“แรงงาน” แจกคอร์สเรียนฟรี “AI Skills Navigator” พัฒนาร่วม “ไมโครซอฟท์” Upskill & Reskill แรงงานไทย เรียนรู้ AI ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานไปจนถึงระดับนักพัฒนา เช่น Generative AI , Power BI , Prompt Engineering เรียนจบได้ใบรับรอง ต่อยอดการทำงาน
ในยุคเทคโนโลยี AI ใครใช้ไม่เป็น ก็มีโอกาสถูกดิสรับ เพราะทุกก้าวของชีวิตวันนี้ ขับเคลื่อนไปด้วย AI ทำให้รัฐบาลเร่งติดอาวุธคนไทย เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่ยุค AI First ผ่านโครงการ “THAI Academy ” ที่ร่วมมือกับไมโครซอฟต์ ผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลก ในการจัดอบรมยกระดับทักษะ AI ให้คนไทย ผ่านหน่วยงานต่าง ๆ โดยตั้งเป้ามากกว่า 1 ล้านคนภายในปี 2568
ขณะที่ ภาคส่วนของแรงงานเองก็เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หากแรงงานไทยขาดทักษะทางด้าน AI ก็คงไม่อาจทัดเทียมนานาประเทศได้เช่นกัน ทำให้ “อาวุธแรก” ในภาคแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จัดหลักสูตรฝึกอบรมทักษะ AI ที่ทันสมัยและตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ให้แก่แรงงานและผู้ที่กำลังมองหางานทั่วประเทศ จำนวน 100,000 ราย ผ่านศูนย์ฝึกอบรมของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศจำนวน 77 แห่ง ด้วยหลักสูตรการเรียนการสอนที่เป็นภาษาไทยโดยผู้เชี่ยวชาญจากไมโครซอฟท์ และพันธมิตร เพื่อเสริมศักยภาพให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบุคลากรไทย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

แจกคอร์สเรียนฟรี! AI Skills Navigator เสริมทักษะการใช้ AI
AI Skills Navigator เป็นแพลตฟอร์มที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้บุคคลทั่วไปและบุคลากรในภาคธุรกิจได้พัฒนาทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับ AI จากไมโครซอฟท์ และพันธมิตร โดยรวบรวมเนื้อหาการเรียนรู้และหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับ AI ไว้ มากกว่า 200 รายการ และครอบคลุมหลายระดับ ตั้งแต่หลักสูตรขั้นพื้นฐานสำหรับมือใหม่ ไปจนถึงหลักสูตรเฉพาะทางสำหรับสายอาชีพและตำแหน่งงานเฉพาะทาง เช่น บุคลากรครู ผู้บริหาร หรือนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน ซึ่งเนื้อหาเหล่านี้มีให้บริการเป็น “ภาษาไทย” ด้วย เช่น
- หลักสูตรพื้นฐานด้าน AI (AI Basics) สำหรับผู้เริ่มต้นที่ต้องการทำความเข้าใจแนวคิดพื้นฐานของ AI
- หลักสูตรทักษะ AI สำหรับทุกคน (AI Skills for Everyone) เน้นการใช้งานเครื่องมือ AI ของไมโครซอฟท์ในชีวิตประจำวันและการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
- Generative AI การเรียนรู้เกี่ยวกับ AI สร้างสรรค์และการประยุกต์ใช้
- Azure AI หลักสูตรที่เน้นการพัฒนาโซลูชัน AI บนแพลตฟอร์มคลาวด์ Azure ของไมโครซอฟท์ (สำหรับนักพัฒนา)
- Power BI for Beginners หลักสูตร Power BI สำหรับนักวิเคราะห์ข้อมูล สอนหลักการพื้นฐานของการวิเคราะห์ข้อมูล พร้อมทำ Visualization นำเสนอข้อมูล
- Prompt Engineering with GitHub Copilot หลักสูตร GitHub Copilot สำหรับนักพัฒนา สอนหลักการพื้นฐานของ Prompt Engineering พร้อมการใช้งาน AI ที่จะมาช่วยคาดเดาและแนะนำโค้ด เหมือนมี Pair Programmer มานั่งข้าง ๆ
- การประยุกต์ใช้ AI ในภาคธุรกิจ หลักสูตรสำหรับผู้บริหารและผู้ประกอบการที่ต้องการนำ AI ไปใช้ในธุรกิจ
- หลักสูตรเฉพาะทางอื่น ๆ เช่น การใช้ Copilot ในแอปพลิเคชันต่าง ๆ, AI กับความปลอดภัยทางไซเบอร์ และอื่น ๆ

หลังจากอบรมครบตามชั่วโมงในแต่ละคอร์สที่กำหนดครบแล้ว ผู้เข้าเรียนจะได้รับใบ Certificate รับรองจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและไมโครซอฟท์ว่าผ่านการอบรมทักษะในด้านต่าง ๆ โดยสามารถนำไปใช้เป็นใบเบิกทางประกอบในการสมัครงานที่เกี่ยวข้องได้ด้วย
ปัจจุบันมีผู้เข้ารับการอบรมผ่าน AI Skills Navigator แล้วทั้งสิ้น 40,521 คน เรียนจบและได้รับวุฒิบัตร 16,476 คน ประกอบด้วยแรงงานและประชาชนที่เข้ารับการฝึกอบรมจากวิทยากรสถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศใน 77 จังหวัด ซึ่งได้รับการถ่ายทอดความรู้จากไมโครซอฟท์ และผู้ที่เข้าอบรมด้วยตนเองผ่านทาง DSD Online Training
ใครที่ต้องการเสริมทักษะของตนเอง สามารถศึกษาและเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านช่องทางออนไลน์ ที่ https://aiskillsnavigator.microsoft.com/th-th เรียนฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย

10 หลักสูตรยอดนิยมที่คนไทยเข้ามาฝึกอบรมมากที่สุด!
นอกจากหลักสูตรเสริมทักษะ AI แล้ว กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ยังสร้างโอกาส Upskill Reskill ผ่านการเรียนรู้ที่หลากหลายผ่านช่องทางออนไลน์ DSD Online Training (https://onlinetraining.dsd.go.th/) ด้วย ได้แก่ หมวดงานช่างและการซ่อมบำรุง, หมวดอาชีพอิสระและงานบริการ, หมวดภาษาต่างประเทศและ Soft Skill, และหมวดโปรแกรมคอมพิวเตอร์และทักษะดิจิทัล โดยพบว่าสถิติหลักสูตรที่ได้รับการตอบรับจากแรงงานในการเข้ามาฝึกอบรมมากที่สุด ปีงบประมาณ 2568 ข้อมูล ณ วันที่ 25 เม.ย. 68 ดังนี้
อันดับ 1 - ผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องดื่ม 30 ชั่วโมง
อันดับ 2 - การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบกิจการ 6 ชั่วโมง
อันดับ 3 - การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยการแปรรูป 30 ชั่วโมง
อันดับ 4 - ภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยวและบริการ 30 ชั่วโมง
อันดับ 5 - ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ 1 30 ชั่วโมง
อันดับ 6 - การตัดเย็บเสื้อผ้า 30 ชั่วโมง
อันดับ 7 - ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อวารสำหรับพนักงานโรงแรม 30 ชั่วโมง
อันดับ 8 - การติดตั้งและบำรุงรักษาระบบเซลล์แสงอาทิตย์ 30 ชั่วโมง
อันดับ 9 - บาริสต้ามืออาชีพ 30 ชั่วโมง
อันดับ 10 - การทำเบเกอรี่ฟิวชั่น 30 ชั่วโมง
นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า หลักสูตรต่าง ๆ ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานบางหลักสูตร มีสถานประกอบการรอรับเข้าทำงานทันทีหลังฝึกอบรมจบ เช่น ด้านยานยนต์ ไฟฟ้า นวด รวมไปถึงอาชีพ "ช่างเชื่อมใต้น้ำ" ที่กำลังเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก
ขณะที่ในอนาคตเตรียมเปิดให้ผู้ฝึกอบรมขึ้นทะเบียน เพื่อให้นายจ้างสามารถเข้ามาเลือกแรงงานที่ตรงตามความต้องการไปทำงานในสถานประกอบการของตนเองได้ด้วย ทำให้แรงงานที่เข้ามาฝึกอบรมทักษะได้มีโอกาสมีงานทำเพิ่มขึ้น

สิทธิประโยชน์ “นายจ้าง” ส่ง “ลูกจ้าง” Upskill & Reskill
นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ตาม พรบ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นนายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้ฝึกอบรมฝีมือแรงงานเพิ่มเติมในสาขาอาชีพที่ลูกจ้างปฏิบัติงานอยู่ตามปกติ เพื่อให้ลูกจ้างได้มีความรู้ความสามารถและทักษะในสาขาอาชีพนั้นสูงขึ้น
ทั้งนี้ ตามกฎหมายระบุว่า ผู้ประกอบการที่มีจำนวนลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ต้องจัดอบรมเพิ่มทักษะให้กับลูกจ้างที่ปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมไปลดหย่อนภาษีได้ถึง 200%

1. ยกเว้นเงินสมทบกองทุน
กรณีที่ผู้ประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นขึ้นไป ที่อยู่ในข่ายบังคับเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดให้มีการฝึกอบรมฝีมือแรงงานให้แก่ลูกจ้างของตนเอง หรือมีลูกจ้างเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงานแห่งชาติและผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน หรือมีลูกจ้างผู้ผ่านการรับรองความรู้ความสามารถ อย่างหนึ่งอย่างใด หรือรวมกันในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดในแต่ละปีปฏิทิน
ผู้ประกอบกิจการไม่ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานในปีนั้น แต่หากสถานประกอบกิจการพัฒนาทักษะให้ลูกจ้างไม่ครบตามสัดส่วนที่กำหนด ผู้ประกอบการจะต้องนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยจะต้องส่งเงินสมทบ (หรือเรียกอีกอย่างว่า สท.2) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป
นอกจากนี้ หากผู้ประกอบกิจการจัดให้มีการฝึกอบรมลูกจ้าง หรือมีลูกจ้างผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ/ผ่านการรับรองความรู้ความสามารถ รวมกันไม่น้อยกว่า 50% ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดในปีนั้น จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนในปีดังกล่าว
ส่วนกรณีที่พัฒนาทักษะไม่ถึง 50% นายจ้างจะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน (แบบ สท.2) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป คำนวณตามจำนวนลูกจ้างที่ยังไม่ครบตามสัดส่วน 50% โดยมีฐานคำนวณขึ้นอยู่กับค่าแรงขั้นต่ำในปีนั้น

2. สิทธิได้รับเงินช่วยเหลือ/อุดหนุน
หากนายจ้างพัฒนาทักษะลูกจ้าง เกินกว่า 70% ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด ส่วนที่เกิน 70% นายจ้างมีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือและอุดหนุน 200 บาทต่อลูกจ้างหนึ่งคน โดยดำเนินการยื่นขอเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้
ตัวอย่างเช่น หากสถานประกอบกิจการมีลูกจ้างเฉลี่ย 200 คน และฝึกอบรม จำนวน 160 คน ดังนั้น 70% = 140 คน คนที่ 141-160 คน จำนวน 20 คน จะได้รับคนละ 200 บาท เท่ากับ 4,000 บาท ซึ่งเงินอุดหนุนส่วนนี้จะช่วยผู้ประกอบการในการดำเนินการจัดฝึกอบรม เช่น ค่าวิทยากร ค่าอาหาร และอื่น ๆ

3. ลดหย่อนได้ 200%
สถานประกอบการจะต้องยื่นภาษี ภ.ง.ด 50 ซึ่งคิดจากรายได้ - รายจ่ายปกติ ซึ่งสัมพันธ์กับรายได้ ลดหย่อนภาษีกับสรรพากร ได้ 100% (คิดภาษีปกติ) และหากสถานประกอบการยื่นหลักสูตรในการฝึกอบรม และทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงานรับรองหลักสูตรให้ ทางสถานประกอบกิจการก็จะสามารถนำค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการฝึกอบรมลูกจ้างตรงนี้ ไปรวมเป็นรายจ่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นได้อีก 100% รวมเป็น 200%
สำหรับใครที่สนใจอยากจะ Upskill & Reskill ทั้งผู้ประกอบการและแรงงาน สามารถเข้าไปเลือกคอร์สที่สนใจได้ผ่าน https://onlinetraining.dsd.go.th/ เรียนออนไลน์ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย.
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech