ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วันนี้ในอดีต : 76 ปี นายพล ออง ซาน บิดาแห่งเอกราช "วีรบุรุษเมียนมา" ถูกสังหาร


ประวัติศาสตร์

19 ก.ค. 66

Thai PBS Digital Media

Logo Thai PBS
แชร์

วันนี้ในอดีต : 76 ปี นายพล ออง ซาน บิดาแห่งเอกราช "วีรบุรุษเมียนมา" ถูกสังหาร

https://www.thaipbs.or.th/now/content/208

วันนี้ในอดีต : 76 ปี นายพล ออง ซาน บิดาแห่งเอกราช "วีรบุรุษเมียนมา" ถูกสังหาร
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

วันที่ 19 กรกฎาคม ของทุกปีถูกกำหนดให้เป็น “วันผู้เสียสละแห่งเมียนมา” เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่นายพลอองซาน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ของรัฐบาลเฉพาะกาล จำนวน 7 คนถูกสังหารในวันเดียวกัน ก่อนได้รับเอกราช  คือในวันที่ 19 กรกฎาคม 2490 ขณะกำลังร่างรัฐธรรมนูญในที่ประชุมรัฐบาลชั่วคราว 

ถือเป็นคดีสะเทือนขวัญที่พลิกผันการเมืองเมียนมา จนต้องปิดประเทศยาวนานนับกึ่งศตวรรษ แล้วครั้นเมื่อเปิดประเทศอีกครั้ง บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการเมืองของเมียนมา ก็มิใช่ใครอื่น หากคือ นางออง ซาน ซูจี บุตรีของนายพลออง ซาน นั้นเอง โดยภายหลังจากออง ซานเสียชีวิต ออง ซาน ซูจี ก็ได้เดินตามรอยเท้าพ่อ ออกมาตั้ง พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy : NLD) และเป็นผู้นำการเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยด้วยสันติวิธี ซึ่งถูกกองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารในเดือน กุมภาพันธ์ 2564 ปัจจุบันถูกศาลรัฐบาลทหารเมียนมาพิพากษาจำคุก

สำหรับนายพลออง ซาน เกิดในครอบครัวชาตินิยมที่ต่อต้านอังกฤษ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2458 ที่กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ซึ่งถูกอังกฤษเข้ายึดครองเป็นอาณานิคมตั้งแต่ปี 2428 ออง ซาน เข้าเรียนวิชาวรรณคดีอังกฤษ ประวัติศาสตร์ และการเมืองจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ระหว่างที่เรียนอยู่นั้นได้รับเลือกให้เป็นผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษา และเป็นบรรณาธิการหนังสือ Owei เขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์การเมือง จนในที่สุดก็ถูกไล่ออกในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2479 

หลังจากนั้นเขาก็เข้าร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับชาติ ขับไล่จักรวรรดินิยมอังกฤษ และเรียกร้องเอกราชให้เมียนมาร์ โดยร่วมก่อตั้ง "พรรคคอมมิวนิสต์พม่า” (Communist Party of Burma : CPB) ในเดือนสิงหาคม 2482 พอเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นก็ได้ให้การสนับสนุนทั้งการเงินและอาวุธในการก่อตั้ง "กองกำลังปลดปล่อยพม่า” (Burmese Independence Army : BIA) ในปี 2484 

เมื่อญี่ปุ่นสามารถยึดเมียนมา ได้จากอังกฤษ ในวันที่ 1 สิงหาคม 2486 ก็ได้ประกาศให้เมียนมา เป็นเอกราช และแต่งตั้งนายพลออง ซาน ให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อพบว่าเอกราชที่ญี่ปุ่นสัญญาไว้ไม่เป็นความจริง ในช่วงปลายสงครามโลก จึงได้กลับไปเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อขับไล่ญี่ปุ่นออกไปจากเมียนมา ได้สำเร็จ ในวันที่ 27 มกราคม 2490 อองซานได้เซ็นต์สัญญากับ คลีเมนต์ แอตท์ลี (Clement Attlee) นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ โดยอังกฤษยินยอมจะมอบเอกราชให้เมียนมา ภายใน 1 ปี จากนั้นวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2490 ออง ซานก็ลงนามใน "สนธิสัญญาปางโหลง” (Panglong Conference) กับหัวหน้าชนกลุ่มชาติต่าง ๆ ในลุ่มน้ำอิระวดี ในสนธิสัญญาระบุว่า เมื่อเมียนมาได้รับเอกราชครบ 10 ปี แต่ละชนชาติได้แก่ กะเหรี่ยง คะเรนณี มอญ ไทยใหญ่ และ คะฉิ่น จะสถาปนาเอกราชของตนเอง 

สนธิสัญญาฉบับนี้ ทำให้นักการเมืองและทหารบางกลุ่มไม่พอใจ เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากอยู่ในดินแดนของชนชาติอื่น ดังนั้นหากมีการแยกตัวเป็นอิสระแล้วเมียนมาจะมีปัญหาในการพัฒนาเศรษฐกิจ ในที่สุดกองกำลังลึกลับจึงบุกเข้าสังหารนายพลออง ซาน เสียชีวิตในวัยเพียง 32 ปี โดยที่ยังไม่ทันได้เห็นเอกราชของเมียนมา ซึ่งได้รับในวันที่ 4 มกราคม 2491 

หลังจากนั้น อู นุ (U Nu) ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน และอ้างว่าสัญญาปางโหลงเป็นเพียงการทำสัญญาระห่วางชนกลุ่มน้อยกับนายพลออง ซาน เท่านั้น จึงฉีกสนธิสัญญาทิ้ง ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของกองกำลังของชนชาติอิสระต่าง ๆ กลายเป็นสงครามกลางเมือง

ความตายของอองซานและคณะ จึงยังเป็นปริศนามาตราบจนวันนี้ และมรดกบาป คือปัญหาชนกลุ่มน้อย และความวุ่นวายทางการเมือง ก่อให้เกิดวิกฤตการเมือง ติดหล่มเผด็จการทหาร และสิทธิมนุษยชนติดลบ ซึ่งถือเป้นปัญหาใต้พรมอาเซียน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

การเมืองวันนี้ในอดีต
ผู้เขียน: Thai PBS Digital Media

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด