เปิดเบื้องหลังการทำงานและความสำเร็จ “เว็บไซต์เลือกตั้งไทยพีบีเอส”


เลือกตั้ง 66

25 พ.ค. 66

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
เปิดเบื้องหลังการทำงานและความสำเร็จ “เว็บไซต์เลือกตั้งไทยพีบีเอส”

กลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง สำหรับ “เว็บไซต์เลือกตั้งไทยพีบีเอส” ที่ทำยอดจำนวนการรับชมกว่า 21,772,634 เพจวิว ภายใน 1 วัน (14 พฤษภาคม 2566) ถือเป็น New High Pageview ที่มียอดเข้าชมเว็บไซต์สูงที่สุดของเว็บไซต์หมวดสื่อและข่าวในประเทศไทย

ความสำเร็จเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ และหากย้อนเวลากลับไปกว่า 4 เดือน ทีมงานไทยพีบีเอส ตลอดจนทีมงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง ต่างระดมสรรพกำลังความคิด เพื่อเนรมิตเว็บไซต์เลือกตั้งให้ “ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน” ให้มากที่สุด 

บทความชิ้นนี้ขอสรุปถึงที่มาที่ไป และย้อนเล่า “เส้นทางการทำงาน” สะท้อนวิธีคิด วิธีการทำงาน ตลอดจนมุมมองต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางต่อผู้ที่สนใจต่อไป…


เริ่มต้นภารกิจสำคัญ “วอร์รูมเลือกตั้ง 66” การรวมตัวคนทำงานทุกฝ่าย

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 เป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น First Voter ที่มีจำนวนถึง 3 ล้านกว่าคนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง และสถานการณ์การเมืองของประเทศไทยที่ทั้งสื่อในประเทศและต่างประเทศเฝ้าจับตา 

ไทยพีบีเอสเล็งเห็นว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้ถือเป็นครั้งสำคัญในการชี้อนาคตของประเทศไทย จึงเป็นที่มาให้คณะผู้บริหารผลักดัน “วาระเลือกตั้ง 66” ให้เป็นวาระสำคัญขององค์กร โดยระดมกำลังจากทุกสำนักและทุกเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าว สำนักโทรทัศน์ สำนักสร้างสรรค์รายการ และสำนักสื่อดิจิทัล ฯลฯ เพื่อวางแผนการนำเสนอข่าวสาร รายการ บทความ และแหล่งความรู้ในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครั้งนี้ ให้มีความรวดเร็ว ถูกต้อง เป็นธรรม และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน 

และเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างถูกต้อง และรวดเร็ว ทีมงานจึงจัดตั้ง “วอร์รูมเลือกตั้ง” ขึ้นเพื่อรวมกำลังจากทุกสำนัก ผลิตเนื้อหาทั้งในรูปแบบรายการ, สื่อออนไลน์และเว็บไซต์ เพื่อนำเสนอเนื้อหาและเกาะติดการเลือกตั้ง รวมถึงให้ความรู้แก่ประชาชน

“เว็บไซต์ข้อมูลเลือกตั้ง” หนึ่งในหัวใจสำคัญของวาระเลือกตั้ง 66 

ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การรายงานข่าวสารการเลือกตั้ง ตลอดจนการรายงานผลการนับคะแนน มีการนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพื่อให้ตอบโจทย์ความรวดเร็วในการนำเสนอ รวมถึงดึงดูดความสนใจต่อผู้ชม 

ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อปี 2565 ไทยพีบีเอสเปิดตัวเว็บไซต์ “ปลุกกรุงเทพฯ เปลี่ยนเมืองใหญ่ เลือกตั้งผู้ว่าฯ 65” เพื่อรองรับการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร โดยนำข้อมูลและนวัตกรรมทันสมัยมาสร้างสรรค์ให้เกิดความแปลกใหม่และน่าติดตาม ส่งผลทำให้เว็บไซต์รายงานผล “เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.” ของไทยพีบีเอส กลายเป็นอีกสื่อที่มีผู้กล่าวถึงและได้รับคำชื่นชมในเชิงการแสดงผลคะแนนและการให้ข้อมูลที่ครบ จบภายในเว็บเดียว 

จากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จนมาถึงการเลือกตั้งทั่วไป 2566 ทีมงานยังคงเจตนารมย์ในการเป็นสื่อออนไลน์ที่นำเสนอเนื้อหาให้รอบด้าน รวดเร็ว และเข้าถึงง่าย ขณะเดียวกัน มีความพยายาม “ต่อยอด” รูปแบบจากเว็บไซต์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เนื่องจากวิธีการนำเสนอแบบเดิมที่ใช้กับเว็บรายงานผลคะแนนผู้ว่าฯ กทม. อาจจะยังไม่เพียงพอกับการนำเสนอผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการของการเลือกตั้งทั่วไป 2566 ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ อย่างมาก ทำให้ทีมงานต้องทำการบ้าน คิดค้นหากลวิธี เพื่อย่อยข้อมูลเหล่านี้ให้เข้าใจง่าย และรวดเร็ว เป็นโจทย์ที่สำนักสื่อดิจิทัลต้องนำมาพัฒนาเพื่อให้เกิดความลงตัวต่อไป

ระดมสมอง ระดมความคิด “เว็บไซต์ข้อมูลเลือกตั้ง” ควรมีอะไร ?

เมื่อมองเห็น “กรอบการทำงาน” ภารกิจต่อไปคือการระดมความคิด เพื่อสร้างสรรค์เนื้อหาและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์เว็บไซต์เลือกตั้งครั้งนี้ นอกจากเนื้อหาข่าว บทความ รวมทั้งวิดีโอ สำนักสื่อดิจิทัลยังสร้างสรรค์คอนเทนต์ใหม่ ๆ อาทิ พื้นที่ของ Data Visualization ที่นำข้อมูลมาย่อยให้เกิดเป็นภาพอินโฟแกรมที่น่าสนใจ 

อีกหนึ่งคอนเทนต์ที่ถือเป็นลูกเล่น และผ่านการระดมความคิดจากทีมงานหลายฝ่าย นั่นคือ “เกมปัดขวาหานโยบาย” เกมนี้มีแนวคิดมาจาก “ป้ายหาเสียง” ของแต่ละพรรคการเมือง โดยทีมงานรวบรวมเหล่านโยบายต่าง ๆ มานำเสนอ ซึ่งผู้ที่เล่นเกมจะไม่ทราบว่าแต่ละนโยบายมาจากพรรคการเมืองใด

รูปแบบของเกมถูกออกแบบเป็นการ์ด ผู้ใช้สามารถเลือกนโยบายที่โดนใจของตัวเองได้ผ่านการปัดการ์ดไปทางซ้ายและขวาเหมือนกับแอปพลิเคชันหาคู่ที่โด่งดัง ซึ่งปลายทางของเกมนี้ ทีมงานตั้งใจให้ผู้ใช้งานสามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกตั้งได้ว่า คุณเองเป็นคนชอบนโยบายในเชิงใด และหาคำตอบว่าพรรคการเมืองไหนที่พูดถึงนโยบายที่คุณชื่นชอบ

นอกจากเนื้อหาที่มาด้วยลูกเล่น เทคนิค และความสร้างสรรค์ สำนักสื่อดิจิทัลยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างเนื้อหาที่มีคุณค่าและให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ตามจุดยืนการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียม จึงเกิดบริการพิเศษภายในเว็บไซต์ นั่นคือ Election For All บริการนี้ประกอบไปด้วย อ่านข่าวให้ฟัง และบทวิเคราะห์การเมืองจากสำนักข่าวไทยพีบีเอส สามารถรับฟังได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งหน้าเว็บไซต์ยังรองรับการเข้าถึงด้วย Screen Reader ทุกระบบปฏิบัติการ 

อีกบริการหนึ่งคือ เนื้อหาภาษามือใหญ่เต็มจอ หรือ Big Sign ที่ช่วยให้ผู้พิการทางการได้ยิน สามารถเข้าใจเนื้อหาและความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของการเลือกตั้งได้อย่างง่ายดาย รับชมภาษามือได้เต็มจอ และคิดผลิตเนื้อหาภาษามือเพื่อการนำเสนอข่าวเลือกตั้งในครั้งนี้โดยเฉพาะอีกด้วย

การพัฒนาเว็บไซต์ร่วมกับพันธมิตรทีมงาน INOX

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ไทยพีบีเอสร่วมงานกับ INOX ทีมพัฒนาเว็บไซต์ผู้เชี่ยวชาญ จากที่เคยประสบความสำเร็จร่วมกันมาแล้วในการออกแบบเว็บเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2565 จนมาถึงการออกแบบงานครั้งนี้ ไทยพีบีเอสและ INOX มีโจทย์ตั้งต้นร่วมกันที่ว่า เรายังคงต้องการส่งมอบประสบการณ์การใช้งานและสร้างช่องทางรับรู้ข้อมูลผลคะแนนการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการที่ดีเช่นเดิม รวมทั้งพยายามหาแกนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ประชาชนสามารถนำเว็บไซต์นี้ไปใช้งานต่อได้ แม้จะจบวันเลือกตั้งไปแล้วก็ตาม

ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของการออกแบบเว็บไซต์ข้อมูลเลือกตั้ง ที่ต้องเรียกว่า “อัดแน่น” ไปด้วยข้อมูลและข่าวสาร อาทิ ข่าวเลือกตั้ง, บทความวิเคราะห์จากสำนักข่าว, คลิปรายการ, คลิปสั้นแนวตั้งที่เหมาะกับการแสดงผลบนหน้าจอมือถือ (Quick View), Data Visualization, อินโฟกราฟิกที่สรุปเนื้อหาครบ จบในหน้าเดียว, Election For All (อ่านข่าวให้ฟัง และ Big Sign) รวมไปถึงพื้นที่สื่อกลางให้ประชาชนได้เสนอความเห็น ส่งต่อความคิด และสะท้อนมุมมองในเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านกิจกรรมที่เรียกว่า “ขอ 1 คำ” 

นอกจากฟีเจอร์ที่มาครบ จบในที่เดียวแล้ว ไทยพีบีเอส และ INOX ยังได้โชว์ฟีเจอร์สุดพิเศษอีกครั้ง ในการจัดเวทีดีเบตใหญ่ เมื่อวันศุกร์ที่ 21 เมษายน 2566 โดยเพิ่มฟีเจอร์ที่เรียกว่า Thai PBS Multi-View ผู้ใช้งานสามารถรับชมรายการดีเบตแบบสด ๆ ได้ผ่าน 4 กล้องพิเศษที่จัดเตรียมไว้ 

ถือเป็นการสร้างประสบการณ์การรับชมรูปแบบใหม่ ที่ไม่เพียงแต่รับชมผ่านรายการสดได้อย่างเดียว ผู้ชมยังสามารถเลือกรับชมกล้องพิเศษภายในงานได้เองอีกด้วย

จาก “เว็บไซต์ข้อมูลเลือกตั้ง” มาสู่ “เว็บไซต์รายงานผลคะแนน” ความลงตัวง่าย ๆ ที่ไม่ธรรมดา

กว่า 4 เดือนกับการผลิตเนื้อหาและนำข้อมูลจัดใส่ลงใน “เว็บไซต์ข้อมูลเลือกตั้ง” จนมาถึงอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของงานใหญ่ครั้งนี้ นั่นคือ การสร้างเว็บไซต์รายงานผลคะแนน 

“ครบ จบภายในเว็บเดียว” เป็นนิยามง่าย ๆ สั้น ๆ ของการพัฒนาเว็บรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง ที่ทีมงานสื่อสำนักดิจิทัลและ INOX วางเป้าหมายร่วมกันเอาไว้ เราตั้งใจให้เป็นช่องทางที่ผู้ใช้งานออนไลน์ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายและเข้าใจในสิ่งที่ต้องการนำเสนอ 

ดังนั้น เพื่อไม่ให้ทิ้งกลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไป ทีมงานจึงท้าทายความสามารถด้วยการวางกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม First Voter, Active Voter, ผู้ใช้งานออนไลน์ทั่วไป หรือแม้กระทั่งผู้สูงอายุ 

ด้วยกลุ่มเป้าหมายที่มีความหลากหลาย ทำให้แนวคิดการออกแบบต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “การใช้งานได้จริง” ทุกพื้นที่บนเว็บไซต์ คือพื้นที่นำเสนอข้อมูล ในคราวเดียวกัน ก็ไม่ทิ้งเรื่องความสวยงาม ทำให้ทุกจุดต้องลงรายละเอียดกันมากพอสมควร

ในส่วนของแกนข้อมูล นอกจากนำเสนอข้อมูลของพรรคการเมืองที่ได้คะแนนนำมากที่สุดแล้ว ทีมงานยังคิดต่อไปว่า หากมีฟีเจอร์พิเศษ “สูตรจับขั้วรัฐบาล” มานำเสนอเป็นแกนหลัก จะทำให้ผู้ใช้งานเข้าใจภาพของการเมืองไทยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ต่อมาจึงเกิดฟีเจอร์นี้ โดยเป็นการนำเสนอ “สูตรความเป็นไปได้” ที่จะเห็นพรรคการเมืองจับมือกันตั้งรัฐบาลขึ้นมา 

โดยแต่ละสูตรการจับขั้ว ผ่านการคิดวิเคราะห์จาก “โต๊ะการเมืองของสำนักข่าวไทยพีบีเอส” ที่กลั่นกรองออกมาแล้วว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด จุดนี้เองที่ทำให้เว็บไซต์รายงานผลของไทยพีบีเอส มีความแปลกใหม่ และเป็นที่พูดถึงบนโลกออนไลน์ 

มากไปกว่านั้น ทีมงานยังต่อยอดด้วยฟีเจอร์ “จับขั้วรัฐบาล(ในฝัน)ของคุณ” โดยผู้ใช้งานสามารถจัดตั้งรัฐบาลในความเห็นของตัวเองได้ โดยเลือกการ์ดแต่ละพรรคหย่อนใส่ในฝั่งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเพื่อจัดชุดของตัวเอง พร้อมแชร์ไปยังหน้าฟีดในโซเชียลมีเดียของตัวเองได้อีกด้วย 

ยังมีอีกหนึ่งแกนข้อมูลที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือ ข้อมูลการเจาะพื้นที่การเลือกตั้งในเขตที่น่าสนใจ อาทิ พื้นที่ช้างชนช้าง ที่มีผู้สมัคร ส.ส.ที่มีชื่อเสียงลงแข่งขันกันกว่า 62 เขต, พื้นที่อำเภอเมือง รวมเขตที่อยู่ในอำเภอเมืองทั้งหมด และพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการออกแบบในแกนนี้ ทีมงานนำแผนที่รายเขตมาใช้งาน แต่ทำให้สะดุดตาด้วยการปรับความสว่างของเขตที่ไม่ได้อยู่ในโฟกัสลง ทำให้เขตที่น่าสนใจในแต่ละชุดข้อมูลเด่นขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งในเนื้อหาที่ไทยพีบีเอสภูมิใจนำเสนอ

ด้านงานออกแบบ ทีมพัฒนามีแนวคิดหลักในการออกแบบคือ อ่านง่าย สบายตา รวมทั้งใช้สีสว่าง เพื่อให้ผู้ใช้งานไม่โดนสีอื่น ๆ มาขัดระหว่างการใช้งาน ส่วนการออกแบบแผนที่ในหน้ารายเขต ทีมงานพัฒนาเลือกใช้สี่เหลี่ยมมาประกอบกันเป็นแผนที่ประเทศไทย เพื่อให้ผู้ใช้งานมองเห็นภาพได้ง่าย และเมื่อมีการสลับสีกันระหว่างคะแนนรายเขตและคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะทำให้มองเห็นความแตกต่างของข้อมูลได้อย่างชัดเจน 

และอีกหนึ่งจุดแข็งสำคัญของบริการ คือเว็บไซต์นี้รองรับการแสดงผลบนหน้าจอขนาดเล็กอย่างมือถือ ไปจนถึงหน้าจอขนาดใหญ่อย่าง Smart TV ไม่ว่าจะใช้อุปกรณ์ไหน ก็สามารถใช้งานได้อย่างไม่มีข้อจำกัด นอกจากนี้เว็บไซต์รายงานผลนี้ยังถูกนำไปใช้ประกอบในรายการพิเศษของทางสถานีอีกด้วย ทำให้เว็บนี้กลายเป็นเว็บสารพัดประโยชน์ของไทยพีบีเอสเลยทีเดียว

จากกระแสการตอบรับที่ดี สะท้อนกลับมาสู่ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะยกระดับการนำเสนอเว็บไซต์การเลือกตั้ง ซึ่งทั้งทีมงานไทยพีบีเอสและ INOX ร่วมกันลงทุนลงแรงกันมากว่า 4 เดือน เป็นความคุ้มค่าในทุก ๆ วันและทุก ๆ นาที เนื่องจากในแต่ละวันมีความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองและข้อมูลการเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ 

ทำให้ทีมงานต้องปรับมุมการนำเสนอและออกแบบข้อมูลกันให้ทันกับสถานการณ์ รวมถึงวิธีการได้มาซึ่งคะแนนเรียลไทม์ ก็ทำให้เราต้องวางแผนล่วงหน้า ว่าจะทำอย่างไรให้เป็นคะแนนแบบเรียลไทม์ที่แท้จริง ทั้งบนเว็บไซต์และผ่านหน้าจอรายการพิเศษในวันเลือกตั้ง ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมา ถือเป็นความสำเร็จที่น่าพึงพอใจ

การเตรียมพร้อม “วันเลือกตั้ง” กับกระแสการตอบรับแบบล้นหลาม

เมื่อวันเลือกตั้งมาถึง ไทยพีบีเอสและทีมพัฒนาเว็บไซต์ INOX ตระเตรียมความพร้อมการเข้าใช้งานเว็บอย่างดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการรับโหลดเว็บไซต์ การนำข้อมูลขึ้นไปแสดงที่หน้าจอโทรทัศน์ และความพร้อมในการดึงข้อมูลและแสดงผลคะแนนให้เรียลไทม์ตามที่ได้รับมาจากอาสาสมัคร สมาคมสื่อฯ และจาก กกต. 

ก่อนช่วงเวลาปิดหีบ ทีมงานเตรียมความพร้อมในทุกจุดของการรายงานผลให้มากที่สุด รวมไปถึงเครื่องมือที่ใช้ในการเกาะติดสถานการณ์การเลือกตั้งและเครื่องมือสถิติต่าง ๆ นอกจากนี้ทีมงานสำนักสื่อดิจิทัลยังนำประสบการณ์จากการรายงานผลคะแนนผู้ว่าฯ กทม. 2565 โดยเพิ่มเติมช่องทางการรายงานสดบน YouTube ซึ่งมียอดชมและเสียงตอบรับที่ดี จึงได้นำคะแนนจากหน้าเว็บไซต์มาทำเป็นไลฟ์บน YouTube อีกครั้ง รวมไปถึงที่บริเวณหน้าจอ LED หน้าสถานีโทรทัศน์ด้วยเช่นกัน 

เมื่อถึงเวลา 17.00 น. หลังปิดหีบเลือกตั้งได้ไม่นาน คะแนนจากอาสาสมัคร สมาคมสื่อฯ เริ่มถูกส่งเข้ามาในระบบเช่นเดียวกับตัวเลขของผู้ใช้งานที่เริ่มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จุดนี้ทีมงาน INOX ต้องเริ่มรับมือกับสถานการณ์ตรงหน้ากันแบบสุดตัว เนื่องจากปริมาณคนเข้าชมเว็บไซต์สูงขึ้นจนแตะตัวเลข 8 แสน ทำให้เว็บไซต์เกิดเหตุขัดข้องไปชั่วขณะ แต่ผู้ใช้จะไม่รู้สึกถึงอาการนี้เนื่องจากการพัฒนาเว็บไซต์นี้ได้แยกส่วนของหน้าเว็บและการดึงคะแนนมาแสดงออกจากกัน ทำให้ส่วนที่ขัดข้องไปเป็นการนำคะแนนมาแสดงผลในชั่วขณะนั้นนั่นเอง

ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปิดหีบจนถึงรายการพิเศษทางหน้าจอโทรทัศน์จบลง ผู้ใช้งานเว็บไซต์รายงานผลไม่มีท่าทีลดถอยลง ทำให้ทีมงานต้องคอยเฝ้าระวังไม่ให้เกิดปัญหาทางเทคนิค รวมไปถึงตรวจสอบคะแนนให้ถูกต้องตามที่ กกต.ส่งมาในช่วง 20.00 น. แต่ทั้งหมดทั้งมวล ทีมงานก็สามารถผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ มาได้ด้วยดี

บทสรุปความสำเร็จ 

จากตัวเลขการเข้าใช้เว็บไซต์รายงานผลคะแนนเลือกตั้งที่สูงเป็นประวัติการณ์ สะท้อนถึงความสำเร็จที่เกิดจากการมุ่งมั่นตั้งใจ ตลอดจนการวางแผนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ กุญแจแห่งความสำเร็จครั้งนี้ อาจแบ่งได้เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ จุดเด่นในทางเทคนิค เนื่องจากในวันรายงานผลฯ เว็บไซต์สามารถรับโหลดผู้คนในปริมาณ 8 แสน users พร้อมกันได้ และยอดรวมผู้ใช้ในวันนั้นสูงถึง 7.3 ล้านราย 21 ล้าน Pageviews สูงที่สุดเท่าที่เว็บไซต์ไทยพีบีเอสเคยให้บริการมา 

นอกจากนี้เทคนิคในการแสดงผลคะแนนแบบเรียลไทม์ก็เป็นอีกจุดเด่นหนึ่งเช่นกัน โดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องรีเฟรชหน้าเว็บไซต์ใหม่ คะแนนจะคงแสดงไปเรื่อย ๆ หากเปิดหน้าจอทิ้งไว้ ซึ่งทีม INOX นำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ ทำให้เว็บไซต์ยังคงสามารถรายงานผลคะแนนได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ใช้งานยังคงอยู่ติดกับเว็บไซต์ได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนหน้าการแสดงผลแต่อย่างใด

กุญแจความสำเร็จข้อที่สอง คือ จุดเด่นในเชิงข้อมูล ด้วยความเข้มข้นในการนำเสนอข่าวการเมืองของทีมโต๊ะข่าวการเมืองไทยพีบีเอส ผสมผสานกับการเข้าใจและเชี่ยวชาญในด้านตลาดผู้ใช้งานออนไลน์ของสำนักสื่อดิจิทัล ทำให้ทีมงานกล้าที่จะนำเสนอข้อมูลในมิติใหม่ ๆ ไม่เพียงแต่นำคะแนนเรียลไทม์และสรุปอันดับพรรคการเมืองที่ได้คะแนนมากที่สุด แต่ยังนำคะแนนเหล่านั้นมานำเสนอในแกนใหม่ ๆ เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจและสร้างการมีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งในครั้งนี้มากขึ้น

เมื่อนำกุญแจความสำเร็จทั้งสองส่วนมารวมกัน ผลที่ได้คือ การนำเสนอเว็บไซต์รายงานผลที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้จริง และใช้งานได้ตลอดการรายงานผล รวมทั้งใช้งานได้กับทุกอุปกรณ์ดิจิทัล 

และนอกเหนือจากเสียงตอบรับและคำชื่นชมจากผู้ใช้งาน สิ่งที่เป็นความภูมิใจที่สุดของทีมงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง นั่นคือ เว็บไซต์ข้อมูลและเว็บไซต์รายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการนี้ เป็นผลงานอีกชิ้นหนึ่งของไทยพีบีเอสที่ช่วยขับเคลื่อนความตระหนักรู้ เสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตลอดจนได้ทำหน้าที่เป็นสื่อสาธารณะอย่างตรงไปตรงมา เป็นกลางให้กับประชาชนชาวไทยได้เป็นอย่างดี นี่จึงเป็น “ความสำเร็จที่แท้จริง” ของไทยพีบีเอส

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์เลือกตั้งไทยพีบีเอสเลือกตั้ง66เลือกตั้งทั่วไป2566การเลือกตั้งประเทศไทย
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ