ยานอวกาศลูซี (Lucy) ได้ส่งภาพดาวเคราะห์น้อยโดนัลด์โจแฮนสัน (Donaldjohanson) กลับมายังโลกแล้ว พบว่าดาวเคราะห์ดวงนี้ใหญ่กว่าที่คาด และมีรูปร่างแปลกประหลาดที่บอกเล่าสภาพอดีตของระบบสุริยะได้เป็นอย่างดี
ยานอวกาศลูซีมีแผนเดินทางไปสำรวจกลุ่มดาวเคราะห์น้อยโทรจันของดาวพฤหัสบดี (Trojan Asteroids) ด้วยระยะที่ห่างไกลถึงแนววงโคจรของดาวพฤหัสบดีทำให้เส้นทางการเดินทางของลูซีต้องบินผ่านดาวเคราะห์และเทหวัตถุหลายดวง นักวิทยาศาสตร์จึงได้ใช้เทหวัตถุที่บินผ่านเป็นเป้าหมายของการทดสอบและฝึกซ้อมระบบต่าง ๆ ของยานอวกาศลูซีและทีมงานไปในตัว ซึ่งมีสองจุดแวะสำรวจคือ 152830 Dinkinesh (ดิงคิเนช) ที่บินโฉบผ่านไปเมื่อ พฤศจิกายน 2023 และ 52246 Donaldjohanson (โดนัลด์โจแฮนสัน) ที่เพิ่งบินโฉบผ่านไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ในช่วงระยะใกล้กับโดนัลด์โจแฮนสันนักวิทยาศาสตร์จากโครงการลูซีได้ตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับรูปร่างของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ว่าอาจจะมีรูปร่างที่รียาว เนื่องจากการสังเกตการณ์ระยะไกลพบการเปลี่ยนแปลงของค่าความสว่างที่บ่งชี้ว่ารูปทรงไม่สมมาตร
เมื่อยานลูซีเดินทางเข้ามาในระยะที่กำหนดไว้ที่ 360 กิโลเมตร ตัวยานได้ถ่ายภาพโดนัลด์โจแฮนสันกลับมาได้หลายชุด ซึ่งจากข้อมูลภาพถ่ายพบว่าตัวดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ยาวกว่าที่คิดไว้ จนขอบเขตของดาวเคราะห์น้อยยาวเกินเฟรมออกไป คล้ายว่ามันถือกำเนิดมาจากดาวเคราะห์น้อยสองดวงมาชนกันอย่างนุ่มนวลราวกับกำลังแค่แตะมือกันกลางอวกาศเวิ้งว้างโดยมีคอดตรงกลางเชื่อมไว้
รูปร่างที่คล้ายกับเกิดจากสองวัตถุมาเชื่อมติดกันนี่เคยถูกค้นพบกับเทหวัตถุในระบบสุริยะของเรามาแล้วในก่อนหน้านี้ทั้ง ดาวหาง 67พี/ชูร์ยูมอฟ-เกราซิเมนโก (67P/Churyumov–Gerasimenko) ที่เราพบว่ามีลักษณะคล้ายกับเป็ดยางที่มีส่วนหัวติดกับส่วนตัวโดยมีคอคอดระหว่างกัน เช่นเดียวกันกับอาร์โรคอท (Arrokoth) วัตถุในแถบไคเปอร์ที่ยานนิวฮอไรซันส์ (New Horizons) ได้เดินทางไปสำรวจพบ ซึ่งแสดงว่าช่วงเวลาในการก่อกำเนิดของเทหวัตถุในระบบสุริยะของเราในอดีตเป็นการก่อกำเนิดที่วุ่นวายมาก แต่ก็มีการชนกันที่เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนสร้างเป็นวัตถุรูปร่างแปลก ๆ เหล่านี้ขึ้นมาได้ ไม่ได้มีแต่การชนที่รุนแรงทำให้ก้อนหินแตกกระจายเป็นเสี่ยง ๆ แบบก้อนเล็กก้อนน้อย
ก่อนหน้านี้เราเชื่อว่าโดนัลด์โจแฮนสันน่าจะเป็นก้อนหินที่เกิดขึ้นมาใหม่ มีอายุเพียง 150 ล้านปี เชื่อว่าเกิดจากการชนของก้อนเทหวัตถุที่ใหญ่กว่าและแตกกระจายกลายเป็นก้อนที่มีขนาดเล็ก และน่าจะเป็นดาวเคราะห์ที่มีต้นกำเนิดมาจากแหล่งเดียวกันกับดาวเคราะห์น้อยเบนนู (Bennu) และริวกิว (Ryugu) อีกด้วย
โดนัลด์โจแฮนสันเปรียบเสมือนเป้าซ้อมใหญ่ก่อนการเดินทางไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยโทรจันของยานอวกาศลูซี แม้จะเป็นเพียงเป้าซ้อมของภารกิจหลัก แต่มันก็ให้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบสุริยะของเราในอดีตได้เป็นอย่างดี อีกไม่นานข้อมูลต่าง ๆ ที่เก็บได้จากการสำรวจโดนัลด์โจแฮนสันจะถูกส่งกลับมาเรื่อย ๆ ซึ่งจะเผยให้เห็นถึงโครงสร้างและองค์ประกอบของมันว่าแท้จริงแล้ว ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีต้นกำเนิดใกล้เคียงกับเบนนูและริวกิวจริงไหม แล้วรอยเชื่อมกลางดาวนั้นคืออะไรกันแน่ ซึ่งนับว่าเป็นการซ้อมใหญ่ที่น่าสนใจไม่น้อย
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech