรเลีย มีการออกฎควบคุมการนำเข้า การโฆษณา ตลอดจนการขายบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อป้องกันกลุ่มเยาวชน โดยมีการควบคุมเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์คล้ายกับมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ยา ลดระดับสารนิโคติน ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่ใช่ใช้สำหรับบำบัดเลิกบุหรี่ และจำกัดการซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าสำหรับบำบัด ให้ซื้อได้จากเภสัชกรเท่านั้น

นิวซีแลนด์ มีการออกกฎหมายควบคุมคล้ายกัน มีการห้ามตั้งชื่อรสชาติที่ตื่นเต้นดึงดูด จำกัดการตั้งร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าให้ห่างจากโรงเรียน โดยให้เป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

สหราชอาณาจักร มีการประกาศแบนบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งในกลุ่มวัยรุ่น โดยมีการออกมาตรการจำกัดความหลากหลายของรสชาติ กำหนดให้บรรจุภัณฑ์ต้องเป็นสีพื้นเรียบ ให้วางขายแบบจำกัดพื้นที่ โดยจัดวางให้ห่างไกลจากที่เด็ก ๆ จะเข้าถึงได้

ในส่วนกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป หรือ EU เริ่มมีการรณรงค์เกิดขึ้นจากประเทศไอร์แลนด์ ขณะเยอรมนีมีการเสนอแนวคิดในมุมที่ว่า บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และควรถูกแบนจากสหภาพยุโรป


บุหรี่ไฟฟ้าในสังคมไทย ที่ผ่านมาแม้จะถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ห้ามนำเข้าหรือครอบครอง ทว่าในทางปฏิบัติกลับยังคงมีร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ทั่วไป และยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายที่ชัดเจนนัก

อ้างอิง
UK announces single-use vape ban. Which other countries are cracking down on vaping?
11 ม.ค. 1964 แถลงรายงานเตือนภัยจากบุหรี่อย่างเป็นทางการโดยนพ.ลูเธอร์ เทอร์รี
E-Cigarettes: Current Evidence and Policy
A brief history of the electronic cigarette
เผยวิจัยยันบุหรี่ไฟฟ้าสุดอันตราย ป่วย-ตายเร็วกว่าบุหรี่มวน ส่งต่อยีนผิดปกติถึงรุ่นหลาน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันงดสูบบุหรี่โลกเลิกบุหรี่บุหรี่ไฟฟ้า
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด