ประกันสังคม ม.33 หรือ มาตรา 33 มีสิทธิประโยชน์หลายอย่างที่คุณอาจไม่รู้
Thai PBS รวบรวมข้อมูลน่าสนใจสำหรับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม โดยเฉพาะมาตรา 33 เพื่อทำความเข้าใจ สิทธิประโยชน์เงินชดเชยมีอะไรบ้าง ? เกษียณอายุได้เงินเท่าไหร่ ? ควรส่งต่อมาตรา 39 หรือไม่ ? มีข้อดี – ข้อเสียอย่างไร ?
ประกันสังคมมาตรา 33 คืออะไร ?
ประกันสังคม คือ การสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในกลุ่มของสมาชิกที่มีรายได้ และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อรับผิดชอบเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์ ชราภาพ และการว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาล และมีการทดแทนรายได้อย่างต่อเนื่อง
ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติประกันสังคม บังคับให้คนทำงานและนายจ้างเข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคม ยกเว้น ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของราชการ และลูกจ้างชั่วคราวอื่น ๆ
โดยผู้ประกันตน มาตรา 33 คือลูกจ้างหรือคนทำงานเอกชนทั่วไปนั่นเอง ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ โดยมีหลักการเพื่อสร้างสวัสดิการให้แรงงานได้รับเงินชดเชยหรือประโยชน์ทดแทน อาทิ กรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน
รับเงินชดเชยว่างงานประกันสังคม ต้องทำอะไรบ้าง ?
พนักงานประจำที่มีนายจ้างจะได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นผู้ประกันตน ม.33 ของประกันสังคม โดยมีสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่มาจากรายได้ที่ส่งเข้ากองทุนประกันสังคม สิทธิหนึ่งที่จะได้รับเมื่อ “ว่างงาน” ก็คือเงินชดเชย ทั้งกรณีลาออก และถูกเลิกจ้าง
เงื่อนไขประกันสังคมสำหรับใช้สิทธิรับเงินชดเชยว่างงาน
- ต้องเป็นผู้ประกันตน ม.33 ที่บริษัทหรือผู้ว่าจ้างจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนว่างงาน และว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป (โดยไม่ทำผิดกฎหมาย)
- ต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานใน 30 วันนับจากวันที่ว่างงงาน สามารถลงทะเบียนว่างงานออนไลน์ได้ที่ e-service.doe.go.th หรือติดต่อสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่
- ต้องขึ้นรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ทุกเดือนโดยสามารถรายงานตัวออนไลน์ได้ที่ e-service.doe.go.th หรือสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่
ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานประกันสังคมต้องทำอย่างไร ?
การขึ้นทะเบียนรวมถึงการรายงานตัวผู้ว่างงานสามารถทำได้ทั้งออนไลน์และยื่นด้วยตัวเองที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่
การขึ้นทะเบียนที่สำนักงานประกันสังคม เตรียมเอกสารดังต่อไปนี้มายื่นติดต่อกับเจ้าหน้าที่ที่สำนักงาน
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7)
- บัตรประจำตัวประชาชนพร้อมสำเนา
- รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน
- หนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบ สปส.6-09 (ไม่มีก็สามารถขึ้นทะเบียนได้)
- หนังสือหรือคำสั่งให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
- สำเนาบัญชีธนาคารออมทรัพย์ที่ระบุชื่อและเลขบัญชีผู้ประกันตน
ขั้นตอนการลงทะเบียนว่างงานออนไลน์
- เข้าเว็บไซต์กรมการจัดหางาน https://e-service.doe.go.th
- เข้าสู่ระบบหรือลงทะเบียนใหม่
- เลือก ‘ขึ้นทะเบียนรายงานตัวผู้ประกันตน กรณีว่างงาน’
- กรอกข้อมูลส่วนตัว ประวัติการศึกษา สถานะการออกจากงาน และความต้องการหางาน
- กรอกแบบ สปส.2-01/7
- แนบสำเนาบัญชีธนาคารและบันทึกข้อมูล
ขั้นตอนการรายงานตัวออนไลน์
- เข้าเว็บไซต์กรมการจัดหางาน https://e-service.doe.go.th
- เลือกเมนู ‘รายงานตัว’
- กรอกข้อมูลสถานะการทำงานปัจจุบัน หากมีงานทำให้เลือก ‘ระบุรายละเอียดงานใหม่’ หากยังไม่มีงานให้เลือก ‘เลือกสมัครงานที่สนใจ’
- บันทึกข้อมูลและตรวจสอบสถานการณ์รับสิทธิประโยชน์ได้ในระบบ
ว่างงานได้ค่าชดเชยจากประสังคมสังคมเท่าไหร่ ? คิดอย่างไร ?
เมื่อลูกจ้างงถูกเลิกจ้างตามเงื่อนไขข้างต้นทั้งหมด ผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับเงินชดเชยการขาดรายได้แบ่งเป็น 2 กรณีด้วยกัน โดยคำนวณที่ฐานเงินเดือนสูงสุดจะไม่เกิน 15,000 บาท
1. กรณีลาออกจากงาน หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ฐานสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ได้รับเงินทดแทน 30% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วันต่อรอบปฏิทิน
เช่น ค่าจ้าง 15,000 บาท (จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนว่างงาน) จะได้รับเงินทดแทนวันละ = (15,000 x 0.30 x 90) / 30 = 150 บาทต่อวัน ไม่เกิน 90 วัน
เท่ากับว่า การว่างงานในรอบปีปฏิทินนั้นจะได้รับเงินตั้งแต่ 150-13,500 บาท โดยประมาณ
ว่างงาน 1 วัน ได้รับเงินชดเชย 150 บาท
ว่างงาน 7 วัน ได้รับเงินชดเชย 1,050 บาท
ว่างงาน 15 วัน ได้รับเงินชดเชย 1,500 บาท
ว่างงาน 30 วัน (1 เดือน) ได้รับเงินชดเชย 4,500 บาท
ว่างงาน 60 วัน (2 เดือน) ได้รับเงินชดเชย 9,000 บาท
ว่างงาน 90 วัน (3 เดือน) ได้รับเงินชดเชย 13,500 บาท
2 กรณีถูกเลิกจ้าง และว่างงานจากเหตุสุดวิสัย (เช่น โควิด-19) ได้รับเงินทดแทน 50% ของค่าจ้าง ฐานสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท จ่ายครั้งละไม่เกิน 90 วัน และไม่เกิน 180 วันต่อรอบปฏิทิน
เช่น หากค่าจ้าง 15,000 บาท (จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนว่างงาน) จะได้รับเงินทดแทนวันละ = (15,000 x 0.50 x 180) / 30 = 250 บาทต่อวัน ไม่เกิน 180 วัน
เท่ากับว่า การว่างงานในรอบปีปฏิทินนั้น จะได้เงินตั้งแต่ 250-45,000 บาท โดยประมาณ
ถูกเลิกจ้าง 30 วัน ได้รับเงินชดเชย 7,500 บาท
ถูกเลิกจ้าง 60 วัน ได้รับเงินชดเชย 15,000 บาท
ถูกเลิกจ้าง 90 วัน ได้รับเงินชดเชย 22,500 บาท
ถูกเลิกจ้าง 120 วัน ได้รับเงินชดเชย 30,000 บาท
ถูกเลิกจ้าง 150 วัน ได้รับเงินชดเชย 37,500 บาท
ถูกเลิกจ้าง 180 วัน ได้รับเงินชดเชย 45,000 บาท
นอกจากกรณีว่างงานแล้ว ค่าชดเชยการขาดรายได้ยังได้รับเงินในกรณีเจ็บป่วยต้องรักษาตัวตามคำสั่งแพทย์เกิน 30 วัน โดยในระยะเวลา 30 วันแรก ตามกฎหมายแรงงานยังให้การคุ้มครองโดยนายจ้างยังต้องจ่ายเงินเดือนให้
แต่เมื่อเกิน 30 วันขึ้นไป ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ โดยได้รับในอัตราเดียวกับกรณีถูกเลิกจ้างนั่นคือ ได้ค่าชดเชย 50% ของค่าจ้าง ฐานสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท สามารถหยุดพักได้ครั้งละไม่เกิน 90 วัน และไม่เกิน 180 วันต่อปี เว้นแต่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังจะได้รับเงินทดแทนสูงสุด 365 วันต่อปี
เหตุสุดวิสัยมีอะไรบ้าง ? ต้องเตรียมเอกสารอะไรให้กับประกันสังคมเพื่อเบิกจ่าย
กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยที่ผ่านมามีกรณีใหญ่คือโควิด-19 ตามที่ระบุไว้ในราชกิจจานุเบกษา กฎหมายกระทรวง การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ได้ให้นิยามเหตุสุดวิสัยไว้ว่า หมายถึง เหตุไฟไหม้ พายุเข้า น้ำท่วม แผ่นดินไหว และภัยธรรมชาติอื่น ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนเป็นจำนวนมาก และทำให้ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้ หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้
การเบิกค่าชดเชยรายได้กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจะต้องใช้เอกสารที่ชื่อว่า หนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ซึ่งออกโดยนายจ้าง
คนว่างงานนอกจากรับเงินชดเชยจากประกันสังคมแล้ว มีตัวช่วยอื่น ๆ อะไรบ้าง
หลังจากขึ้นทะเบียนว่างงานแล้ว คุณสามารถเข้ารับบริการจัดหางาน การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะในการประกอบอาซีพเพิ่มเติมได้
บริการจัดหางานและให้คำปรึกษา โดยกรมการจัดหางานสามารถเข้าใช้บริการได้ที่ เว็บไซต์ https://www.doe.go.th/prd/main ให้บริการจัดหางานออนไลน์ และแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” https://xn--72c5abh2bf8icw0m9d.doe.go.th/ ที่รวบรวมตำแหน่งงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน และตำแหน่งงานจากบริษัทจัดหางานชั้นนำไว้หลายตำแหน่ง
นอกจากนี้ ผู้เข้าใช้งานยังสามารถรับคำปรึกษาด้านอาชีพ แนะแนวอาชีพ เข้าร่วมงานนัดพบแรงงานที่จัดขึ้นเป็นประจำ รวมถึงทดสอบความถนัดและความพร้อมในการทำงาน
การฝึกอบรมฝีมือแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดฝึกอบรมทักษะอาชีพฟรี มีการฝึกอบรมตั้งแต่ระดับการฝึกเตรียมเข้าทำงาน สำหรับผู้ว่างงานที่ไม่มีทักษะ การฝึกยกระดับฝีมือ สำหรับผู้มีงานทำที่ต้องการพัฒนาทักษะ และการฝึกเปลี่ยนสาขาอาชีพ สำหรับผู้ต้องการเปลี่ยนสายงาน มีหลักสูตรช่างเฉพาะทาง เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อม ช่างยนต์ หลักสูตรอาชีพอิสระ เช่น อาหาร ขนม งานฝีมือ รวมถึงการฝึกอบรมภาษาต่างประเทศ
ผู้เข้าอบรมจะได้รับวุฒิบัตรรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ผู้ว่างงานที่เข้าอบรมบางหลักสูตรจะได้รับเบี้ยเลี้ยงอีกด้วย สามารถติดตามรายละเอียดและกำหนดการรับสมัครอบรมได้ที่เว็บไซต์ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน www.dsd.go.th หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 สายด่วนกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 1506 กด 4
ระบบ CARE ปฏิรูป "บำนาญประกันสังคม" ความเป็นธรรมใหม่ของเงินบำนาญประกันสังคม
คณะกรรมการประกันสังคมมีมติเอกฉันท์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568 ให้ปรับสูตรคำนวณบำนาญชราภาพใหม่สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 เป็นแบบ CARE (Career-Average Revalued Earnings) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2569 พร้อมกับการปรับเพดานค่าจ้างใหม่เป็น 17,500 บาท การปรับเปลี่ยนครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมของสูตรคำนวณประกันสังคมแบบเดิมและสร้างความยั่งยืนให้กับระบบบำนาญประกันสังคมในระยะยาว
หลักการสำคัญของสูตร CARE ประกันสังคม
1. เฉลี่ยตลอดการทำงาน
สูตร CARE ประกันสังคมจะนำค่าจ้างทุกเดือนที่ผู้ประกันตนเคยส่งเงินสมทบมาคำนวณ ตั้งแต่เริ่มทำงานจนถึงเกษียณอายุ
แตกต่างจากสูตรเดิมของประกันสังคมที่คำนวณจากค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (5 ปี) ก่อนเกษียณเท่านั้น
วิธีนี้จะช่วยแก้ปัญหาผู้ประกันตนประกันสังคมที่เปลี่ยนจากมาตรา 33 (เพดาน 15,000 บาท) ไปเป็นมาตรา 39 (เพดาน 4,800 บาท) ในช่วงท้ายของชีวิตการทำงาน
2. ปรับค่าเงินให้เป็นปัจจุบัน
ค่าจ้างในอดีตจะถูกปรับ (Index) ให้เป็นค่าเงินปัจจุบันก่อนนำมาคำนวณบำนาญประกันสังคม
การปรับค่าเงินย้อนหลังแบบพิเศษจะมีข้อกำหนดดังนี้:
- ค่าจ้างมาตรา 33 ในอดีตจะถูกปรับได้ไม่เกิน 15,000 บาทสำหรับช่วงก่อนปรับเพดานประกันสังคม
- หลังปรับเพดานเป็น 17,500 บาท สามารถปรับค่าจ้างย้อนหลังเกิน 15,000 บาทได้
- ฐาน 4,800 บาทของมาตรา 39 จะปรับเพิ่มได้เมื่อมีการปรับฐานประกันสังคมในอนาคต
3. เน้นหลัก "ส่งมากได้มาก"
ระบบประกันสังคมจะให้ความสำคัญกับประวัติการส่งเงินสมทบตลอดอายุการทำงาน
ผู้ที่ส่งเงินสมทบประกันสังคมในอัตราสูงเป็นเวลานานจะได้รับเงินบำนาญมากขึ้น
ผู้ที่ส่งเงินสมทบประกันสังคมน้อยจะได้รับตามสัดส่วนที่เหมาะสม
ป้องกันการเอาเปรียบระบบประกันสังคมโดยการส่งเงินสมทบสูงเฉพาะช่วง 5 ปีสุดท้ายก่อนเกษียณ
4. นับเศษเดือน
สูตรใหม่ประกันสังคมจะนับเศษเดือนในการคำนวณอัตราบำนาญด้วย
ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบประกันสังคมมา 25 ปี 6 เดือน จะได้อัตราบำนาญ 35.75% แทนที่จะเป็น 35% ตามสูตรเดิม
ความแตกต่างและประโยชน์เมื่อเทียบกับสูตรเดิมของประกันสังคม
สูตรเดิมของประกันสังคม
อัตราบำนาญ = 20% + (1.5% × จำนวนปีที่เกิน 15 ปี)
คูณกับค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
ไม่นับเศษเดือน
ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ที่เปลี่ยนจากมาตรา 33 ไปมาตรา 39 ของประกันสังคม
สูตร CARE ประกันสังคม
ยังคงใช้ฐานการคำนวณอัตราบำนาญเดิม แต่นับรวมเศษเดือนด้วย
คูณกับค่าจ้างเฉลี่ยตลอดชีวิตการทำงานที่ปรับเป็นค่าเงินปัจจุบัน
แก้ไขความไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะกับผู้ประกันตนประกันสังคมที่เปลี่ยนสถานะระหว่างมาตรา 33 และมาตรา 39
ผู้ประกันตน ม.33 เกษียณแล้วควรต่อเงินต่อเข้าม.39 ต่อประกันสังคมหรือไม่ ? มีข้อควรพิจารณาอะไรบ้าง ?
เมื่อผู้ประกันตนมีอายุ 55 ปี จะสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน คล้ายกับการเกษียณอายุ ผู้ประกันตนจะมีสิทธิ์ได้รับเงินชราภาพในรูปแบบของเงินก้อนหรือเงินรายเดือน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ดังนี้
- จ่ายเงินสมบทน้อยกว่า 12 เดือน (ไม่เกิน 1 ปี) จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับเงินสมบทเฉพาะส่วนของผู้ประกันตน
- จ่ายเงินสมบท 12-179 เดือน (ตั้งแต่ 1 - 14 ปี 11 เดือน) จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ เท่ากับเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่าย รวมกับเงินสมบทจากนายจ้าง และผลประโยชน์ตอบแทนจากประกันสังคม (แต่ละปีจะแตกต่างกันไปมาจากกำไรเงินปันผลที่ประกันสังคมนำไปลงทุน อยู่ที่ 3 – 4 % ของเงินสมทบรวมทั้งหมด)
- จ่ายเงินสมบท 180 เดือนขึ้นไป (15 ปีขึ้นไป) จะมีสิทธิ์เลือกรับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน ได้อัตรา 20 % ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (แต่ฐานเงินเดือนสูงสุดของผู้ประกันตนมาตรา 33 ไม่เกิน 15,000 บาท ขณะที่ของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ไม่เกิน 4,800 บาท) และได้เงินเพิ่มอีก 1.5 % ต่อระยะเวลาที่ส่งเงินสมบททุก 12 เดือน เช่น ส่งมา 16 ปี จะได้เงินเพิ่มอีก 1.5 % ส่งมา 17 ปี ก็ได้เงินเพิ่มอีก 3 % นั่นเอง
ตัวอย่างเงินบำนาญชราภาพที่จะได้รับเมื่อเกษียณอายุ คำนวณจากระยะเวลาที่ส่งเงินและฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท
ส่งเงินสมบทระยะเวลา 15 ปี ได้รับ 20 % ของเงินเดือน 15,000 บาท จะได้เดือนละ 3,000 บาท
ส่งเงินสมบทระยะเวลา 16 ปี ได้รับ 20 % ของเงินเดือน 15,000 บาท ได้รับเพิ่มอีก 1.5% จะได้เดือนละ 3,225 บาท
ส่งเงินสมบทระยะเวลา 17 ปี ได้รับ 20 % ของเงินเดือน 15,000 บาท ได้รับเพิ่มอีก 3 % จะได้เดือนละ 3,450 บาท
ส่งเงินสมบทระยะเวลา 18 ปี ได้รับ 20 % ของเงินเดือน 15,000 บาท ได้รับเพิ่มอีก 4.5 % จะได้เดือนละ 3,675 บาท
สูตรการคำนวณเงินบำนาญชราภาพผู้ประตนมาตรา 33 กรณีจ่ายเกิน 180 เดือน คือ [(20 + (1.5 x จำนวนปีส่วนเกิน 15 ปีหรือ 180 เดือน)) x อัตราค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย(สูงสุด 15,000)] / 100
ข้อควรพิจารณาสำคัญสำหรับคนเกษียณอายุผู้ประกันตนกับเงินบำนาญชราภาพของประกันสังคม
เมื่อเกษียณอายุแล้วจะส่งประกันสังคมต่อเข้ามาตรา 39 หรือไม่ ? ในส่วนประเด็นเงินบำนาญนั้น การเลือกเข้ามาตรา 39 และส่งเงินต่อจะทำให้ยังได้สิทธิ์รักษาพยาบาลและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ของประกันสังคมต่อ แต่จะส่งผลต่อเงินบำนาญเพราะจะถูกคิดในฐานเงินเดือนตามมาตรา 39 ที่ไม่เกิน 4,800 บาท เทียบกันแล้วจะทำให้เงินบำนาญได้น้อยลงกว่ามาก
ตัวอย่างเช่น กรณีผู้ประกันตนเดิมอยู่มาตรา 33 ส่งประกันสังคมมา 15 ปี จะได้รับบำนาญ 20 % ของฐานเงินเดือน 15,000 จึงได้เงินบำนาญเดือนละ 3,000 บาท แต่หากเกษียณอายุแล้วเข้ามาตรา 39 จะได้รับบำนาญ 20 % ของฐานเงินเดือน 4,800 บาทแทน นั่นคือได้เงินบำนาญเดือนละ 960 บาท เท่านั้น ซึ่งต่างกันมากกว่า 3 เท่า และมากกว่านั้นตามระยะที่คุณส่งประกันสังคม
คนที่กำลังจะเกษียณควรพิจารณาถึงผลได้ผลเสียในประเด็นเงินบำนาญของประกันสังคมมาตรา 33 กับ 39 ร่วมกับสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลให้ดีเพื่อเลือกทางเลือกที่เหมาะกับตัวเองที่สุด โดยผู้ที่ไม่ส่งประกันสังคมมาตรา 39 ต่อ ก็จะได้รับสิทธิรักษาพยาบาลในสิทธิบัตรทองโดยอัตโนมัติไม่ต้องไปดำเนินการใดใด
อย่างไรก็ตาม ประเด็นเบี้ยชราภาพที่เรียกกันว่า “บำนาญ” ประกันสังคมนั้น ถึงตอนนี้มีการผลัดดันจากหลายฝ่ายเพื่อให้เกิดสูตรคำนาณที่เป็นธรรมกับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ส่งต่อในมาตรา 39 มากขึ้น โดยบอร์ดประกันสังคมมีมติเอกฉันท์ให้ปรับสูตรคำนาณใหม่แล้ว โดยมีหลักการคือเฉลี่ยอายุงานและปรับฐานเงินเดือน คาดการณ์กันว่าจะมีผลในช่วงเดือน มกราคม 2569
สามารถติดตามสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคมได้ที่ สายด่วนประกันสังคม 1506
อ้างอิง
- สำนักงานประกันสังคม
- กฎกระทรวง การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. ๒๕๖๐
- พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓
- กรมจัดหางาน
- กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน