มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ (Tel Aviv University : TAU) เปิดเผยเมื่อ 8 ก.ย. ที่ผ่านมาว่า คณะนักวิจัยของอิสราเอลได้พัฒนาวิธีการใหม่ในการติดตามการตอบสนองการรักษาทางการแพทย์ในกลุ่มผู้ที่ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองแต่ยังหายใจ อาทิ กลุ่มคนนอนหลับ ดมยาสลบ หรือป่วยหนัก
“เทคโนโลยีบันทึกภาพการหลับตา” (closed-eye imaging) แบบใหม่สามารถตรวจสอบความรู้สึกตัวและความเจ็บปวดในภาวะตื่นแต่ไร้การตอบสนองได้ และคาดว่าสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการรักษาพยาบาลได้
มหาวิทยาลัยฯ ชี้ว่าวิธีการข้างต้นเอื้อให้สามารถตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของขนาดรูม่านตาและทิศทางการเพ่งมองหลังดวงตาที่ปิดอยู่ได้เป็นครั้งแรก ด้วยการใช้วิธีการถ่ายภาพอินฟราเรดแบบไร้สัมผัส ซึ่งจะช่วยตรวจจับอาการชัก ฝันร้าย และระดับความสงบของจิตใจ รวมทั้งจดจำความเจ็บปวดและการตอบสนองที่อาจเกิดหลังเหตุการณ์ร้ายแรงหรือระหว่างอยู่ห้องไอซียู
อนึ่ง ขนาดของรูม่านตามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเพื่อควบคุมแสงส่องสะท้อนเข้าสู่ดวงตา ทั้งยังขยายขนาดเพื่อตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น อาทิ เหตุการณ์กะทันหันหรือความเจ็บปวด อันเป็นส่วนหนึ่งของการตอบสนองต่อสัญญาณเตือนภัยของระบบประสาทอัตโนมัติ เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการรับมือ
ทีมวิจัยเผยว่าวิธีการใหม่นี้สามารถติดตามการเคลื่อนไหวของปฏิกิริยาโต้ตอบต่อแสงตกกระทบรูม่านตาในสภาวะหลับตาได้สำเร็จ อีกทั้งเผยให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงขนาดของรูม่านตาหลังจากเกิดแสงวาบแต่ละครั้งในกลุ่มผู้ทดลอง และประมาณทิศทางการจ้องมองของดวงตาได้อย่างแม่นยำ
นักวิจัยเสริมว่าเทคโนโลยีนี้ได้รับการสนับสนุนจากการยื่นคำขอรับสิทธิบัตร ซึ่งจะช่วยปูทางให้กับการพัฒนาอุปกรณ์ที่ใช้ในเชิงรักษาและเชิงพาณิชย์อย่างกว้างขวาง
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ภาพซินหัว : ผู้เข้าแข่งขันการแข่งนอนหลับในกรุงโซลของเกาหลีใต้ วันที่ 18 พ.ค. 2024
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : medicalxpress, english.news, Xinhua
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech